หลายคนพอเริ่มเข้าสู่วัยทำงาน เริ่มสร้างฐานะ และสร้างครอบครัว สิ่งที่ผู้คนในวัยนี้ชอบพูดถึงกันมากที่สุดคือ“การเก็บออมเงินและรูปแบบการเก็บออม” เช่น ซื้อหุ้นดีไหม ซื้อกองทุนไม่ดีกว่าหรือ ฉันไม่อยากขาดทุน ฉันอยากได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าฝากเงิน และอะไรต่อมิอะไรอีกมากมายที่เป็นคำถามล้านแปดเกี่ยวกับการเป็นมือใหม่หัดลงทุน
วันนี้ “ทีมงาน ASTVผู้จัดการ” ขอนำเสนอ 1 ตัวช่วยในการเป็นมือใหม่หัดลงทุน นั่นก็คือ การจัดการลงทุนให้เหมาะสมกับช่วงอายุ โดยสมาคมบริษัทจัดการลงทุน หรือ AIMC ได้ให้คำแนะนำการลงทุนไว้ดังนี้
อายุ 21-30 ปี เป็นวัยที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน ยังไม่มีภาระต้องรับผิดชอบมากนัก และเป็นวัยที่ยังมีเวลาและมีกำลังในการหารายได้อีกนาน ดังนั้นคนในช่วงวัยนี้จึงสามารถจัดสรรเงินไปลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงสูงได้เกือบทั้งหมดเพราะอยู่ในวัยที่สามารถยอมรับความเสี่ยงได้มาก และหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้นก็มีเวลามากเพียงพอที่จะเรียนรู้ แก้ไขข้อผิดพลาดนั้น
โดยอาจจะลงทุนในตราสารทุน เช่น หุ้น กองทุนรวมหุ้นได้ถึง 90% ส่วนอีก 10% ที่เหลือเก็บไว้ในรูปของเงินฝากและตราสารหนี้ เช่น พันธบัตร ตั๋วสัญญาใช้เงิน หุ้นกู้ หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ เป็นต้น
อายุ 31-40 ปี เป็นวัยที่การงานเริ่มมั่นคง รายได้เพิ่มสูงขึ้น และในขณะเดียวกันก็มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มตามมาเป็นทวีคูณเพราะอยู่ในช่วงที่กำลังสร้างครอบครัว แต่งงาน ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ฯลฯ เมื่อมีภาระผูกพันที่ต้องรับผิดชอบมาก และต่อเนื่อง ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ก็ลดน้อยลง
การลงทุนของคนในวัยนี้จึงอาจจะต้องลดสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนหรือหุ้นลงจาก 90% ให้เหลือเพียง 50% ของเงินออม แล้วไปเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ให้มากขึ้นในจำนวนที่เท่าๆ กัน
อายุ 41-55 ปี เป็นวัยที่มีหน้าที่การงานมั่นคง มีรายได้สูง แต่ก็มีรายจ่ายที่สูงไม่แพ้กัน การลงทุนของคนในวัยนี้ควรเลือกลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำ เริ่มเน้นความปลอดภัยของเงินต้นเป็นหลัก เพื่อจะได้เก็บเงินส่วนหนึ่งไว้ใช้ในยามชรา แต่อย่างไรก็ดี ไม่ควรละเลยการลงทุนในตราสารทุนไปซะเลยทีเดียว เพียงแต่ต้องลดสัดส่วนลงเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มพูนผลตอบแทนให้งอกเงยนอกเหนือจากดอกเบี้ยและเงินปันผลนั่นเอง
สัดส่วนที่เหมาะสมในการลงทุนของคนในวัยนี้ คือ 70% ลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ อีก 30% ลงทุนในตราสารทุน โดยอาจแบ่งการลงทุนส่วนหนึ่งไปลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวเพื่อนำไปใช้ลดหย่อนภาษีด้วยก็ดี เนื่องจากคนในวัยนี้ต้องแบกรับภาระภาษีค่อนข้างสูงอันเนื่องมาจากมีรายได้ที่สูงนั่นเอง
อายุ 55 ปีขึ้นไป เป็นวัยเกษียณที่แทบจะไม่มีรายได้แล้วสำหรับบางคน แต่ยังคงจับจ่ายใช้สอยอยู่เช่นเดิมแม้ค่าใช้จ่ายบางอย่างในชีวิตประจำวันจะเริ่มลดน้อยลง แต่กลับต้องสำรองค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลเพิ่มมากขึ้นตามวัยและสุขภาพ
ดังนั้น เงินออมเกือบทั้งหมดในชีวิตควรอยู่ในรูปของเงินฝากและตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตร หรือกองทุนรวมตลาดเงินเป็นต้น
สิ่งที่สำคัญที่สุดนอกเหนือจากการจัดพอร์ตตามช่วงอายุแล้ว อย่าลืมทำแบบทดสอบเรื่องความเสี่ยง เพื่อประเมินว่าตนเองนั้นรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้มากน้อยแค่ไหน และอย่าลืมว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน