บมจ.เมืองไทยประกันภัยยิ้มแก้มปริ ผลงาน 6 เดือนแรกเบี้ยประกันภัยรวมทะลุเป้า 4.1 พันล้านบาท ครึ่งปีหลังตั้งเป้าเบี้ยประกันรับโตอีก 4.7 พันล้านบาท เผยพอร์ตลงทุนเน้นหุ้น 25% ตราสารหนี้ 49% เงินฝากธนาคาร 26% ครึ่งปีหลังเตรียมบุกตลาดรถใหญ่รองรับ AEC
นางนวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ MTI เปิดเผยผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปี 2556 ว่า บริษัทมีผลกำไรอยู่ที่ 452.14 ล้านบาท ถือว่าสูงมากที่สุดตั้งแต่จัดตั้งบริษัทมา และถ้าเทียบกับช่วงปีเดียวกันของปีที่ผ่านมาบริษัทขาดทุนสุทธิที่ 630.9 ล้านบาท ถือว่ามีการเติบโตเพิ่มขึ้น 177.7% โดยมีเบี้ยประกันภัยรวมที่ 4,130.4 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 499 ล้านบาท
โดยผลกำไรมาจากการขยายช่องทางการขายของประกันภัยทั่วไปด้านรถยนต์และประกันภัยอื่นๆ โดยมีเบี้ยประกันภัยที่ถือเป็นรายได้จำนวน 2,611.5 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 27.24%
ขณะเดียวกัน บริษัทมีรายได้และกำไรจากการลงทุนในหลักทรัพย์ 215 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัยทั้งหมด 1,974.25 ล้านบาท และมีกำไรจากการประกันภัย 422.66 ล้านบาท ทั้งนี้บริษัทมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 662.85 ล้านบาท มีกำไรก่อนหักภาษี 606.21 ล้านบาท
“สัดส่วนการลงทุนแบ่งออกเป็น ตราสารทุน 25% ตราสารหนี้ 49% เงินฝากธนาคาร 26% ทั้งนี้ การลงทุนในหุ้นจะเป็นไปตามนโยบายของบริษัท โดยจะลงทุนหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานที่ดี ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ พลังงาน ค้าปลีก และขนส่ง ส่วนตราสารหนี้จะเข้าไปลงทุนที่มีอายุระยะสั้น และมีการจัดอันดับไม่ต่ำกว่า A-” นางนวลพรรณกล่าว
นางนวลพรรณกล่าวต่อไปว่า สาเหตุที่ปีก่อนหน้านี้มีผลกำไรขาดทุนเนื่องจากว่าบริษัทมีการบันทึกสินไหมกรณีเหตุการณ์อุทกภัยจากที่ได้รับรายงานระหว่างงวดเป็นจำนวน 1,040 ล้านบาท ซึ่งมีผลกระทบต่อขาดทุนสุทธิหลังภาษีประมาณ 800 ล้านบาท โดยในปีนี้สินไหมดังกล่าวเมื่อจ่ายชำระผู้เอาประกันไปแล้วเป็นส่วนใหญ่สามารถปรับลดลงได้ ทำให้บริษัทปรับปรุงลดค่าใช้จ่ายสินไหมลง 128.6 ล้านบาท
โดยในช่วงครึ่งปีหลังบริษัทตั้งเป้าหมายอัตราการเติบโตของเบี้ยประกันรับตรงอยู่ที่ 4,700 ล้านบาท โดยแบ่งสัดส่วนเป็นประกันรถยนต์ 45% และเป็นประกันภัยทั่วไป 55% โดยจะกำหนดทิศทางนโยบายผ่านช่องทางทุกด้าน โดยเฉพาะช่องทางผ่านแบงก์แอสชัวรันซ์ถือว่าเป็นช่องทางรายได้หลักของบริษัท และเป็นการขายผ่านช่องทางนี้มากที่สุด โดยมีพันธมิตรหลักคือ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารเกียรตินาคิน ธนาคารทิสโก้ และธนาคารอิสลาม
“ปีที่ผ่านมานโยบายรถยนต์คันแรกทำให้บริษัทได้รับอานิสงส์มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่องทางธุรกิจรถยนต์และตัวแทนจำหน่าย ส่งผลให้เรามีการขยายงานไปยังรถใหญ่เพิ่ม เพื่อเป็นการรองรับ AEC การทำรถใหญ่จะมีรอสเรโชค่อนข้างสูง เราต้องมีการพิจารณากันอย่างรอบคอบ” นางนวลพรรณกล่าว
นางนวลพรรณกล่าวเพิ่มเติมว่า ปีที่ผ่านมาบริษัทขาดทุนอยู่ประมาณ 800 ล้านบาท ซึ่งมาจากกรณีเหตุการณ์อุทกภัยทำให้ไม่ได้จ่ายปันผล แต่อย่างไรก็ตามในปีนี้มีโอกาสจ่ายเงินปันผลให้นักลงทุนหากผลประกอบการมีกำไรสุทธิเป็นที่น่าพอใจ แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทต้องตั้งสำรองอื่นๆ เช่นกรณีการตั้งสำรองคดีกลุ่มผู้ชุมนุมทางเมืองช่วงที่มีการเผาสถานที่หลายแห่ง ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนของศาล ทั้งนี้ หากคณะกรรมการได้ข้อสรุปในเรื่องกำไรของบริษัทและการตั้งสำรองเป็นที่เสร็จสิ้นจึงจะพิจารณาจ่ายเงินปันผลได้
ด้านนายวาสิต ล่ำซำ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับภาพรวมธุรกิจครึ่งปีแรกถือว่ามีการเติบโตสูงอยู่ที่ 25% โดยมาจากการส่งมอบรถยนต์คันแรก คาดว่าครึ่งปีหลังจะไม่เติบโตเท่าครึ่งปีแรก แต่ยังสามารถโตได้อีก 10-15% โดยเบี้ยทั้งปีมองว่าน่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 200,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซี่งในช่วงครึ่งปีแรกมีเรื่องนโยบายรถคันแรก มาในครึ่งปีหลังนโยบายภาครัฐเกี่ยวกับผู้บริโภคยังคงค่อยๆ ทยอยออกมา
ขณะที่นางปุณฑริกา ใบเงิน รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลังนี้บริษัทมีแผนที่จะขยายธุรกิจประกันภัยรถบรรทุกสินค้า หรือประกันภัยรถขนาดใหญ่เพื่อเป็นการรองรับ AEC ที่จะมีขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้านี้ ทั้งนี้ สาเหตุที่ต้องขยายธุรกิจประกันภัยรถขนาดใหญ่ เนื่องจากว่าเมื่อเป็น AEC แล้วการขนส่งสินค้าด้านรถใหญ่จะมีมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันการเปิดขายประกันประเภทรถขนาดใหญ่เพิ่งได้มีการเริ่มต้นขึ้น โดยปัจจุบันคู่แข่งจะมีแค่ทิพยประกันภัย สินมั่นคง และวิริยะ และคาดว่าก่อนเปิด AEC จะมีเพิ่มมากขึ้น