xs
xsm
sm
md
lg

เงินปอนด์...เป้าหมายต่อไปของ จอร์จ โซรอส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดยทีมงานจัดการกองทุนบัวหลวง
ศิรารัตน์ อรุณจิตต์

จอร์จ โซรอส….หรือที่เรารู้จักเขาในฐานะ “พ่อมดการเงิน” เราคงจะคุ้นหูกันดีเพราะเคยทำกำไรมหาศาลจากการโจมตีค่าเงินบาทและสกุลเงินของอีกหลายชาติในเอเชียมาแล้วเมื่อช่วงวิกฤตการเงินในเอเชีย ซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่ประเทศไทยในปี 2540

(เตรียม) โจมตี....“ขิงยิ่งแก่ยิ่งเผ็ด” ต้องยกให้ปู่จอร์จผู้นี้ แม้อายุจะใกล้ 83 ปีแล้ว แต่ความเก๋ายังเยอะ ซึ่งล่าสุดมีรายงานช่วงกลางเดือน ก.พ.ว่าเขาสามารถทำเงินเข้ากระเป๋าตัวเองได้เกือบ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 29,840 ล้านบาท) เมื่อเดือน พ.ย.ปีที่ผ่านมา จากการเข้าเก็งกำไรค่าเงินเยนของญี่ปุ่นหลังจากเยนอ่อนค่าลงกว่า 17% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐนับตั้งแต่ต้นไตรมาส 4 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตเงินเยนอ่อนค่าที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายปี 2528 เป็นต้นมา การโจมตีหรือเก็งกำไรค่าเงินของเขาจะเป็นไปในหลายรูปแบบ

ซึ่งกรณีล่าสุด หลังจากปู่จอร์จพิจารณาแล้วว่าญี่ปุ่นจะต้องแก้ปัญหาสถานการณ์ด้านค่าเงินแน่ๆ ก็มีการเก็งกำไรค่าเงินเยนล่วงหน้าและการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ที่จะได้ประโยชน์จากการอ่อนค่าของเงินเยน ซึ่งต่อมาธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ก็ใช้มาตรการด้านการเงินเพื่อเอาชนะภาวะเงินฝืดตามแรงกดดันของรัฐบาลใหม่ซึ่งนำโดยนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ตามคาด

เงินปอนด์....สกุลเงินของประเทศอังกฤษในวันนี้กำลังเผชิญกับความยากลำบากในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ที่เมื่อภาคการคลังตึงตัว ภาคการเงินก็ต้องช่วยผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้อังกฤษสูญเสียความน่าเชื่อถือระดับสูงสุดไปเมื่อปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา โดย Moody’s ลดอันดับของอังกฤษลง 1 ขั้น จาก Aaa สู่ Aa1 ขณะที่ Standard & Poor และ Fitch Rating ยังคงอันดับ AAA แต่ให้มุมมองเชิงลบไว้ ซึ่งสะท้อนแนวโน้มว่ามีโอกาสที่จะถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลงได้

การเทขายเงินปอนด์ของจอร์จ โซรอส เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อปี 2535 เพราะเขาเชื่อว่าค่าเงินปอนด์จะอ่อนค่าลง ซึ่งเขาสามารถทำกำไรได้นับพันล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำให้ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) เกือบประสบภาวะล้มละลาย และทำให้ไม่มีใครลืมชื่อปู่จอร์จผู้นี้

เหตุการณ์ที่ว่านี้เกิดขึ้นเมื่อ 16 ก.ย. 2535 หรือที่รู้จักกันดีในนามว่า “Black Wednesday” อันเป็นวันที่อังกฤษต้องถอนตัวจากการเป็นสมาชิกของระบบกลไกอัตราแลกเปลี่ยนที่เรียกว่า European Exchange Rate Mechanism (ERM) หลังจากที่ไม่สามารถพยุงให้ค่าเงินเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบตามข้อตกลง (ข้อตกลงที่ว่านี้ จะนำค่าเงินสกุลของประเทศสมาชิกมาคำนวณเปรียบเทียบกับเงินสกุลมาร์คของเยอรมนีเพื่อการกำหนดกรอบความเคลื่อนไหว)

ในช่วงเวลานั้น เงินมาร์คแข็งค่ามากจากเงินทุนที่ไหลเข้ามาหลังจากขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับแรงกดดันของเงินเฟ้อ ในขณะที่เศรษฐกิจของอังกฤษกำลังถดถอยอย่างรุนแรง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่อังกฤษจะต้องลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่อังกฤษทำไม่ได้เนื่องจากต้องควบคุมให้ค่าเงินปอนด์อยู่ในกรอบความเคลื่อนไหวตามที่ตกลงไว้กับระบบ ERM ส่งผลให้เงินปอนด์ที่ผูกอยู่กับค่าเงินมาร์คแข็งค่าเกินความเป็นจริง

ความไม่สมดุลของระบบการเงินดังกล่าวในขณะนั้น ทำให้ จอร์จ โซรอส มองเห็นโอกาส จึงได้เข้ามาเก็งกำไรโดยใช้กลยุทธ์ Directional Long/Short Strategy ด้วยการขายชอร์ตเงินปอนด์ และซื้อหรือลงทุนในเงินมาร์คด้วยจำนวนเท่ากัน โดยมีความเชื่อว่าค่าเงินปอนด์จะไม่สามารถดำรงอยู่ที่ระดับสูงดังกล่าวได้ และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในอดีตที่เราต้องเรียนรู้

ส่วนเหตุการณ์ในวันนี้ เมื่อพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ จะพบว่าค่าเงินปอนด์ยังคงเผชิญกับแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่จะยืดเยื้อต่อไป ซึ่งล่าสุด GDP ของอังกฤษในไตรมาส 4 ปี 2555 หดตัวลง 0.3% โดยมีอัตราว่างงานสูงถึง 7.8% และมีหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 70.7% ซึ่งสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจากผลของวิกฤตการเงินที่รัฐบาลต้องก่อหนี้เพิ่มเพื่อเข้าช่วยฟื้นฟูสถาบันการเงินที่ประสบปัญหา ทั้งนี้ Moody’s คาดว่าหนี้สาธารณะต่อ GDP จะพุ่งไปถึงกว่า 96% ในปี 2559

เมื่อฐานะการคลังของอังกฤษกำลังตึงตัว โอกาสที่จะใช้นโยบายการคลังเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจจึงมีน้อยเต็มที ความหวังต่างๆ จึงพุ่งไปที่นโยบายการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินที่มีโอกาสได้เห็นอีก เช่น การพิมพ์ธนบัตรใหม่เพื่อใช้ซื้อสินทรัพย์ประเภทต่างๆ (QE) หรือการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำซึ่งทรงตัวมาตั้งแต่ปี 2552 ที่ 0.50% เพื่อช่วยพยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 2.7% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของ BoE ที่ 2% มาเป็นเวลา 4 เดือนแล้ว

นับจากสิ้นปี 2555 จนถึงสิ้นเดือน ก.พ.เงินปอนด์ได้อ่อนค่าลงมาแล้ว 6.72% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และอ่อนค่า 10.12% เมื่อเทียบกับบาท ซึ่งจากแรงกดดันหลักที่กล่าวมาข้างต้น จึงคาดว่าแนวโน้มค่าเงินปอนด์จะเคลื่อนไหวไปในทิศทางอ่อนค่าได้อีก โดยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนั้น บลจ.บัวหลวง มองเห็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงว่า “การอ่อนค่าของเงินปอนด์จะทำให้มีโอกาสที่เงินทุนไหลมาสู่ภูมิภาคเอเชียรวมทั้งประเทศไทยมากขึ้น เพื่อแสวงหาผลตอบแทนการลงทุนที่ดีกว่า และเห็นเป็นโอกาสที่ไทยจะขยายการลงทุนหรือนำเข้าจากอังกฤษมากขึ้นในช่วงที่ราคาสินค้าของอังกฤษถูกลง” แต่ในขณะเดียวกันนี้ ผู้ที่มีรายรับมาเป็นสกุลปอนด์จะเสียเปรียบ จึงควรหาทางป้องกันความเสี่ยงด้วยวิธีการต่างๆ เช่นการเข้าทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงค่าเงินเพื่อจำกัดความเสี่ยงหรือผลขาดทุนที่จะเกิดขึ้นจากการอ่อนค่าของเงินปอนด์

อย่างไรก็ตาม ถ้าถามถึงความเสี่ยงที่จะเกิดต่อตลาดทุนคงต้องบอกว่า “ไม่น่าเป็นห่วงนัก” เพราะการอ่อนค่าของปอนด์รอบนี้เป็นการอ่อนค่าอย่างมีทิศทางจากพื้นฐานเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย มิใช่การถูกลดค่าเงินฉับพลันอย่างครั้งก่อน และปัจจัยแวดล้อมเริ่มเปลี่ยนไปทั้งสภาพคล่องที่ล้นโลก มาตรการ QE ที่ยังไม่สิ้นสุด สภาวะเงินเฟ้อเริ่มสูง (2.7% มา 4 เดือนติดต่อกัน) ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรค่อนข้างต่ำ (UK gilt 10 ปีประมาณ 2%) สิ่งเหล่านี้ต่างจูงใจให้เงินไหลไปตลาดที่ได้รับผลตอบแทนสูงกว่าแม้ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้น และตลาดหุ้นก็คงยังได้อานิสงส์ไปเต็มๆ (ล่าสุดดัชนี FTSE 100 ทำสถิติสูงสุดใหม่ในรอบ 5 ปีที่ 6,483.58 เมื่อ 8 มี.ค. 56)

อย่าลืมเปิดรับโอกาส…..และปิดความเสี่ยงที่มีด้วยค่ะ


กำลังโหลดความคิดเห็น