คอลัมน์Money Guru
โดยสุทยุต เชื้อพานิช
ฝ่ายตราสารทุนต่างประเทศ
บลจ.เอ็มเอฟซี
หากเราจะแบ่งแนวคิดการลงทุนในหุ้นแบบละเอียดนั้น คงไม่สามารถแบ่งได้อย่างละเอียด เพราะแต่ละบุคคลก็มีสไตล์และวิธีการเล่นหุ้น ที่แตกต่างกันไป เช่นการเลือกหุ้นที่มีมูลค่าต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐาน การใช้ Technical Analysis ในการตัดสินใจลงทุน หรือการลงทุนโดยใช้การวิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจในภาพใหญ่ ซึ่งในแต่ละแนวคิด หรือวิธีการลงทุนก็สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถทำให้พอร์ตการลงทุนมีผลตอบแทนที่ดีได้ถ้านักลงทุนท่านนั้นมีความชำนาญในแนวคิด หรือวิธีการลงทุนนั้นๆอย่างแท้จริง
ถ้าจะวิเคราะห์ลงไปถึงรายละเอียดของแต่ละวิธีการลงทุนก็คงจะพบว่าแต่ละวิธีการลงทุนนั้นมีความแตกต่างกันพอสมควร เช่นนักลงทุนที่ใช้การวิเคราะห์พื้นฐานก็คงจะเน้นการวิเคราะห์งบการเงินของบริษัท และประเมินว่าราคา หรือมูลค่าพื้นฐานของหุ้นนั้นๆ ต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายกันในตลาดอย่างไร เหมาะสมที่จะเข้าลงทุนหรือไม่
ในขณะเดียวกันนักลงทุนที่ใช้ Technical Analysis หรือนักลงทุนที่ใช้การเก็งกำไรระยะสั้นอาจจะลงทุนในหุ้นตัวที่มี Momentum ที่ดี ซึ่งหุ้นตัวนั้นๆ อาจจะมีราคาที่แพงเกินไปสำหรับนักลงทุนที่ใช้มูลค่าพื้นฐานในการตัดสินใจลงทุน
แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าแนวคิดของนักลงทุนทั้งสองท่านจะแตกต่างกัน และมีแนวโน้มที่จะเลือกลงทุนในหุ้นคนละตัวกัน นักลงทุนทั้งสองก็มีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงได้ทั้งคู่ (ในกรณีที่นักลงทุนดังกล่าวมีความสามารถในแนวทางนั้นๆ อย่างแท้จริง)
ถ้าจะให้ยกตัวอย่างนักลงทุนที่มีสไตล์การลงทุนที่แตกต่างกัน แต่ก็ประสบความสำเร็จในการลงทุนอย่างมากเหมือนๆกัน ก็คงหนีไม่พ้น วอร์เรน บัฟเฟต กับ จอร์จ โซรอส ซึ่งนักลงทุนหลายๆ ท่านรู้จักเป็นอย่างดีว่า ท่านหนึ่งเป็นนักลงทุนที่ใช้ปัจจัยพื้นฐานระยะยาว ในขณะที่อีกท่านเป็นนักลงทุนที่ใช้การลงทุนแบบเก็งกำไรระยะสั้นถ้าดูกันอย่างผิวเผินแล้วอาจจะคิดว่าทั้ง วอร์เรน บัฟเฟต และจอร์จ โซรอส มีความแตกต่างกันมาก แต่ในความเป็นจริงแล้วทั้งคู่มีแนวทางการลงทุนที่เหมือนกันมากอย่างหนึ่งคือ หลักแห่งการรักษาเงินต้นเอาไว้
วอร์เรน บัฟเฟต กล่าวไว้ว่า “กฏข้อแรกของการลงทุนก็คือ อย่ายอมเสียเงิน กฏข้อที่สองของการลงทุนก็คือ อย่าลืมข้อแรก” ในขณะที่จอร์จ โซรอส ก็มีแนวความคิดที่ว่า “อยู่ให้รอดก่อน แล้วค่อยทำกำไร”
แนวความคิดดังกล่าวอาจจะดูเรียบง่าย แต่ถ้าเราวิเคราะห์ให้ลึกลงไป เราจะพบว่าแนวความคิดดังกล่าวมีประโยชน์ต่อการลงทุนมาก นักลงทุนหลายๆ ท่านคงจะเคยได้ยินข้อเท็จจริงที่ว่าเมื่อเราขาดทุนจากการลงทุนไปร้อยละห้าสิบ เราต้องทำกำไรให้ได้อีกเท่าตัวถึงจะคืนทุน ข้อเท็จจริงนี้เป็นข้อสนับสนุนหลักการที่ว่านักลงทุนควรจะให้ความสำคัญกับการรักษาเงินต้นเอาไว้
หลายๆ ท่านอาจจะสงสัยว่าทำไม วอร์เรน บัฟเฟต และจอร์จ โซรอสถึงให้ความสำคัญกับหลักการการรักษาเงินต้นเอาไว้มาก การตอบคำถามนี้เราอาจต้องย้อนอดีตกลับไปดูภูมิหลังของนักลงทุนทั้งสองท่าน ซึ่งพื้นฐานในวัยเด็กของทั้งคู่ต่างก็ไม่ได้มาจากครอบครัวที่ร่ำรวยเหมือนกัน โดยโซรอสนั้นเคยติดอยู่ในค่ายนาซีถึงสองครั้ง แต่สามารถมีชีวิตรอดมาได้ ทำให้เขาได้เห็นหลักในการดำเนินชีวิตที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งนั่นก็คือ การเอาตัวรอด ซึ่งเขาเองได้นำมาเป็นหลักสำคัญทั้งในการดำเนินชีวิตและการเล่นหุ้นเก็งกำไร ส่วนบัฟเฟท เป็นคนที่มีมุมมองเกี่ยวกับกฎการลงทุนตั้งแต่วัยเยาว์ โดยคิดว่าจะทำอย่างไรให้ไม่เสียเงิน และทำอย่างไรให้เงินที่มีอยู่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
จะเห็นว่าแนวคิดการรักษาเงินต้นไว้ของทั้งคู่ ขัดกับทฤษฎีที่เคยเรียนมาที่ว่ายิ่งลงทุนในสิ่งที่มีความเสี่ยงมาก การลงทุนนั้นควรให้ผลตอบแทนที่มากด้วยเช่นกันเพื่อชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น(High Risk-High Return) เนื่องจาก วอร์เรน บัฟเฟต และจอร์จ โซรอสมองว่าหากเราเสี่ยงมากและผิดพลาดไป เท่ากับว่าเงินต้นของเราจะหายไปมากมายเช่นกัน และเมื่อเงินต้นของเราได้หายไปอย่างมากแล้ว การจะทำกำไรก้อนใหญ่นั้นจะยากยิ่งกว่าเดิม
ในทางกลับกันหากสามารถรักษาเงินต้นเอาไว้ได้ แม้จะไม่ได้มากเท่าเดิม แต่ก็จะทำให้เรายังมีโอกาสทำกำไรครั้งใหม่อยู่เสมอ สรุปแล้วไม่ว่าแนวทางการลงทุนของแต่ละคนจะเป็นอย่างไร เราก็สามารถนำหลักการรักษาเงินต้นของนักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่นี้ไปปรับใช้กับการลงทุนของเราได้ และหวังว่าแนวทางดังกล่าวจะทำให้นักลงทุนทุกๆ ท่านมีผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงขึ้น
/////ความคิดเห็นและข้อความต่างๆ ในบทความนี้เป็นทัศนะของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย/////