คอลัมน์บัวหลวง Money Tips
โดยสุธีร์ คันธารวงสกุล
รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกำกับการปฏิบัติงาน
ทุกคนจะมีช่วงเวลาที่ย้อนกลับไปคราวใดก็อดไม่ได้ที่จะเกิดรอยยิ้มมุมปากทุกครั้ง และเช่นเดียวกันก็ยังมีตะกอนของความคิดที่ว่าเราเองยังมีบางสิ่งที่อยากทำแล้วไม่ได้ทำในวัยหนุ่มสาว เพราะเราเพียรแต่จะสร้างฐานะความมั่นคงให้ชีวิต โดยยอมเก็บสิ่งที่ตนเองอยากทำไว้ในลิ้นชักก่อน แต่ยิ่งเราหาเงินได้มากเท่าไร ทำไมกลับไม่รู้สึกพอเสียที เรากลัวว่าจะมีเงินไม่พอใช้ไปได้ตลอด กลัวว่าลูกหลานจะลำบาก จนลืมเปิดลิ้นชักที่ปิดไว้
ถึงตอนนี้ถ้าเรามีความมั่นใจว่าจะมีเงินพอใช้ไปชั่วชีวิต เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเก็บสิ่งที่อยากทำไว้ในลิ้นชักต่อไป ยิ่งไปกว่านั้นบางทีเราอาจจะได้เปิดลิ้นชักตรวจดูสิ่งที่หล่นหายไปในระหว่างทางของชีวิตแล้วหยิบขึ้นมาทำ รอยยิ้มที่เกิดขึ้นบนใบหน้าเราจะไม่เป็นรอยยิ้มที่คิดถึงแต่ในอดีตอย่างเดียว จะเป็นรอยยิ้มที่เราใช้ชีวิตในปัจจุบันด้วย เอาล่ะครับ เรามาเริ่มคิดพร้อมกันเลยนะครับว่าจะทำอย่างไรให้มั่นใจว่าจะมีเงินพอใช้เช่นว่านั้น
ด้วยเหตุผลง่ายๆ ที่ว่า ณ จุดใดจุดหนึ่งของชีวิตที่เราสามารถมีรายได้จำนวนหนึ่งซึ่งมีจำนวนมากพอที่จะเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เก็บเผื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินบ้าง และยังมีเหลือพอที่จะใช้ชีวิตตามความฝันอันพอสมควรของเรา เราก็จะสามารถใช้ชีวิตตามความคิดตามใจที่อยากเป็นได้
หากเราอยากจะเล่นดนตรี เรียนศิลปะ ทำอาหาร ไปเที่ยวต่างประเทศ ก็สามารถทำได้ ชีวิตก็จะไม่ยึดติดกับการถูกบังคับด้วยกรอบของรายได้ เพราะรายได้ที่กำหนดจำนวนไว้นั้นจะมากจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับค่าใช้จ่ายและฝันของแต่ละท่านว่าจะมากและใหญ่ขนาดไหน เมื่อเรารู้ว่าจะต้องมีรายได้จำนวนเท่าไรแล้วเราก็ต้องวางแผนเพื่อให้มีรายได้ดังกล่าว
ณ ปัจจุบัน เรามีรายได้ มีค่าใช้จ่าย ที่เหลือคือเงินเก็บ หากเรามีเงินเก็บแล้วเงินเก็บนี้สามารถนำไปหาผลประโยชน์สร้างผลตอบแทนได้เท่าจำนวนที่เราต้องการ ทุกอย่างก็จะเป็นไปตามแผนการที่วางไว้ แต่ปัญหาก็คือ ทุกวันนี้ในสถานการณ์จริงมันมีเงินเก็บบ้าง ไม่มีเงินเก็บบ้าง บางทีไม่พอใช้ด้วย แล้วจะทำอย่างไร
อย่าเพิ่งท้อครับ เพราะลูกท้อเขามีไว้ให้ลิงถือเท่านั้น ผมอยากให้สำรวจแบบนี้เลยครับ …
1. สำรวจรายได้ เราควรจะรู้ว่าในแต่ละเดือนมีเงินเข้ามาจากแหล่งไหนบ้าง บางท่านอาจจะมีงานพิเศษ งานอดิเรกที่สร้างรายได้ให้
2. สำรวจค่าใช้จ่าย สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่คนส่วนใหญ่ละเลย ได้มาเท่าไรเราพอจะรู้ แต่ใช้ไปกับสิ่งไหนบ้างเรามักจะไม่รู้ เงินจึงไม่ค่อยเหลือเก็บ วิธีนี้อาจจะทำให้เราสามารถตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นได้อีกด้วย เราควรสนใจกับเรื่องนี้มากๆ
3. เงินเก็บ เงินส่วนนี้เราควรจะต้องสำรองเผื่อค่าใช้จ่ายสักประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้นก็สามารถนำเงินที่เหลือไปลงทุนตามความรู้ของเราเพื่อสร้างผลตอบแทน
เมื่อเราทำวิธีการข้างต้นแล้วไปสักประมาณ 3-4 เดือน เราก็พอจะประมาณการเงินเก็บของเราได้ว่าจะมีในแต่ละเดือนเท่าไร โดยสามารถนำเงินไปลงทุนให้เกิดผลตอบแทนได้
จะเห็นได้ว่า ถ้าเราเริ่มวางแผนทางการเงินเร็วเท่าไรก็ยิ่งจะมีโอกาสถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้ง่าย เพราะมีระยะเวลาในการออมและลงทุนที่ยาว ไม่จำเป็นที่จะต้องได้ผลตอบแทนในอัตราที่มาก
แต่สำหรับท่านที่ใกล้เกษียณและไม่เคยวางแผนดังกล่าวไว้เลยก็ไม่เป็นไรครับ ยังสามารถวางแผนในตอนนี้ได้ทัน เพราะถึงแม้ท่านจะไม่มีรายได้ประจำแล้ว แต่ในส่วนค่าใช้จ่ายของท่านก็น่าจะลดลงมากแล้ว ประกอบกับท่านคงมีเงินเก็บพอสมควรที่สามารถจะแบ่งเงินไปลงทุนได้
ขั้นตอนต่อไปคือ ขั้นตอนของการนำเงินเก็บเงินออมไปลงทุนเพื่อให้เกิดผลตอบแทน
ขั้นตอนนี้ต้องอยู่ที่ความรู้ความสามารถของแต่ท่านครับ บางท่านมีความรู้ในด้านการลงทุนดี รู้ว่าทรัพย์สินอะไรให้ผลตอบแทนดี เช่น บางท่านชำนาญด้านการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ บางท่านชำนาญด้านการลงทุนในหุ้น ผมแนะนำว่าควรลงทุนในทรัพย์สินที่ตนมีความรู้ความชำนาญที่สุด ขออย่าหลงใหลไปลงทุนในทรัพย์สินที่ตนไม่มีความรู้ ถึงแม้จะได้ยินมาว่าการลงทุนนั้นๆ ให้ผลตอบแทนสูงมากก็ตาม แต่หากอยากจะกระจายการลงทุนไปในรูปแบบที่ตนไม่มีความรู้ก็ควรจะต้องศึกษาหาความรู้ก่อน และหากไม่มั่นใจก็ควรจะใช้บริการของ “มืออาชีพ” เช่น ลงทุนผ่านกองทุนรวมประเภทต่างๆ
ขั้นตอนตั้งแต่สำรวจรายได้ ค่าใช้จ่าย วางแผนทางการเงิน รวมถึงนำเงินเก็บไปลงทุน ทุกท่านสามารถทำเองก็ได้ หรืออาจจะหาที่ปรึกษาทางการเงินให้เขาช่วยวางแผนให้ก็ได้ เพราะเขาจะขอข้อมูลจากท่าน และจะช่วยท่านพิจารณาถึงความสามารถในการรับความเสี่ยงในระดับต่างๆ ของท่านได้เพื่อให้คำแนะนำที่เหมาะสม ซึ่งอาจจะเสียค่าธรรมเนียมบ้าง แต่ผมก็ว่าคุ้ม เพราะจะช่วยลดความผิดพลาดของแผนการทางการเงินที่อาจจะเกิดจากสาเหตุที่เราเองไม่ได้คำนึงถึง
เมื่อได้แผนการทางการเงินที่เหมาะสมแล้ว สิ่งที่สำคัญต่อจากนี้คือ “วินัย” อยากขอให้ทุกท่านมีวินัยในการปฏิบัติตามแผนที่วางไว้ หากท่านไม่มีวินัย ไม่ว่าแผนจะดีเลิศเลอเพียงใดก็จะไม่สำเร็จ และขอให้หมั่นตรวจสอบสถานะการเงินและการลงทุนโดยสม่ำเสมอว่ายังอยู่ในกรอบที่เราวางไว้หรือไม่ สุดท้ายเราก็จะถึงเป้าหมายอย่างแน่นอน และตอนนั้นเราก็จะรู้ว่าเราเองก็สามารถมีเงินพอใช้ไปชั่วอายุขัยได้