xs
xsm
sm
md
lg

มุมมองเศรษฐกิจโลกและกลยุทธ์การลงทุนสำหรับปี 2014

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ Fund Manager Talk
โดย ทีมจัดการการลงทุน
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด

ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกในปี 2014 มีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง Global GDP (g) จะเร่งตัวขึ้นจากระดับ 2.8% ในปี 2013 มาที่ 3.5% ในปี 2014 (Bloomberg Consensus)  การเร่งตัวขึ้นจะมาจากประเทศในกลุ่ม  Developed Market (DM) ในขณะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่ม Emerging Market (EM) ค่อนข้างจะทรงตัว ทำให้ GDP  Growth Gap ระหว่าง EM-DM เริ่มแคบลง ผลบวกของการฟื้นตัวของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของภาคการส่งออกที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศ ทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้อย่างกว้างขวาง

เราคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี 2014 เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ มีแนวโน้มทรงตัวที่อุปสงค์และอุปทานมีการขยายตัวที่ค่อนข้างสมดุลกัน ประกอบกับกำลังการผลิตส่วนเกินของโลกยังอยู่ในระดับสูง

สำหรับนโยบายทางการเงิน ถึงแม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเริ่มทำ QE Tapering ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2014 แต่โดยรวมๆ แล้วนโยบายการเงินของโลกยังคงอยู่ในโหมดผ่อนคลายอยู่ ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป ยังคงนโยบายดอกเบี้ยต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่ประเทศส่วนมาก Policy Rate จะอยู่ในลักษณะของ On Hold จะมีเพียงไม่กี่ประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อสูง ที่อาจจะจำเป็นที่จะต้องมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เช่น อินโดนีเซีย และอินเดีย เป็นต้น

สหรัฐอเมริกา- ภาพรวมของเศรษฐกิจในปี 2014 ค่อนข้างจะสดใส นักวิเคราะห์ทุกสำนักต่างเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง GDP(g) สำหรับปี 2014 คาดว่าจะอยู่ที่ 2.6% เทียบกับระดับ 1.7% ในปี 2013 และจะมีโมเมนตัมต่อเนื่องไปถึงปี 2015 ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 3.2% ทั้งนี้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาแม้สหรัฐฯ จะต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Government  Shutdown หรือ Budget Cut แต่ดัชนีตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอัตราการว่างงาน, ดุลบัญชีเดินสะพัด, ดุลบัญชีการคลัง กลับค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นมาถึง 8 ไตรมาสติดกัน เป็นการยืนยันว่าการฟื้นตัวนั้นเกิดขึ้นจริง ในปี 2014 นี้เราเชื่อว่าปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจจะมาจากทุกภาคส่วน ในขณะที่ความเชื่อมั่นของประชาชนและภาคธุรกิจจะกลับขึ้นมาดีขึ้น จากการผ่านงบประมาณของปี 2014 ที่สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ทำให้ความเสี่ยงที่เคยเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่น เช่น  Government Shutdown หรือ Debt Ceiling ที่ตกลงกันไม่ได้จะไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก

ยุโรป- ภาพรวมของเศรษฐกิจยุโรปในปี 2014 จะมีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ โดยปัจจัยสนับสนุนหลักเกิดจาก Fiscal Drag ที่จะปรับลดลง ในขณะเดียวกัน การที่ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงได้เป็นตัวช่วยส่งเสริมให้ภาคส่งออกพลิกฟื้นขึ้นมา แต่กระนั้นก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้อย่างแข็งแรง ทั้งนี้เกิดจากรากเหง้าของปัญหา ไม่ว่าจะเป็นระดับหนี้ทั้งภาครัฐ และเอกชนที่อยู่ในระดับสูง  การแก้ปัญหาของสถาบันการเงินยังไม่มีความคืบหน้าไปสักเท่าไหร่ ทำให้สถาบันการเงินอยู่ในช่วงของการ Deleverage ซึ่งจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทเอกชน

ญี่ปุ่น- เรามีมุมมองในเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจซึ่งได้รับประโยชน์จาก Abenomics หรือมาตรการลูกศร 3 ดอก ซึ่งจะทำให้ GDP(g) ใน CY2014 เร่งตัวขึ้นมาที่ 2.0% จาก 1.9% ใน CY2013 ลูกศรดอกแรกที่ยิงออกมาในรูปของ QE ทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงถึงกว่า 20% ในปี 2013 ทำให้เกิดการขยายตัวของภาคส่งออก และการปรับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ทำให้การส่งออกจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสำหรับการขยายตัวในปี 2014 ในขณะที่ลูกศรดอกที่สองที่มุ่งเน้นไปในส่วนของ Fiscal Stimulus ส่งผลบวกต่อผลประกอบการของบริษัทเอกชน ส่งผลดีต่อการปรับตัวขึ้นของราคาหุ้น และ Wealth Effect ที่วิ่งไปที่ประชาชน ทำให้เกิดการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ อย่างไรก็ดี สำหรับปี 2014 สิ่งที่เป็นที่ท้าทายคือการที่รัฐบาลจะต้องพยายามรักษา Growth Momentum ให้ได้ถึงแม้จะมีการปรับขึ้นของ Consumption Tax รวมถึงการใช้ศรดอกที่สามผ่านการ Reform ในรูปแบบต่างๆ

จีน- เศรษฐกิจจีนในปี 2014 คาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 7.0%-7.5% ซึ่งแรงขับเคลื่อนหลักในปี 2014 จะมาจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออก ในขณะที่การขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนยังคงขยายตัวในอัตราเดิม โดยการดำเนินนโยบายต่างๆ จะยังคงเน้นในเรื่องของการ Reform เศรษฐกิจจาก Investment led มาเป็น Consumption led จะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนถูกกดดันให้อยู่ในกรอบการเติบโตที่ Policymakers ต้องการ ในส่วนของนโยบายการเงิน เนื่องจากรัฐบาลยังคงต้องการเห็นการขยายตัวของเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ  ดังนั้นเราจึงไม่คิดว่านโยบายโดยรวมจะถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็น tightening มากขึ้น เราเชื่อว่า Policy Rate ในปีหน้า รวมถึง Reserve Requirement Ratio (RRR) จะยังคงอยู่ในระดับเดียวกับในปี 2014

ไทย- เบื้องต้นเรามองว่าเศรษฐกิจไทยจะมีอัตราการขยายตัวที่ 4.0-4.5% ในปี 2014 อย่างไรก็ดี ประมาณการดังกล่าวยังคงมี Downside Risk ที่ GDP (g) อาจจะต้องปรับลงลงมา สืบเนื่องมาจากความวุ่นวายทางการเมืองที่นำไปสู่การชะลอตัวของการท่องเที่ยว, การบริโภคที่ยังเติบโตในระดับต่ำ การลงทุนโดยเฉพาะของภาครัฐ ที่จะเลื่อนออกไป และสุดท้ายเราจะต้องพึ่งอยู่กับความหวังของการส่งออก ซึ่งน่าจะเป็นตัวช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปี 2014 ในส่วนของนโยบายการเงินนั้น เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ ทำให้เราเชื่อว่า Policy Rate จะยังคงไว้ที่ระดับ 2.25% ในปี 2014 และถึงแม้ไทยจะมีความเสี่ยงจากความวุ่นวายทางการเมืองที่อาจจะยืดเยื้อ แต่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยไม่น่าจะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เนื่องจากหนี้สินภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงมาก  และกำลังอยู่ในช่วงของการทยอยปรับลดหนี้ การลดดอกเบี้ยจึงไม่ก่อประโยชน์ใดๆ

กลยุทธ์การลงทุน- เรามองว่า QE Tapering จะเป็นความท้าทายสำหรับตลาดหุ้นของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ในปี 2014 ด้วยเหตุที่เศรษฐกิจกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (สหรัฐฯ และญี่ปุ่น) มีการฟื้นตัวอย่างมีนัยเมื่อเทียบกับอดีต ส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ในฐานะผู้ส่งออกและผู้ลงทุน ทั้งทางตรงและทางอ้อม ในขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเกิดใหม่อยู่ในระดับทรงตัว หลังจากที่เคยเป็น “พระเอก” ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ดังนั้น การเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ และญี่ปุ่น จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการกระจายความเสี่ยงในช่วงที่ตลาด EM equities มีความเสี่ยงจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจรวมไปถึงความผันผวนของเม็ดเงินไหลเข้า/ออก สำหรับหุ้นไทยนั้น เรามองว่าในช่วงไตรมาสที่ 1/2014 จะได้รับผลกระทบจาก QE Tapering บ้าง ในขณะที่ปัญหาการเมืองของไทยที่ยังไม่ได้ข้อสรุป

ปัจจัยเหล่านี้จะเป็นความเสี่ยงเชิงลบที่อาจจะทำให้เกิดการปรับประมาณการของอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยได้อีกครั้ง ดังนั้นเชื่อว่าไตรมาสที่ 1/2014 จะเป็นไตรมาสที่ SET Index อาจมีผลตอบแทนในระดับต่ำ แต่จะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นในไตรมาสที่ 2/2014 เมื่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะเข้ามาช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่ขาดดุลค่อยๆ ปรับขึ้นมาเป็นเกินดุลได้ในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น