บลจ.แมนนูไลฟ์ (ประเทศไทย) แนะลูกค้าหลังเกษียณลงทุนกองทุนรวมให้ผลตอบแทนเยี่ยมกว่าเงินฝาก
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) เปิดเผยผลวิเคราะห์ความมั่นคงด้านรายได้หลังเกษียณของครัวเรือนผู้สูงอายุใน 5 เขตเศรษฐกิจเอเชีย พบว่า ครัวเรือนในประเทศและเขตการปกครองเหล่านี้มีระดับความมั่งคั่งทางสินทรัพย์ที่สะสมไว้ค่อนข้างสูง และให้ความเห็นว่า หากบริหารสินทรัพย์เหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจะช่วยเสริมแหล่งรายได้หลังเกษียณอื่นๆ ได้อย่างมีนัยสำคัญ
โดย 5 เขตเศรษฐกิจเอเชียที่ทำการสำรวจได้แก่ ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ และไต้หวัน ซึ่งก้าวสู่ระดับที่มีการปันผลทางประชากรสูง กล่าวคือ มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่ก้าวจากวัยทำงานเข้าสู่วัยเกษียณค่อนข้างสูง ซึ่งสามารถสร้างรายได้ในระดับที่สูงกว่าการบริโภค มีการ
ออมและการลงทุนเพิ่มขึ้น และโดยทั่วไปจะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งมีความมั่งคั่งทางสินทรัพย์ของครัวเรือนอยู่ในระดับที่น่าสนใจ
ทั้งนี้ผลวิจัยเผยว่า สถานการณ์เช่นนี้เกิดจากความท้าทายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับส่วนประกอบสำคัญของความมั่นคงด้านรายได้หลังเกษียณ 5 ประการ ได้แก่ เงินเดือนและค่าจ้าง สวัสดิการภาครัฐ ผลประโยชน์จากกองทุนบำนาญ การช่วยเหลือจากครอบครัว และรายได้จากความมั่งคั่งทางสินทรัพย์ของครัวเรือน
นายต่อ อินทวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ผู้สูงอายุหลายครัวเรือนในประเทศไทยประสบภาวะเช่นเดียวกับในเขตเศรษฐกิจทั้ง 5 ที่เข้าสำรวจ คือ ร่ำรวยด้วยสินทรัพย์ แต่รายได้หลังเกษียณต่ำ ครัวเรือนที่อยู่ในสถานการณ์ดังกล่าวจึงมีทางเลือกไม่มากนัก นอกจากต้องขายทรัพย์สินที่สะสมไว้ เช่น อสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน และโภคภัณฑ์ หรือเบิกเงินประกันชีวิตหรือเงินฝากธนาคารเพื่อนำไปใช้จ่ายในช่วงวัยเกษียณ โดยเฉพาะในครัวเรือนที่ไม่มีทรัพย์สินสะสมไว้มาก ก็อาจเผชิญกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นสำหรับผู้เกษียณที่มีอายุยืนยาวอาจไม่มีรายได้พอใช้
ไม่ว่าจะมีความมั่งคั่งระดับใด ครัวเรือนต่าง ๆ สามารถบริหารสินทรัพย์ให้เกิดประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพได้ โดยการจัดสรรประเภทสินทรัพย์ใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นวิธีการเปลี่ยนจากเงินออมหรือเงินฝากธนาคารมาเป็นการลงทุนในตราสารทุน ตราสารหนี้ หรือ ผลิตภัณฑ์ที่มีการกระจายลงทุนสินทรัพย์หลายประเภท (Asset Allocation) โดยมีสินทรัพย์หลายประเภทด้วยกันที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ผู้ลงทุน
อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ได้เริ่มเกิดขึ้นบ้างแล้วในประเทศไทยผ่านการการลงทุนในกองทุนรวม เราพบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมกองทุนรวมในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 500 จาก 0.435 ล้านล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2545 เป็น 2.614 ล้านล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2555 ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ผู้ลงทุนได้มองหาทางเลือกต่างๆ ในการลงทุนที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร ซึ่งอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์และในบางเวลา ผลตอบแทนที่แท้จริงอาจถึงขั้นติดลบเมื่อพิจารณาถึงอัตราเงินเฟ้อด้วย