xs
xsm
sm
md
lg

Money Tips : ภาพรวมเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ Money Tips
โดยกลุ่มจัดการกองทุนบัวหลวง

เศรษฐกิจต่างประเทศ

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวด้วยอัตราที่ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยดัชนีภาคการผลิต (ISM Manufacturing) เดือน พ.ค. 57 เพิ่มขึ้นเป็น 55.4 จุด จาก 54.9 จุดในเดือนก่อนหน้า ด้วยแรงหนุนจากดัชนีย่อยด้านการผลิตปรับตัวดีขึ้นมาก และดัชนียอดคำสั่งซื้อใหม่ที่ยังขยายตัวได้ดี ทางด้านดัชนีธุรกิจภาคบริการ (ISM non-manufacturing) เพิ่มขึ้นเป็น 56.3 จุด จาก 55.2 จุด เป็นผลของยอดคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Non-farm payrolls) ในเดือน พ.ค.อยู่ที่ 217,000 ตำแหน่ง แม้จะชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า แต่ยังใกล้เคียงกับที่ตลาดคาด และเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันที่การจ้างงานสูงกว่าระดับ 200,000 ตำแหน่งต่อเดือน และอัตราว่างงานทรงตัวจากเดือนก่อนที่ระดับ 6.3% แสดงถึงตลาดแรงงานในสหรัฐฯ ยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง

การประชุมวันที่ 18 มิ.ย. 57 ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ปรับลด QE ลงอีก 1 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน อยู่ที่ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน และมีแนวโน้มที่จะยังเดินหน้าปรับลดวงเงิน QE จนจบโครงการภายในปีนี้ และได้ระบุว่า แม้การขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะดีขึ้น แต่ยังไม่ฟื้นตัวมากพอในระดับที่จะมั่นใจได้ว่าการฟื้นตัวจะมีความยั่งยืน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย เท่ากับว่าเฟดจะยังไม่เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ เฟดได้คาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้ที่ระดับ 2.1-2.3% นอกจากนี้ เฟดได้ปรับลดประมาณการอัตราดอกเบี้ยระยะยาวลงจาก 4% เหลือ 3.75% สะท้อนมุมมองต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะยาวที่ลดลง

เศรษฐกิจของประเทศกลุ่มแถบยุโรป การฟื้นตัวของกิจกรรมทางธุรกิจและอัตราว่างงานมีอัตราชะลอลง โดยดัชนี Markit PMI ภาคการผลิตและบริการของกลุ่มยูโรโซน (PMI Composite) ในช่วงปลายเดือน พ.ค.อยู่ที่ 53.5 จุด ลดลงจากเดือน เม.ย.ซึ่งเป็น 54.0 จุด อัตราว่างงานในกลุ่มยูโรโซนของเดือน เม.ย.ลดลงเป็น 11.7% ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี แต่อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 1% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 โดยตัวเลขเงินเฟ้อของเดือน พ.ค.นั้นอยู่ที่ 0.5% เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืด ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ประกาศมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 0.25% เป็น 0.15% และปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (ดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB) ลดลงจาก 0.00% เป็น -0.10% นับเป็นธนาคารกลางที่สำคัญแห่งแรกที่ใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ

นอกจากนี้ยังออกมาตรการ Targeted Long-Term Refinancing Operations (TLTROs) มูลค่าประมาณ 4 แสนล้านยูโร เพื่อกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ให้กับบริษัทเอกชนที่ไม่ใช่ธุรกิจการเงิน ด้วยจุดประสงค์ที่ต้องการให้เม็ดเงินเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจจริง (real sector) ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจได้ดีกว่าที่เงินอัดฉีดจะถูกนำไปลงทุนในตราสารการเงินเหมือนการอัดฉีดในครั้งก่อนๆ โดยจะมีการทยอยอัดฉีดทีละส่วนภายในช่วงระยะเวลา 4 ปี (สิ้นสุดเดือนกันยายน 2561) อย่างไรก็ตาม มาตรการ TLTROs ที่ออกมานี้มีมูลค่าน้อยกว่าที่ตลาดคาด และมีเงื่อนไขที่ปริมาณการอัดฉีดจะขึ้นกับความสามารถในการปล่อยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งที่มาขอกู้เงินจาก ECB ปริมาณเงินที่จะเข้าระบบจริงในอนาคตจึงยังไม่แน่นอน

เศรษฐกิจญี่ปุ่น ฟื้นตัวได้ค่อนข้างเร็วหลังจากที่ชะลอเนื่องจากการขึ้นภาษีการบริโภค (Consumption tax) โดยในธุรกิจภาคการผลิต ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (Nomura/JMMA Manufacturing PMI) ของเดือน มิ.ย.เพิ่มขึ้นเป็น 51.1 จุด จาก 49.9 จุดในเดือน พ.ค. กลับเข้าสู่ภาวะขยายตัวอีกครั้ง และดัชนีคำสั่งซื้อใหม่และดัชนีการผลิตสามารถพลิกเป็นการขยายตัวได้ ด้านธุรกิจภาคบริการยังหดตัว แต่ด้วยอัตราที่ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยดัชนี Markit Services PMI เดือน พ.ค.ฟื้นตัวขึ้นเป็น 49.3 จุด จาก 46.4 จุด การฟื้นตัวได้รวดเร็วของภาวะธุรกิจญี่ปุ่นนั้นเป็นสัญญาณที่ดีว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นน่าจะมีความต่อเนื่องได้ดี นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้มีแผนจะลดอัตราภาษีนิติบุคคลที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกที่เกือบ 36% (สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ในโตเกียว) เพื่อจูงใจการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ

ภาพรวมภาวะเศรษฐกิจไทย

ตัวเลขเศรษฐกิจไทยสำหรับเดือน เม.ย. 57 โดยรวมทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า แต่เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น

- ดัชนีการอุปโภคบริโภคหดตัว 0.8% YoY แต่ปรับเพิ่มขึ้น 0.2% จากเดือนก่อนหน้า ทยอยฟื้นตัวเล็กน้อยได้เป็นเดือนที่สอง

- ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัว 4.7% YoY และ 0.2% MoM จากการชะลอการลงทุนเพื่อรอความชัดเจนทางเศรษฐกิจและการเมือง แต่เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวในภาคการก่อสร้างและยอดขายซีเมนต์ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวขึ้นเป็น 52.2 จาก 50.7 ในเดือนก่อนหน้า สะท้อนว่าผู้ประกอบการเริ่มมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ

- การส่งออกสินค้าโดยรวมฟื้นตัวได้ช้า โดยยังหดตัว 0.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น แต่การส่งออกสินค้าเกษตรได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ตกต่ำและอุปสงค์จากจีนที่ชะลอตัว

- จำนวนนักท่องเที่ยวปรับเพิ่มขึ้นหลังการประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนยังหดตัว 1.7% ซึ่งดีขึ้นจากที่หดตัว 9.4% ในเดือนที่แล้ว

การมีรัฐบาลรักษาการของ คสช.จะส่งผลบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง 2557 จากการดำเนินนโยบายในหลายๆ ด้านของ คสช. เช่น การเร่งจ่ายเงินจำนำข้าว 9.2 หมื่นล้านบาทภายใน มิ.ย. 57 การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น (รถไฟรางคู่ รถไฟฟ้าใน กทม. ปริมณฑล) การเร่งเบิกจ่ายงบปี 2557 และจัดทำงบประมาณปี 2558 การตั้งบอร์ด BOI เพื่ออนุมัติโครงการที่ค้างอยู่เป็นมูลค่ากว่า 700 ล้านบาท ซึ่งความคืบหน้าเหล่านี้จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของประชาชนและภาคธุรกิจให้ฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว และความชัดเจนของแผนการดำเนินนโยบายในด้านต่างๆ

ธปท.คาดว่า GDP ไทยปี 2557 จะขยายตัว 1.5% โดย GDP ในครึ่งปีแรกจะติดลบ 0.5% แต่จะกลับมาขยายตัวได้ 3.4-3.5% ในครึ่งปีหลัง ส่วนในปี 58 ธปท.คาดว่า GDP จะขยายตัวได้ 5.5% ด้วยแรงหนุนจากการลงทุนทั้งภาคเอกชนและรัฐบาลที่คาดจะโต 11.2% และ 9.7% ตามลำดับ รวมทั้งการบริโภคเอกชนคาดขยายตัว 4.7%


กำลังโหลดความคิดเห็น