เป็นอีกสัปดาห์ที่ผันผวนของตลาดหุ้น และการประชุมสภาที่มีภาพอัปยศออกมาอย่างต่อเนื่อง กับผู้ทรงเกียรติทั้งหลาย รวมถึงสถานการณ์ในต่างประเทศที่ต้องจับตามอง กับขาใหญ่และสงครามกลางเมืองในประเทศซีเรีย
สำหรับหุ้นไทยสัปดาห์นี้ปิดตลาดที่ระดับ 1,336.25 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 22.76 จุด หรือ +1.73 มูลค่าการซื้อขาย 31,665.56 ล้านบาท ถือเป็นช่วงสัปดาห์ที่พอจะสร้างรอยยิ้มให้แก่นักลงทุนได้บ้าง แต่จะเอาแน่นอนกับหุ้นไทยขณะนี้คงอยาก ซึ่งหากสัปดาห์หน้ายังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่องก็คงต้องระวังแรงเทขายทำกำไรกันบ้างจับตาดูกันไว้ให้ดีๆ
ส่วนกองทุนรวมในสัปดาห์ที่ผ่านมามีหลายกองที่น่าสนใจ และที่เป็นไฮไลท์เลยคงหนีไม่พ้น กองทุนรวม “โครงสร้างพื้นฐาน โรงไฟฟ้าอมตะ บี.กรีม เพาเวอร์”ที่จะเริ่มไอพีโอวันที่ 14-15 กันยายนนี้ โดยกองทุนนี้จะลงทุนในสิทธิการรับผลประโยชน์จากการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าอมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 1 และ อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 2 ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี
โดยปัจจุบันโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งดังกล่าวมีสัญญาขายไฟให้แก่ กฟผ.ในระยะยาว และขายไฟให้นิคมอุตสาหกรรมจำนวนมาก ส่งผลให้รายได้ที่จะเข้ามามีความมั่นคง ทั้งนี้ ถ้าย้อนหลังไป 4 ปี โรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งทำกำไรได้ทุกปีเฉลี่ย 550-600 ล้านบาท EBITDA อยู่ที่ 1,300 ล้านบาทต่อปี และรายได้ประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาทต่อปี
ถือว่าน่าสนใจที่เดียว ซึ่งนายสุรเดช เกียรติธนากร ผู้บริหารกลุ่มธุรกิจวาณิชธนกิจ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า คาดว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในปีแรกจะอยู่ที่ประมาณ 15-15.5% แบ่งเป็นประมาณ 7.2-7.5% เป็นผลตอบแทนจากเงินปันผล และประมาณ 8% เป็นเงินลงทุนที่ทยอยจ่ายคืนแก่ผู้ถือหน่วยด้วยการลดทุน ซึ่งหลังจากปีแรกแล้วเชื่อว่าผลตอบแทนในปีถัดไปก็ไม่น่าจะแตกต่างจากปีแรก หรืออาจจะมีโอกาสทำได้มากกว่าอีกด้วย
ส่วนอีกกองทุนที่น่าสนใจคือ “ธนชาตชาเลนจ์ 15” ที่เปิดขายไปแล้วจนถึงวันที่ 10 ก.ย.นี้ โดยกองทุนนี้จะเป็นกองทุนทาร์เกตฟันด์และจะพิจารณาลงทุนในตราสารทุนที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีประวัติหรือประเมินว่ามีโอกาสที่จะมีอัตราการเจริญเติบโตของกำไร 10% ต่อปีขึ้นไป หรือมีกระแสเงินสดเพียงพอ หรือมีการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ
นายบุญชัย เกียรติธนาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ธนชาต จำกัด เปิดเผยว่า หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณลด QE ตลาดหุ้นในประเทศเกิดใหม่ รวมทั้งไทยเมื่อช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากการไหลออกของเงินลงทุน ทำให้ระดับราคาของตลาดหุ้นไทยปรับตัวต่ำลง บริษัทเห็นว่าถึงช่วงที่น่าจะเป็นโอกาสในการลงทุน อยู่ในจุดที่สมเหตุสมผล มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ เพราะภาคธุรกิจอุตสาหกรรมไม่ได้มีปัจจัยพื้นฐานอะไรเปลี่ยนแปลง
กำไรของบริษัทจดทะเบียนจะเติบโต 15% ในปี 2556 และเติบโต 11% ในปี 2557 โดยหุ้นกลุ่มเป้าหมายคือหุ้นที่ราคามีโอกาสจะปรับตัวขึ้นดีกว่าตลาดโดยรวม รวมทั้งการหาจังหวะในการเข้าลงทุน การปรับพอร์ตตามสภาพตลาด และการเลือกหุ้นจะเปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลา เพื่อให้มีโอกาสได้ผลตอบแทนตามเป้าหมาย
ทั้งสองกองทุนถือเป็นกองทุนที่น่าสนใจทีเดียว ส่วนใครที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ ยังมีกองทุนตราสารหนี้ให้เลือกลงทุนกันอีกเช่นเคย โดยฟินันซ่าเปิดขายกองตราสารหนี้ระยะสั้น 6 เดือน ให้ผลตอบแทน 3.05% ต่อปี ตราสารหนี้พลัสโรลโอเวอร์ 6 เดือน 1 (FAM FIPR6M1) ขณะที่บลจ.กสิกรไทยเปิดขาย 2 กองทุน ทั้งอายุ 3 เดือน และ 6 เดือน พร้อมนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ประกอบด้วย กองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ 3 เดือน ดีซี (KFI3MDC) โอกาสรับผลตอบแทนหลังหักค่าใช้จ่ายกองทุนที่ 3.00% ต่อปี และกองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ต่างประเทศ 6 เดือน เอเอช (KFF6MAH) ประมาณการผลตอบแทนหลังหักค่าใช้จ่ายกองทุนที่ 3.10% ต่อปี โดยผู้ลงทุนบุคคลธรรมดาไม่ต้องเสียภาษี
ส่วนสัปดาห์หน้าคงต้องติดตามกันต่อไปว่าสถานการณ์การลงทุนบ้านเราจะเป็นอย่างไร แต่ที่น่าจับตาคือตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวดีขึ้นได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่ เพราะมีทั้งเรื่องคิวอี และความขัดแย้งในซีเรียให้ต้องกังวลกันเอาเป็นว่าจะทำอะไรให้รอบคอบ และกระจายความเสี่ยงกันหน่อยละกัน