“ตลาดทุน” จับตา “เวิร์กชอป” เข็นมาตรการใหม่กระตุ้น ศก.โตได้ต่อเนื่อง “วรพล” ย้ำต้องเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ลดต้นทุนผลิต ราคาสินค้า เพื่อเพิ่มกำลังซื้อ ลดค่าใช้จ่ายประจำวัน “รวงข้าว” แนะไม่ควรออกมาตรการเพิ่มเติม เพราะมีเรื่องของต้นทุน และต้องแลกกับวินัยทางการเงินการคลัง เชื่อยังมีแรงส่งเหลือจากมาตรการเดิมอยู่แล้ว
นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยถึงแนวทางฟื้นความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจเพื่อให้เติบโตได้ต่อเนื่อง โดยระบุว่า รัฐบาลจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นลำดับแรก เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง ลอจิสติกส์ ซึ่งหากโครงสร้างระบบขนส่งมวลชนเข้าถึงผู้บริโภค ต้นทุนค่าใช้จ่ายประจำวันจะลดลง ผู้บริโภคก็จะมีกำลังซื้อมากขึ้น มีการใช้จ่ายมากขึ้นตามไปด้วย
นอกจากนี้ หากประเทศไทยลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ก็เป็นการเตรียมรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพราะประเทศไทยมีภูมิประเทศที่เหมาะเป็นศูนย์กลางอาเซียน และที่ผ่านมาไม่ได้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศนานแล้ว ทำให้ระบบโครงสร้างพื้นฐานล้าหลังประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น จำเป็นที่ต้องปรับโครงสร้างพื้นฐานให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ
นายจงรัก รัตนเพียร ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย จำกัด กล่าวถึงการที่รัฐบาลจะจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์กชอป) ในวันพรุ่งนี้ (12 ก.ค.) เพื่อประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง และเตรียมหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เติบโตในอัตราที่ชะลอลง โดยมองว่า ไม่มีความจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
ทั้งนี้ เนื่องจากภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวเกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ทำให้ผลกระทบต่อการส่งออกของไทยโดยตรง แต่การที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ร้อยละ 4 ในปีนี้ ก็ถือเป็นการเติบโตที่น่าพอใจ และเห็นว่าการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมีต้นทุน และต้องแลกกับวินัยทางการเงินการคลัง
นอกจากนี้ ยังเชื่อว่ายังมีแรงกระตุ้นเหลืออยู่จากมาตรการเดิมของรัฐบาล แต่รัฐบาลต้องดำเนินโครงการ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และโครงสร้างพื้นฐาน 2.2 ล้านล้านบาท ให้เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งเมื่อมีการลงทุนดังกล่าวก็จะมีการจ้างงาน สร้างรายได้ และกระตุ้นการบริโภคให้เพิ่มขึ้น ซึ่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมีความจำเป็นสำหรับประเทศไทย และถือเป็นการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศในระยะยาว