ผมได้ตั้งข้อสังเกตว่า คนไทยจำนวนมากยังกังวลกับดัชนีตลาดหุ้นประมาณ 1,700 จุด อาจเป็นเพราะเห็นว่าจุดสูงสุดของวันสูงสุด อยู่ที่ 1,789 จุด ณ วันที่ 4 มกราคม 1994 โดยอาจห่วงว่า หากดัชนีหุ้นไทยไปอยู่ใกล้ๆ 1,789 จุดอีกก็จะเป็นจุดสูงสุดอีก และจะตกลงแรงอีก เหมือนช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง และอาจกังวลว่าค่าเงินบาท หากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นไปถึง 26 บาท/ดอลลาร์อีกครั้ง ประเทศไทยต้องลำบากอีกแน่นอน
ผมคิดว่า เราควรเข้าใจว่าอะไรคือเหตุที่แท้จริง เราจึงจะเข้าใจวิธีแก้ไขปัญหาให้ได้ผล ผมจึงอยากเสนอแนวความคิดบางประเด็น ดังนี้ครับ
1. กลัวอะไรกับดัชนี 1,700 จุด ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ใกล้ๆ 1,600 จุด นั้น นับว่าอยู่ในระดับเกือบสูงสุดในประวัติศาสตร์ โดยมีเพียงประมาณ 1 เดือนเท่านั้น ที่ดัชนีอยู่สูงกว่าช่วงนี้ คือเดือนมกราคม 1994 ซึ่งในวันที่สูงสุดในช่วงนั้น มีดัชนีสูงสุด 1,789 จุด แต่หากเปรียบกันจริงๆ เราจะพบความแตกต่างหลายประการ
ก) ช่วงนั้น มีเงินปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (มาร์จิ้นโลน) ประมาณ 1.2 แสนล้านบาท แต่ปัจจุบันเพียงประมาณ 5-5.5 หมื่นล้านบาท เท่านั้น ไม่ถึงครึ่งของช่วงสูงสุด
ข) ช่วงนั้น มีขนาดตลาดหลักทรัพย์สูงสุดประมาณ 3.5 ล้านล้านบาท แต่ปัจจุบันสูงประมาณ 13.5 ล้านล้านบาท แสดงว่า ขนาดตลาดใหญ่ขึ้น กว่า 3 เท่า แต่ขนาดลูกโป่งคือเงินกู้ยังต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งครั้งที่แล้ว
ค) ช่วงนั้น พีอีเรโช ของตลาดอยู่ประมาณ 20 เท่า คิดเป็นผลตอบแทนคือ 1/PER = 1/20 = ผลตอบแทน 5% แต่ปัจจุบันพีอีเรโชอยู่ประมาณ 14 เท่า นั่นคือ ผลตอบแทนปีปัจจุบันเป็น 1/14 = 7% โดยประมาณ
เพื่อความเข้าใจ พีอีเรโช คือ P/E คือ ราคา/กำไรต่อหุ้น ... P/E 20 เท่า หมายถึง กำไรต่อหุ้น 1 บาท เราจ่ายค่าหุ้น 20 บาท คิดเป็นผลตอบแทนการลงทุน 1/20 = 5% ส่วนหนึ่งจ่ายเป็นปันผล อีกส่วนเก็บไว้โต ก็เป็นของเจ้าของหุ้นอยู่ดี
ง) ยิ่งไปกว่านั้น ช่วงนั้น ดอกเบี้ยฝากธนาคารสูงถึง 10% แต่ ปัจจุบัน เพียงประมาณ 3% เท่านั้น
...ช่วงวิกฤต พีอีเรโช 20 เท่า ผลตอบแทนหุ้น 5% ต่ำกว่าฝากธนาคารที่ 10% พอสมควร...แต่
...ช่วงปัจจุบัน พีอีเรโช 14 เท่า ผลตอบแทนหุ้น 7% ยังสูงกว่าฝากธนาคารที่ 3% มิได้มีสภาพที่ตลาดหุ้นแพง ผลตอบแทนน้อย เมื่อเทียบกับฝากธนาคารเหมือนแต่ก่อน
แต่แน่นอน ตลาดหุ้นไทย ก็ไม่สามารถเดินหน้าสู่ 1,700 จุดได้ ถ้าตลาดโลกไม่ได้ขึ้นไปด้วยกัน พีอีเรโชของเราจะสูงโดดเด่นกว่าเขาก็คงเป็นไปได้ยาก นักลงทุนจึงต้องติดตามสภาวะการลงทุนต่างประเทศควบคู่กันไปด้วย
2.กลัวอะไร กับ ค่าเงินบาท 26 บาท/ดอลลาร์ สรอ. เช่นเดียวกัน ก่อนลูกโป่งแตก ค่าเงินบาท เคยอยู่แถวๆ 25-26 บาท/ดอลลาร์ สรอ. แต่ก็ไม่ได้แปลว่า ถ้าตอนนี้ สหรัฐอเมริกา และ ยุโรป ยังไม่พ้นวิกฤต แล้วค่าเงินบาท กลับไปแถวๆ 25-26 บาทอีกครั้ง มันจะต้องระเบิดอีกครั้ง
ตอนนั้น ประเทศย่ำแย่ เพราะหลายสาเหตุ ทั้ง
... cyclical คือ ขึ้นลงตามรอบวัฏจักรเศรษฐกิจ
... bubble คือ สภาพลูกโป่งพองตัว จนกลายเป็นฟองสบู่ และแตกในที่สุด
... structural คือ เราแข่งขันไม่ได้ ค่าเงินเราแข็ง ต้นทุนเราสูง แข่งกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีน เวียดนามไม่ได้
และทุนสำรองของเราหดหาย ค่าเงินบาทจึงต้องอ่อนอย่างน่ากลัว จนถึงจะประมาณ 55 บาท/สรอ. แต่เราก็ค่อยๆปรับกลับมาที่ 42 บาท 40 บาท 37 บาท 34 บาท 32 บาท 30 บาท 29 บาท ทุกครั้งที่ลงมา แรกๆ ผมก็ห่วงมากว่า แล้วจะยืนได้หรือ ? แล้วจะส่งออกแข่งขันได้หรือ ?
แต่คนไทยเราเก่งขึ้นครับ แม้ค่าเงินแข็งขึ้น เราก็ยังส่งออกได้ดี ท่องเที่ยวแน่นขนัด ผมมองแบบคณิตศาสตร์ จาก 29 บาท ไป 26 บาท มันอีกเพียง 10% เท่านั้น มันยากพอๆกับจาก 42 มา 37 จาก 37 มา 34 จาก 34 มา 31 ฯลฯ ตราบเท่าที่เรายังรักษาความเก่งของเราไม่มีอะไรน่ากลัว
เรา (เคย) เป็นแชมป์ส่งออกข้าวมากเป็นสิบๆปี (ถ้าเราไม่มีมาตรการที่ทำให้ตัวเองแข่งขันในการส่งออกข้าวด้อยลง) เราแข็งแกร่งมาก ด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมอิเลคโทรนิคส์ ฯลฯ เมืองไทยยังน่าท่องเที่ยวอยู่เสมอ
ยิ่งตอนนี้ ประเทศใหญ่ๆ ยังใช้มาตรการประเภท Quantitative Easing คือ “พิมพ์เงิน” อย่างต่อเนื่องในภาษาชาวบ้าน ก็เพิ่มปริมาณเงิน มูลค่าของเงินเขาก็ต้องลง ค่าเงินของเราแข็งค่า ก็ย่อมเป็นเรื่องธรรมดา ตราบเท่าที่ เรายังพยายามดูว่า เรายังส่งออกได้หรือไม่ ท่องเที่ยวได้หรือไม่
ในที่นี้ ต้องขอขอบพระคุณบรรดาผู้ส่งออก และ ผู้ทำธุรกิจท่องเที่ยว ทำให้ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด มีดอลล่าร์เพิ่มขึ้น และค่าเงินแข็งขึ้น ทำให้ช่วยเติมน้ำมันถูกกว่าถ้าค่าเงินแพง เช่น 40 บาท/ดอลลาร์ น้ำมันที่ลิตรละประมาณ 29 บาท/ลิตร จะกลายเป็น 40 บาท/ลิตร ทันที และค่าครองชีพต่างๆจะแพงขึ้น ด้วยต้นทุนค่าขนส่งที่แพงขึ้น
3.ควรกลัว “ลูกโป่ง” ปัญหา “ลูกโป่ง” ในยุควิกฤตต้มยำกุ้ง คือ การกู้เกินตัว ใช้จ่ายเกินตัว เก็งกำไรเกินตัว เป็นฟองสบู่ในวงการหุ้น และอสังหาริมทรัพย์ ทำให้เกิดหนี้ด้อยคุณภาพจำนวนมากในวงการสถาบันการเงิน ภาครัฐเองก็มีการใช้ งบประมาณแบบ “ขาดดุล” มาหลายปี การก่อหนี้ในทุกระดับ ทำให้เราไม่แข็งแรง
ปัจจุบัน นอกจากระดับการก่อหนี้ภาครัฐแล้ว ก็เริ่มมีสัญญาณ การสร้างหนี้จำนวนมาก จนเริ่มมีกลิ่นอายของการสะสมลูกโป่งในการเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ทั้งใน กทม. และในหลายๆจังหวัด ทั้ง บ้าน ที่ดิน คอนโดฯ การลดดอกเบี้ยก็เป็นไปได้ แต่จะลดมากหรือน้อย หรือไม่ลด ก็คงต้องดูด้วยว่า จะเอื้อให้เกิดการสะสม “ลูกโป่ง” จนน่ากลัวหรือไม่
4.ควรกลัวโกงชาติ มีผู้ใหญ่ทางการเมือง (คือ คุณ เสนาะ เทียนทอง) ได้เปิดโปงว่า ในยุคนั้น มีนักการเมืองทรงอำนาจ โกงด้วยการเผาบ้านเมืองเอาประกัน ค่าเงินบาทลอยตัว ประเทศล่มจม คนไทยขาดทุนทั้งบ้านทั้งเมือง แต่มีนักการเมืองโกงชาติ ได้กำไรค่าเงินมากมาย สอดคล้องกับเรื่องกองทุนลับต่างๆในต่างประเทศ เช่น “วินมาร์ค”
อย่าให้การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน เป็นเรื่องที่ถูกครอบงำโดยเพียงนักการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีกองทุนสินทรัพย์ในต่างประเทศมากมาย ยุคโน้น จากกองทุนสำรองที่เราเคยมีประมาณ 4 หมื่นล้านเหรียญสรอ. ตอนปลายรัฐบาลบิ๊กจิ๋ว (ซึ่งมี อดีตนายกฯคนดัง เป็นรองนายกฯด้วย) เหลือสถานะสุทธิเพียง 7 พันล้านเหรียญ ! และประเมินไม่ออกว่า กองทุนลับในต่างประเทศอย่างวินมาร์ค และอื่นๆได้กำไรค่าเงินบาทจากการอ่อนค่าไปเท่าไร !
ผมจึงขอถือโอกาส ให้กำลังใจกับ ระบบ “ศาลยุติธรรม” ไทย ที่ปกป้อง ช่วยลดปัญหาการ “โกงชาติ” หากคนไทยจำนวนหนึ่ง อยากลดอำนาจศาล ขออย่าใช้ “กำลัง” ของคนหมู่มากครับ ทุกท่านดูเหมือนจะต่อต้านศาลด้วย “ปัญญา” ก็ขอให้ใช้ปัญญากันครับ
เอาคดีต่างๆ ให้โอกาสผู้ที่เห็นว่าไม่ยุติธรรมกลับมาชี้แจงได้ อย่างคดี “ยึดทรัพย์” ให้อดีตนายกฯ กลับมาชี้แจงได้เลยว่า ไม่มีการซุกหุ้น ไม่มีการสร้างหนี้ปลอม โอนหุ้นออกไปจริง ไม่ได้ทำผิดรัฐธรรมนูญปี 2540 เลย ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็พ้นผิดครับ ไม่ต้องยุยงคนไทยให้แตกแยก และใช้กำลังละเมิดต่อศาลเลยครับ !
ขอเป็นกำลังใจให้ผู้พิพากษาทุกท่าน ที่อุทิศตนเพื่อแผ่นดินด้วยครับ
มนตรี ศรไพศาล (montree4life@yahoo.com; www.oknation.net/blog/richwithlove; @montrees)