บลจ.ฟินันซ่าเตรียมจ่ายเงินปันผลกองอสังหาฯ TNPF อัตรา 0.1895 บาท คาดกองทุนยังให้ผลตอบแทนได้ดีในระยะยาว พร้อมเปิดขายกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น 3 เดือน FAM FIPR3M4 ชูผลตอบแทน 2.90% ต่อปี
นายธีรพันธุ์ จิตตาลาน กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ฟินันซ่า จำกัด เปิดเผยว่า บลจ.ฟินันซ่า ในฐานะบริษัทจัดการของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าตรีนิตี้ (TNPF) ได้มีมติเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 56 ให้จ่ายเงินปันผลในอัตราหน่วยลงทุนละ 0.19 บาท จากผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 ก.ค. 56 ถึง 30 ก.ย. 56 และจากกำไรสะสมบางส่วน โดยกำหนดวันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหน่วยลงทุนของกองทุนเพื่อกำหนดสิทธิการรับเงินปันผลในวันที่ 28 พ.ย. 56 และมีกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 12 ธ.ค. 56 และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 ซึ่งจ่ายในอัตราหน่วยลงทุนละ 0.1895 บาท จึงถือว่าปีนี้จ่ายปันผลมากกว่าปีก่อน 2.63%
ทั้งนี้ ปัจจุบันกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ตรีนิตี้ (TNPF) ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนของกองทุนรวมเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2556 มีมูลค่าโครงการรวมทั้งสิ้น 1,396.89 ล้านบาท โดยกองทุนฯ ลงทุนแบบกรรมสิทธิ์สมบูรณ์ (Freehold) มากกว่าร้อยละ 80 และส่วนที่เหลือเป็นการลงทุนแบบสิทธิการเช่า (Leasehold) อายุ 30 ปี มีนโยบายจ่ายเงินปันผลอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ประเภทกองทุนปิด และไม่กำหนดอายุโครงการ อีกทั้งอสังหาริมทรัพย์ที่กองทุนรวมเข้าลงทุนมีความหลากหลาย
โดยมีการลงทุนในธุรกิจโรงแรม เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ และพื้นที่ค้าปลีก โดยทรัพย์สินทั้งหมดตั้งอยู่ใจกลางสีลม-สาทร ใกล้สถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา กองทุน TNPF จ่ายเงินปันผลแล้ว 0.7603 บาท/หน่วย เมื่อเทียบกับราคาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ณ ปัจจุบัน (13 พ.ย. 56) ที่ 9.20 บาท/หน่วย คิดเป็นอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลเท่ากับร้อยละ 8.26 ต่อปี และตั้งแต่จัดตั้งกองทุนรวมเมื่อ 23 ก.พ. 54 กองทุนรวมได้จ่ายเงินปันผลแล้วรวมเป็นจำนวน 1.8688 บาทต่อหน่วยลงทุน
อย่างไรก็ตาม บลจ.ฟินันซ่าคาดว่าผลประกอบการ และรายได้ของกองทุนรวมฯ จะสามารถมีอัตราเติบโตที่เพิ่มขึ้นได้อีกในอนาคต โดยคาดการณ์จากจำนวนผู้เข้าพักในส่วนของโรงแรมโกลว์ ตรีนิตี้ สีลม ที่เพิ่มขึ้น และมีอัตราการเข้าพักถึงร้อยละ 80-90 มาโดยตลอด อีกทั้งส่วนพื้นที่ค้าปลีกซึ่งมีศักยภาพในการดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาจับจ่ายใช้สอยอีกทั้งจำนวนผู้เช่าพื้นที่ร้านค้าในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทั้งหมดจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการสร้างรายได้ของกองทุนในระยะยาว
ขณะเดียวกัน บลจ.ฟินันซ่าเปิดขายกองทุนเปิดฟินันซ่า ตราสารหนี้พลัสโรลโอเวอร์ 3 เดือน 4 อัตราผลตอบแทนโดยประมาณ 2.90% ต่อปี เปิดเสนอขายระหว่างวันที่ 6-16 ธ.ค. 56 โดยสินทรัพย์ในกองทุนบางส่วนจะลงทุนเป็นเงินฝากธนาคารต่างประเทศและในประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ขึ้นไป (Investment Grade)
โดย บลจ.ฟินันซ่าประเมินว่า จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากระดับ 2.50% ต่อปี สู่ระดับ 2.25% ต่อปี เนื่องจากตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2556 ขยายตัวต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้มาก ในขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงสินเชื่อภาคครัวเรือนที่ชะลอตัวลง เอื้อให้ทาง กนง.สามารถผ่อนคลายนโยบายทางการเงินเพิ่มเติมได้หากยังไม่มีสัญญาณที่จะฟื้นตัวเศรษฐกิจในช่วงต่อไป กอปรกับธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เริ่มมีความเป็นไปได้สูงที่จะลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE Tapering) เร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ซึ่งอาจเกิดขึ้นในเดือน ธ.ค. 2556 เป็นผลให้ดอกเบี้ยระยะยาวจะค่อยทยอยปรับขึ้น
“ในภาวะดอกเบี้ยระยะสั้นมีความเสี่ยงปรับตัวลงและดอกเบี้ยระยะยาวมีแนวโน้มปรับขึ้น การลงทุนในกองทุนเปิดฟินันซ่า ตราสารหนี้พลัสโรลโอเวอร์ 3 เดือน 4 อัตราผลตอบแทนโดยประมาณ 2.90% ต่อปี สูงกว่าดอกเบี้ยนโยบาย จะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะลงทุนในระยะเวลาที่สั้นเพื่อรอความชัดเจนของเศรษฐกิจทั้งใน และต่างประเทศ”
สำหรับกองทุนเปิดฟินันซ่า ตราสารหนี้พลัสโรลโอเวอร์ 3 เดือน 4 (FAM FIPR3M4) เป็นกองทุนที่โรลโอเวอร์มาจากการขายกองทุนก่อนหน้านี้ เป็นกองทุน Specific fund โดยกองทุนจะพิจารณาลงทุนในตราสารแห่งหนี้ ตราสารทางการเงิน และ/หรือ เงินฝากของภาครัฐและภาคเอกชน
ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น เงินฝากธนาคารต่างประเทศสกุลเงิน USD, CNY, HKD, EUR, JPY กับธนาคาร BOC (Macau), Standard Chartered Bank (Hong Kong), ธนาคาร CIMB Niaga (Indonesia), Akbank T.A.S. (Malta) หรือเงินฝากสกุลเงิน AED ธนาคาร Abu Dhabi Commercial Bank, UAE (F1), ธนาคาร Union National Bank, UAE(P-1), ตั๋วเงินหรือเงินฝากธนาคารพาณิชย์ในประเทศ, ตั๋วแลกเงิน บมจ.ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) (BBB), ตั๋วแลกเงิน บมจ.เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง(BBB+), บมจ.บัตรกรุงไทย (BBB+), ตั๋วแลกเงิน บมจ.ราชธานีลิสซิ่ง (BBB+), บมจ.อีซี่บาย (BBB+), บจ.บีเอสแอล ลีสซิ่ง(BBB) หรือตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ BBB ขึ้นไป, ตั๋วเงินคลัง หรือพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น