สถานการณ์ความรุนแรงในอิรักอาจผลักให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้น มองโอกาสการลงทุนในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเพื่อกระจายความเสี่ยง
สวัสดีครับ ช่วงนี้เหตุการณ์ความขัดแย้งในประเทศอิรักเริ่มกลับมารุนแรงอีกครั้งหนึ่งแล้ว หลังจากที่กลุ่มต่อต้านรัฐบาล หรือที่เรียกว่า ISIS (The Islamic State in Iraq and Syria) สามารถเข้ายึดโรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของอิรักไว้ได้เรียบร้อยซึ่งเป็นตอนเหนือของเมืองแบกแดดทำให้โรงกลั่นน้ำมันทางตอนเหนือของอิรักต้องปิดอย่างไม่มีกำหนด รวมถึงเมืองโมซุลซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของอิรักและเตรียมเข้าสู่กรุงแบกแดดซึ่งเป็นเมืองหลวงของอิรักอย่างต่อเนื่อง เพื่อล้มล้างรัฐบาลของนายนูริ อัล-มาลิกิ นายกรัฐมนตรีอิรักคนปัจจุบัน และมีเป้าหมายในการผนวกดินแดนทางตอนเหนือของอิรักเข้ากับภาคตะวันตกและภาคกลางบางส่วนของอิรักเข้ากับภาคตะวันออกของซีเรียเพื่อตั้งเป็น “รัฐอิสลามบริสุทธิ์” สำหรับชาวสุหนี่ ขณะที่ล่าสุดสถานการณ์ยังคงมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นหลังทางกลุ่ม ISIS ยังคงเดินหน้าเรียกร้องเสรีภาพและทางสหรัฐอเมริกามีท่าทีว่าอาจนำทหารบางส่วนเข้ามาควบคุมสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งนำมาสู่ความกังวลของนักลงทุนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวอาจบานปลายไปสู่ความรุนแรงระหว่างประเทศที่ยืดเยื้อและผลักดันให้ราคาน้ำมันดิบเบรนต์ปรับตัวแตะระดับสูงกว่า 116 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 56 ที่ผ่านมา ขณะที่ราคาทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยก็ได้ปรับตัวแตะระดับสูงกว่า 1,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังจากที่เคลื่อนไหวในกรอบ 1,250-1,280 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในช่วงที่ผ่านมาเช่นกัน
ในมุมมองของผม ผมมองว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะกระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้น แบ่งเป็น 2 กรณี โดยในแต่ละกรณีมีความเป็นไปได้พอๆ กัน โดยในกรณีแรก สหรัฐอเมริกาตัดสินใจส่งทหารเข้าประจำการในอิรักเพื่อสนับสนุนรัฐบาลอิรักและสามารถเข้าควบคุมสถานการณ์ได้ กรณีนี้จะกดดัน Sentiment การลงทุนในตลาดหุ้นบ้างระหว่างทางไม่มากนัก เนื่องจากราคาน้ำมันจะไม่ปรับตัวขึ้นแพงและไม่กดดันต่อต้นทุนการผลิตของบริษัทต่างๆ ทำให้นักลงทุนบางกลุ่มที่อาจรอดูเหตุการณ์อยู่นอกตลาดจะกลับเข้าสู่การลงทุนในตลาดหุ้นได้ค่อนข้างเร็ว ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นแต่ละแห่งและราคาน้ำมันดิบ ทองคำ ไม่ได้เคลื่อนไหวจากผลกระทบนี้มากนัก
แต่หากเป็นกรณีที่สอง คือ สหรัฐอเมริกาไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ดังกล่าวได้ และมีอิหร่านและซาอุดีอาระเบียเข้าร่วมในฐานะพันธมิตรของกลุ่ม ISIS แล้วนั้น ผลกระทบอาจจะทวีความรุนแรงและยืดเยื้อต่อไป และหากกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอิรัก (ISIS) สามารถเข้ายึดครองโรงกลั่นน้ำมันดิบในทางตอนใต้ของอิรักได้สำเร็จ โดยทางตอนใต้ของอิรักสามารถครองสัดส่วนการส่งออกน้ำมันดิบได้ถึง 90% ของประเทศ ซึ่งจะกดดันให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมากและอาจกดดันให้เกิดภาวะเงินเฟ้อไต่ระดับขึ้นในบางประเทศจากราคานำเข้าน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้นตาม และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องให้ธนาคารกลางบางประเทศต้องตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อชะลอการปรับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อดังกล่าว ซึ่งก็จะลดทอนการปรับขึ้นของดัชนีหุ้นในประเทศเหล่านั้นได้ โดยในกรณีนี้ ผมมองว่ากลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นของราคาน้ำมันดิบมากที่สุดจะเป็นทางกลุ่มประเทศเอเชีย เนื่องจากกลุ่มประเทศเอเชีย รวมถึงไทยส่วนใหญ่มักนำเข้าน้ำมันดิบจากทางตะวันออกกลางเป็นหลัก ทำให้ผลกระทบจากการปรับขึ้นของราคาน้ำมันดิบย่อมส่งผลค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่นำเข้าน้ำมันดิบน้อยกว่า ขณะที่สหรัฐอเมริกาและยุโรปจะได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยจากการปรับขึ้นของราคาน้ำมัน เนื่องจากสหรัฐอเมริกาสามารถบริโภคน้ำมันและมีโรงกลั่นน้ำมันภายในประเทศเป็นของตนเอง จึงไม่จำเป็นต้องนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลาง ขณะที่ยุโรปส่วนใหญ่มักใช้ก๊าซที่นำเข้ามาจากทางรัสเซีย ทำให้ไม่ต้องพึ่งพิงน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางเช่นเดียวกัน ทำให้โอกาสการขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาและยุโรปจะค่อนข้างจำกัดจากเหตุการณ์นี้และลดทอนโอกาสที่จะผลักดันให้ธนาคารกลางของทั้งสหรัฐอเมริกาและยูโรโซนปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
สำหรับนักลงทุนท่านใดที่สนใจในทองคำและน้ำมัน แนะนำว่าอาจลงทุนในลักษณะแบบ Trading โดยลงทุนตอนที่ราคาทองคำต่ำกว่า 1,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่น้ำมัน แนะนำว่าลงทุนแบบ Trading เช่นกัน และลงทุนเมื่อราคาน้ำมันเคลื่อนไหวประมาณ 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยมองว่าราคาน้ำมันดิบ WTI ในระยะสั้นน่าจะปรับตัวแตะระดับ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งควรใช้ความระมัดระวังและยังต้องติดตามสถานการณ์กันต่อไปครับ
ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
Dr.win@one-asset.com