xs
xsm
sm
md
lg

Money Tips : ความเห็นกองทุนบัวหลวงต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ Money Tips
โดยกลุ่มจัดการกองทุน
บลจ.บัวหลวง

ภาพรวมภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องและดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ทั้งภาคการผลิตและบริการ โดยดัชนีภาคการผลิต (ISM Manufacturing) เดือน เม.ย. 57 เพิ่มขึ้นเป็น 54.9 จุด จาก 53.7 จุดในเดือนก่อนหน้า และดัชนีย่อยด้านการจ้างงานปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ส่วนดัชนีธุรกิจภาคบริการ (ISM non-manufacturing) เพิ่มขึ้นเป็น 55.2 จุด จาก 53.1 จุด และดัชนียอดคำสั่งซื้อใหม่มีการขยายตัวที่ดี การจ้างงานนอกภาคเกษตร (Non-farm payrolls) ในเดือน เม.ย.เพิ่มขึ้นเป็น 288,000 ตำแหน่ง เป็นระดับสูงสุดในรอบมากกว่า 2 ปี และอัตราว่างงานลดต่ำลงเหลือ 6.3%

แม้ว่าข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะออกมาดีต่อเนื่อง แต่นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังประเมินว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงมีความเสี่ยงอยู่ เช่น ตลาดแรงงานที่ยังไม่มีเสถียรภาพเท่าที่ควร เนื่องจากยังมีการว่างงานระยะยาวที่ระดับสูง และการจ้างงานเป็นผู้ทำงานพาร์ตไทม์จำนวนมาก เฟดจึงเห็นถึงความเหมาะสมที่จะยังใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินอย่างมากต่อไป และการเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยยังไม่น่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้

เศรษฐกิจของประเทศกลุ่มแถบยุโรปยังรักษาระดับการฟื้นตัวไว้ได้ โดยดัชนี Markit PMI ภาคการผลิตและบริการของกลุ่มยูโรโซน (PMI Composite) ในเดือน พ.ค.อยู่ที่ 53.9 จุด ทรงตัวจากเดือน เม.ย.ซึ่งเป็น 54.0 จุด และดัชนี PMI ของเกือบทุกประเทศส่งสัญญาณการขยายตัว อัตราว่างงานในกลุ่มยูโรโซนของเดือน มี.ค.ลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 11.8% แสดงถึงอัตราการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนยังค่อนข้างทรงตัว แต่ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จึงส่งสัญญาณที่จะใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม ปัญหาวิกฤตการณ์ในประเทศยูเครนและรัสเซียได้เริ่มคลี่คลายลงแล้วหลังจากเลือกตั้งประธานาธิบดีของยูเครนเมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยนาย Petro Poroshenko เป็นผู้ได้รับเสียงข้างมาก ซึ่งเขามีจุดยืนที่จะเร่งสร้างความสงบภายในประเทศยูเครน จึงคาดว่าหลังจากนี้ปัญหาความไม่สงบในยูเครนที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมานานกว่า 8 เดือนน่าจะค่อยๆ คลี่คลายลงได้ในที่สุด

เศรษฐกิจญี่ปุ่น ชะลอตัวลงมากหลังการขึ้นภาษีการบริโภค (Consumption tax) โดยในธุรกิจภาคการผลิต ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (Nomura/JMMA Manufacturing PMI) ของเดือน เม.ย. ลดลงเหลือ 49.4 จุด จาก 53.9 จุดในเดือน มี.ค. โดยผลผลิตและคำสั่งซื้อใหม่ได้ปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 14 เดือน แต่การจ้างงานในภาคการผลิตยังดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือน มี.ค. ด้านธุรกิจภาคบริการ ดัชนี Markit Services PMI เดือน เม.ย. ลดลงเหลือ 46.4 จุด จาก 52.2 จุดในเดือนก่อนหน้า แต่การคาดการณ์ธุรกิจใน 12 เดือนข้างหน้ายังปรับเพิ่มขึ้นและการจ้างงานภาคบริการยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจทั้งในภาคผลิตและบริการของบริษัทในญี่ปุ่นน่าจะสะท้อนถึงความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจในระยะยาว การชะลอตัวของธุรกิจในเดือน เม.ย.นี้จึงอาจจะเป็นการลดลงเพียงชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งต้องติดตามต่อไป

ภาพรวมภาวะเศรษฐกิจไทย ตัวเลขเศรษฐกิจไทยสำหรับเดือน มี.ค. 2557 ยังคงอ่อนแอ แต่มีสัญญาณฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคประชาชนเพิ่มขึ้น 0.3% ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 0.2% เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/57 ปรับตัวลดลง -0.6% y-y และ -2.1% Q-Q ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 น่าจะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยถูกปัจจัยลบกดดันมากที่สุดจากปัญหาภาวะการเมืองที่ยืดเยื้อต่อเนื่องจากปลายปีที่แล้ว ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยที่ซบเซาอยู่แล้วได้รับผลกระทบมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ประเด็นต่างๆ ได้มีการพัฒนาที่ดีขึ้น เช่น ความคืบหน้าของปัญหาการเมือง การตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น และหลังการทำรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปัญหาต่างๆ น่าจะคลี่คลายไปได้มากขึ้น อย่างน้อยก็ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง การมีรัฐบาลชั่วคราวน่าจะส่งผลบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่ง คสช.ได้ประกาศว่าจะเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจที่อ่อนแอ

โดยมีการเร่งจ่ายเงินค่าจำนำข้าว และเดินหน้าเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐ ซึ่งจะเป็นตัวสร้างความเชื่อมั่นโดยรวมทั้งจากในและต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ยอดเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศจะเริ่มกลับเข้ามา การท่องเที่ยวและการส่งออกก็น่าจะฟื้นตัวขึ้นด้วยเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น