xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต.ลงดาบอดีต ผจก.กองทียูโดม หลังบริหารผิดกฎ-ปลอมแปลงเอกสาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ก.ล.ต.ลงดาบนายมาริศวน์ ท่าราบ (ชื่อเดิมนายมาริษ ท่าราบ) อดีตกรรมการผู้จัดการ บลจ.ไอเอ็นจี และผู้จัดการกองทุนที ยู โดม กรณีทุจริตต่อหน้าที่ ทำให้ทรัพย์สินของกองทุนเสียหาย และทำบัญชีเท็จ
 

ก.ล.ต.กล่าวโทษ (1) นายมาริศวน์ ท่าราบ (ชื่อเดิมนายมาริษ ท่าราบ) อดีตกรรมการผู้จัดการ บลจ.ไอเอ็นจี และผู้จัดการกองทุน ที ยู โดม (2) นายบุริม ชมภูพล อดีตผู้จัดการกองทุน ที ยู โดม (3) บริษัท บาเนีย จำกัด และ (4) นายสุทธภา เขมพฤทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บาเนีย จำกัด ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ

ก.ล.ต.ตรวจสอบการดำเนินงานตามปกติ (routine inspection) พบว่า การบริหารจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ที ยู โดม เรสซิเดนท์เชียล คอมเพล็กซ์ หรือกองทุนที ยู โดม ซึ่งอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด (บลจ.ไอเอ็นจี) ไม่เป็นไปตามโครงการจัดการการลงทุนของกองทุนรวมดังกล่าว และไม่เป็นไปตามข้อกำหนดที่ออกตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งนำไปสู่การพิจารณาลงโทษ บลจ.ไอเอ็นจี นายมาริศวน์ และนายบุริม ซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุนที ยู โดม ในขณะนั้นไปแล้ว

จากการขยายผลการตรวจสอบ ก.ล.ต.พบพยานหลักฐานน่าเชื่อว่า ระหว่างวันที่ 5 มกราคม 2552 ถึงวันที่ 27 มีนาคม 2552 นายมาริศวน์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บลจ.ไอเอ็นจี และปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้จัดการกองทุน ที ยู โดม และนายบุริม ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้จัดการกองทุน ที ยู โดม ได้กระทำการโดยทุจริตต่อหน้าที่ ดำเนินการให้กองทุน ที ยู โดม จ่ายเงินจำนวน 10.4 ล้านบาทให้แก่บริษัท บาเนีย จำกัด โดยอ้างว่าเป็นการจ้างเหมาตกแต่งภายในบางส่วนของอาคารที่เป็นทรัพย์สินของกองทุน ซึ่งไม่ตรงต่อความเป็นจริง ทำให้กองทุน ที ยู โดม ได้รับความเสียหาย และปลอมแปลงหรือลงข้อความในเอกสารและหลักฐานประกอบการเบิกเงินอันเป็นเท็จ เพื่อลวงบุคคลใดๆ โดยได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจากบริษัท บาเนีย จำกัด และนายสุทธภา เขมพฤทธิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท บาเนีย จำกัด อันเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 307, 308, 311, 312, 313 และ 315 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 86 ประมวลกฎหมายอาญา ก.ล.ต.จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 4 รายต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อให้พิจารณาสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต.เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นอำนาจและดุลพินิจของศาลยุติธรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น