การปรับตัวลงของตลาดหุ้นไทยในช่วงสั้น น่าจะทำให้ตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจมากขึ้น เพราะราคาหุ้นปรับตัวลงมาพอสมควร
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ จำกัด มองแนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าว่า การลงทุนยังได้รับปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาในประเทศและต่างประเทศ โดยการปรับลด QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) นั้น แม้ว่าอาจทำให้นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับการไหลออกของเงินทุนต่างชาติ แต่ปีนี้การไหลออกของเงินทุนต่างชาติจากตลาดหุ้นไทยนับว่าออกไปค่อนข้างเยอะแล้ว เกือบเท่ากับเม็ดเงินที่ไปเข้ามาในช่วง 5 ปีหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ขณะเดียวกัน การชะลอ QE นับเป็นข่าวดีด้วยเพราะจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต้องมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและมั่นคงเท่านั้น
ดังนั้น การชะลอ QE ของเฟดน่าจะเป็นเพียงผลของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ มากกว่าจะเป็นเหตุให้เกิดเศรษฐกิจถดถอย หรือวิกฤตการเงินโลก นอกจากนี้ แม้เฟดอาจมีการชะลอการอัดฉีดสภาพคล่องในปีหน้า แต่ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่นๆ ยังคงทำ QE ต่อไป เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ หรือแม้แต่ยุโรป ล่าสุดก็มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้ระบบเศรษฐกิจ ดังนั้น การปรับตัวลงของตลาดหุ้นไทยในช่วงสั้นน่าจะทำให้ตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจมากขึ้นเพราะราคาหุ้นปรับตัวลงมาพอสมควร อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรในอนาคต (P/E) ของตลาดหลักทรัพย์ไทยที่เคยสูงถึง 13-14 เท่าเมื่อช่วงต้นปี ล่าสุดปรับลดลงมาอยู่ที่ราว 12 เท่า เกิดจากทั้งราคาหุ้นที่ปรับลดลง และกำไรที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี
จังหวะนี้จึงถือเป็นโอกาสดีต่อการลงทุนระยะยาว อย่าง LTF RMF เพราะไปอีก 5 ปีข้างหน้าปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ก็น่าจะลดความรุนแรงลงแล้ว รวมทั้งโครงการลงทุนภาครัฐที่ดูเหมือนล่าช้าในตอนนี้ก็น่าจะเริ่มเบิกจ่ายได้ในอีก 1-2 ปี และน่าจะเบิกจ่ายได้อย่างเต็มที่ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า อีกทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะฟื้นตัวเต็มที่ เศรษฐกิจยุโรปน่าจะปรับตัวดีขึ้นจากตอนนี้ การปฏิรูปเศรษฐกิจจีน (เปิดเสรีทางธุรกิจ เสรีทางการเงิน และปฏิรูประบบสถาบันการเงิน) ก็น่าจะเห็นผลมากขึ้น
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนภายใต้ภาวะเศรษฐกิจในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า มองว่าผู้ที่รับความเสี่ยงได้ควรเน้นลงทุนในตราสารทุนมากกว่าตราสารหนี้ เนื่องจากในภาวะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวและการชะลอ QE สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ การปรับตัวชันขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (yield curve) ซึ่งจะส่งผลเสียต่อผู้ลงทุนในตราสารหนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตราสารหนี้ที่มีอายุยาวๆ ราคาตราสารหนี้จะปรับตัวลดลงสวนทางกับเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับตัวสูงขึ้น
ขณะเดียวกัน ในทางตรงข้าม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจน่าจะเป็นผลดีต่อตลาดตราสารทุน เพราะผลประกอบการบริษัทมักเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ ดังนั้น การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมักเป็นผลดีต่อตลาดทุนโดยรวม
สำหรับทาง บลจ.ไทยพาณิชย์ มีการออกผลิตภัณฑ์การลงทุนเพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้ลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงไปยังต่างประเทศ เพื่อรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว การปฏิรูปเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงเพื่อกระจายความเสี่ยงออกไปจากปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศ ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอล เวลท์ เพื่อการเลี้ยงชีพ และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอล เวลท์ พลัส เพื่อการเลี้ยงชีพ (SCBRMGW และ SCBRMGWP)
โดยมีนโยบายการลงทุนในต่างประเทศแบบสมดุล (Balanced Fund) มีการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย ทั้งตราสารหนี้ ตราสารทุน และสินค้าโภคภัณฑ์ และมีการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ SCBRMGWP เหมาะต่อนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้มากเพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงกว่า โดย SCBRMGWP จะเน้นลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง (เช่นตราสารทุน) มากกว่ากองทุน SCBRMGW