คปภ.เผยกองทุนประกันภัยพิบัติฯ ยังมีบทบาทต่อ ชี้ปีหน้าต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อกดดันอัตราเบี้ยในตลาดให้ลดลง แต่ต้องเลื่อนปรับลดอัตราเบี้ยของกองทุนเหตุการเมืองพ่นพิษ และต้องผ่านการอนุมัติจาก ครม. ระบุบริษัทประกันที่ประสบปัญหาจ่ายสินไหมน้ำท่วมอาจขอผ่อนผันเป็นรายบริษัทได้ หลังเกณฑ์สำรองกองทุนช่วยน้ำท่วมใกล้เส้นตายมีนาคม ปีหน้า
นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากการที่งบการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทล่าช้าออกไปจากปัญหาการเมืองและการยุบสภา ส่งผลให้ในปีหน้ากองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติจะยังคงมีหน้าที่ผลักดันให้กลไกของเบี้ยประกันวินาศภัยปรับตัวลดลงสู่ภาวะปกติเหมือนตอนก่อนเกิดอุทกภัยในปี 2554
ทั้งนี้ แนวทางที่ใช้จะมีอยู่ด้วยกัน 2 ส่วน คือ 1. แนวทางที่ คปภ.สามารถดำเนินการได้ทันที 2. แนวทางที่จะต้องมีการผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งทาง คปภ.มีความคิดที่จะปรับลดอัตราเบี้ยประกันภัยลงจากเดิม แต่เป็นแนวทางที่ต้องผ่านความเห็นชอบจาก ครม.ทำให้ยังไม่สามารถทำได้ในขณะนี้ โดยหลังจากนี้อาจจำเป็นจะต้องใช้แนวทางแรกที่ คปภ.สามารถดำเนินการได้เองก่อน
“บทบาทของกองทุนยังมีอยู่ ซึ่งเบื้องต้นจะมีการประชุมบอร์ดของกองทุนฯ เพื่อปรับลดอัตราเบี้ยประกันภัยใน 3 เซกเตอร์ คือ 1. รายย่อย 2. เอสเอ็มอี 3. อุตสาหกรรม จากอัตรเดิม 0.5% 1% และ 1.25% แต่คงต้องเลื่อนไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง โดยอาจจะต้องใช้กลไกที่สามารถดำเนินการได้เองก่อนเข้ามาดูแลเพื่อให้เบี้ยประกันภัยปรับลดลงอีก ถึงแม้จะมีการปรับลดลงไปแล้วแต่ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าตอนก่อนเกิดปัญหาน้ำท่วม”
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าแนวโน้มของการทำประกันภัยน้ำท่วมอาจปรับตัวลดลง เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาประชาชนให้ความสำคัญในการทำประกันภัยหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมเป็นจำนวนมากกว่าปกติ และเป็นธรรมชาติหลังจากไม่เกิดเหตุการณ์มาประมาณ 2 ปีจะส่งผลให้ประชาชนให้ความสนใจลดลง
นายประเวช กล่าวอีกว่า บทบาทของกองทุนภัยพิบัติในช่วงที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จ ซึ่งมีหลายประเทศให้ความสนใจเข้ามาดูงานของไทย ซึ่งหลังจากนี้ถึงแม้อัตราเบี้ยประกันภัยจะลดลง และกลับเข้าสู่ภาวะการแข่งขันปกติแล้ว เชื่อว่ากองทุนภัยพิบัติจะยังคงอยู่ แต่อาจมีการปรับบทบาทไปดูแลในรูปแบบอื่นแทน
“ตอนนี้มีเวียดนาม กับฟิลิปปินส์สนใจที่จะมาดูงานกับเรา เพราะที่ผ่านมาอย่างฟิลิปปินส์เขาโดนหนักแต่ก็ยังไม่สามารถตั้งกองทุนได้อย่างที่ไทยทำเพราะรัฐบาลเขายังไม่เห็นความสำคัญในส่วนนี้”
นายประเวช กล่าวอีกว่า ความคืบหน้าสำหรับการผ่อนผันเงินกองทุนสำรองให้บริษัทประกันภัยที่มีภาระในการจ่ายสินไหมน้ำท่วมนั้น ตอนนี้กำลังจะครบกำหนดในเดือนมีนาคม ปีหน้า โดยหล้งจากนี้หากบริษัทใดมีการความต้องการยืนระยะเวลาออกไปก็สามารถทำได้แต่จะต้องดูเป็นรายบริษัทไป
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่าหลายบริษัทมีการเพิ่มทุนเพื่อสำรองเงินไว้ในกองทุนหลังจากการจ่ายสินไหมน้ำท่วมแล้วหลายบริษัท แต่จะมีอยู่ประมาณ 10 บริษัทยังมีปัญหาและอาจต้องมีการขยายเวลาผ่อนผันออกไป