xs
xsm
sm
md
lg

Money Tips : มุมมองการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ในปัจจุบันจากกองทุนบัวหลวง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์บัวหลวง Money Tips
โดยกองทุนบัวหลวง

มุมมองการลงทุนในหุ้นของกองทุนบัวหลวง
    
นอกจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดแล้ว ปัจจัยทางการเมืองนับเป็นความเสี่ยงสำคัญสำหรับตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 เพราะจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนโยบายการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งถ้าไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรงมากก็จะช่วย “ลดโอกาส” ที่ตลาดหุ้นจะถูกเทขายอย่างรุนแรง ส่วนในกรณียืดเยื้อนั้นถ้าตลาดจะปรับตัวขึ้นก็คงจะขึ้นไม่ได้มาก และมีโอกาสจะค่อยๆ ซึมลงไปในช่วงที่ยังไม่มีคำตอบว่าจะจบลงอย่างไร อย่างไรก็ดี ราคาหุ้นที่ตกลงมามากในช่วงก่อนหน้าก็น่าจะสะท้อนปัจจัยลบต่างๆ ไปบ้างแล้ว
    
ในภาวะเช่นนี้ นักลงทุนจึงไม่ควรให้ความสำคัญต่อความผันผวนของตลาดในระยะสั้นมากจนเกินไป แต่ควรพิจารณาถึงปัจจัยพื้นฐานมากกว่า เพราะราคาหุ้นที่ลงมามากก็เป็นโอกาสให้ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่มากขึ้นสำหรับการลงทุนระยะยาว แต่ต้องเลือกลงทุนในกิจการที่ยังมีปัจจัยพื้นฐานดี และถ้าโดนกระทบจากปัจจัยลบต่างๆ ก็จะโดนกระทบน้อย ซึ่งถ้าย้อนดูอดีตที่ผ่านมาหลายต่อหลายครั้งจะพบว่าความไม่สงบทางการเมืองในประเทศไทยมักเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ซึ่งทำให้หุ้นมีความผันผวนมาตลอด แต่ในทุกๆ ครั้งการเมืองไทยก็จะสามารถกลับมามีเสถียรภาพได้ไม่ว่าจะจบลงด้วยวิธีการใดก็ตาม แล้วเศรษฐกิจไทยก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ส่งผลให้ราคาหุ้นไทยปรับตัวเข้าหาพื้นฐานของหุ้นตามปกติ

อย่างไรก็ดี ถ้าหากสถานการณ์การเมืองแย่ลงหรือยืดเยื้อยาวนานกว่าที่คาด กองทุนบัวหลวงจะมุ่งเน้นเลือกลงทุนในหุ้นที่พื้นฐานดีในระยะยาว หรือถูกกระทบจากความเสี่ยงด้านนโยบายรัฐบาลน้อยที่สุด เพื่อให้มั่นใจได้มากขึ้นว่า ไม่ว่าตลาดหุ้นจะย่ำแย่ขนาดไหน ผลประกอบการของธุรกิจที่เราลงทุนจะไม่แตกต่างออกไปจากที่คาดการณ์ไว้มากนัก ทั้งนี้ เรายังให้น้ำหนักการลงทุนมากในกลุ่มธุรกิจกลุ่มค้าปลีก (Modern trade) และกลุ่มธุรกิจที่อิงกับการขยายตัวของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบด้านการเมืองและกระแสการไหลออกของเงินทุนไม่มาก ส่วนหุ้นในกลุ่มการท่องเที่ยวนั้นถึงจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาการเมืองในระยะสั้น แต่เชื่อว่าในที่สุดแล้วเมื่อเหตุการณ์คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ ประเทศไทยจะยังคงเป็นเป้าหมายที่น่าดึงดูดสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในอนาคต นอกจากนี้ราคาหุ้นก็ปรับตัวลงมามากจากความกังวลระยะสั้น ทำให้เราเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่จะเข้าลงทุนระยะยาว

มุมมองการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ของกองทุนบัวหลวง

บรรยากาศการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยช่วงที่ผ่านมาได้รับแรงกดดันจากปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะความยืดเยื้อของการชุมนุมทางการเมืองที่อาจส่งผลให้การใช้จ่ายภาครัฐ (ที่ก่อนหน้านี้ถูกคาดว่าจะเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2557) ต้องชะลอออกไป อันจะส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนหดตัวลงด้วย สะท้อนได้จากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคล่าสุดในเดือน ธ.ค. 56 ที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 24 เดือน

ด้วยความกังวลดังกล่าวข้างต้น นักลงทุนในตลาดส่วนใหญ่จึงคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาจากระดับปัจจุบันที่เป็น 2.25% ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นลดลงมารอรับการคาดการณ์ดังกล่าว ขณะที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะกลางถึงยาวเพิ่มขึ้นจากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติที่กังวลความเสี่ยงทางด้านการเมืองประกอบกับผลของการลด QE (QE tapering) ของ Fed

ผลการประชุม กนง. ล่าสุดของวันที่ 22 ม.ค. 57 มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ 2.25% ซึ่งสวนทางกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่คาดว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง โดย กนง.ให้เหตุผลว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนปรนในปัจจุบันยังคงเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยที่การเมืองกับผลกระทบของการเมืองต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเป็นปัจจัยเสี่ยงระยะสั้น ซึ่งพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังสามารถรองรับความเสี่ยงดังกล่าวได้ นอกจากนี้ การรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศยังคงเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อวางพื้นฐานที่มั่นคงสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ กนง.จะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดําเนินนโยบายที่เหมาะสม  

เมื่อประเมินจากสถานการณ์ของประเทศในปัจจุบันซึ่งยังมีความเสี่ยงเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ กองทุนบัวหลวงจึงคาดว่ามีโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับลดลงในการประชุมครั้งหน้าในวันที่ 12 มี.ค. 57 ซึ่งจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับลดลงได้อีก ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะกลางถึงยาวคงไม่ปรับลดลงมากนัก เนื่องจากยังมีแรงกดดันของปริมาณอุปทานพันธบัตรรัฐบาล และ QE tapering ของ FED


กำลังโหลดความคิดเห็น