xs
xsm
sm
md
lg

เฟดยันดำเนินมาตรการกระตุ้นต่อ และทิศทางการลงทุนในตลาดโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

        ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศว่า เฟดจะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในเชิงรุกต่อไป ถึงแม้เศรษฐกิจสหรัฐปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากอัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูง, เศรษฐกิจได้รับแรงกดดันจากปัญหา
ความขัดแย้งทางการคลังระหว่างรัฐบาลและสภาคองเกรส ขณะที่มีปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ
        ทั้งนี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟด (FOMC) จัดการประชุมในวันที่ 19-20 มี.ค. ในขณะที่สถานการณ์ในยุโรปเลวร้ายลงในช่วงนี้
       แถลงการณ์เฟดแสดงให้เห็นว่า เฟดไม่ได้กังวลว่ามาตรการเข้าซื้อตราสารหนี้ในวงเงิน 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนของเฟดอาจจะก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายในตลาดการเงิน หรืออาจกระตุ้นภาวะฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์
       FOMC ยอมรับว่า เศรษฐกิจสหรัฐส่งสัญญาณในทางบวกมากยิ่งขึ้น แต่นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟด
กล่าวว่า เขายังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในตลาดแรงงานสหรัฐ
        นายเบอร์นันเก้กล่าวในการแถลงข่าวว่า ผู้กำหนดนโยบายส่วนใหญ่ของเฟดเชื่อว่า การเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและหลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสัญญาจำนอง (MBS) ได้ช่วยลดต้นทุนการกู้ยืมระยะยาวในช่วงนี้ และ "ให้แรงหนุนที่สำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการสร้างงาน"
        นายเบอร์นันเก้กล่าวว่า "อย่างไรก็ดี ผู้กำหนดนโยบายส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า เครื่องมือทางการเงินแบบนี้ไม่มีแนวโน้มที่จะสามารถชดเชยแรงกดดันสำคัญทางเศรษฐกิจได้ทั้งหมด เช่น แรงกดดันที่อาจเกิดจากมาตรการคุมเข้มทางการคลังครั้งใหญ่ในระยะอันใกล้นี้ หรือแรงกดดันจากภาวะตึงเครียดในตลาดการเงินโลกที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น"
        เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลงสู่ระดับใกล้ 0 % ในเดือน ธ.ค.2008 และได้เข้าซื้อตราสารหนี้ไปแล้วกว่า 2.5 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อกระตุ้นการบริโภค, การลงทุน และการจ้างงาน
        ความพยายามของเฟดส่งผลสำเร็จให้เห็นในระยะนี้ โดยตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจแข็งแกร่งขึ้น ขณะที่ยอดค้าปลีกในสหรัฐอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเกินคาด และผลผลิตภาคการผลิตเพิ่มสูงขึ้น
ส่วนการจ้างงานเติบโตอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น และอัตราการว่างงานในสหรัฐร่วงลงจาก 7.9 % ในเดือนม.ค. สู่ 7.7 % ในเดือนก.พ.
        นายเบอร์นันเก้กล่าวว่า เฟดอาจจะชะลออัตราการเข้าซื้อตราสารหนี้ ในขณะที่เศรษฐกิจแข็งแกร่งขึ้น อย่างไรก็ดี เฟดจะทำเช่นนี้ก็ต่อเมื่อตลาดแรงงานสหรัฐปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายเดือน
        เจ้าหน้าที่เฟดบางคนแสดงความกังวลว่า มาตรการเข้าซื้อตราสารหนี้อาจเป็นการกระตุ้นภาวะฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์, กระตุ้นภาวะเงินเฟ้อในอนาคต หรืออาจส่งผลให้เฟดมียอดขาดทุนในงบดุลบัญชีในช่วงต่อไปในทศวรรษนี้ อย่างไรก็ดี นายเบอร์นันเก้ไม่ได้ส่งสัญญาณแต่อย่างใดว่า ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้จะกลายเป็นข้อจำกัดที่มีผลผูกพันสำหรับเฟดในเร็วๆนี้
        นายเบอร์นันเก้กล่าวว่า "ต้นทุนเหล่านี้ยังคงอยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้ แต่จะยังคงมีการสอดส่องดูแลต้นทุนเหล่านี้ต่อไป และเราจะนำต้นทุนเหลา่นี้มาใช้ในการพิจารณาอย่างเหมาะสม เมื่อเรากำหนดขนาด,
อัตราความเร็ว และองค์ประกอบในมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ของเรา"
        สมาชิก FOMC ลงคะแนนเสียง 11-1 เพื่อสนับสนุนให้เฟดดำเนินมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ต่อไป โดยนางเอสเธอร์ จอร์จ ประธานเฟดสาขาแคนซัส ซิตี้ลงคะแนนเสียงคัดค้านมติเฟดเป็นครั้งที่สองติดต่อกัน
        การตัดสินใจของเฟดในครั้งนี้ช่วยลดความกังวลของนักลงทุนหลังจากวิกฤติหนี้ยูโรโซนทวีความรุนแรงในระยะนี้ โดยตลาดหุ้นสหรัฐปิดปรับตัวขึ้นเมื่อวานนี้ ในขณะที่ดอลลาร์/เยนแข็งค่าขึ้น และราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐร่วงลง
        นายเอริค สไตน์ จากบริษัทอีตัน แวนซ์ แมเนจเมนท์กล่าวว่า "เฟดยังคงแสดงท่าทีแบบสายพิราบเป็นอย่างมาก และผมไม่คาดว่าเฟดจะถอนนโยบายผ่อนคลายทางการเงินในเร็วๆนี้"
        แถลงการณ์เฟดตั้งข้อสังเกตว่า สัญญาณทางเศรษฐกิจปรับตัวไปในทางบวกมากยิ่งขึ้น แต่มีแรงกดดันที่เกิดจากการคุมเข้มนโยบายการคลังจากรัฐสภาและรัฐบาลสหรัฐ นอกจากนี้ เฟดยังตัดประโยคที่ว่า "แรงกดดันในตลาดการเงินโลกได้ปรับลดลงมาบ้างแล้ว"ออกจากแถลงการณ์เมื่อวานนี้ หลังจากที่เคยบรรจุประโยคนี้ลงไปใน
แถลงการณ์ประจำการประชุมวันที่ 29-30 ม.ค.
        เฟดระบุในแถลงการณ์เมื่อวานนี้ว่า "FOMC ยังคงพบว่าแนวโน้มเศรษฐกิจเผชิญกับความเสี่ยงช่วงขาลง"
        สถานการณ์ในไซปรัสอาจส่งผลให้เฟดมีความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้นในการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป โดยแผนการจัดเก็บภาษีจากเงินฝากธนาคารในไซปรัสส่งผลให้ระบบการเงินโลกเผชิญกับภาวะ
ปั่นป่วนในช่วงต้นสัปดาห์นี้ แต่รัฐสภาไซปรัสปฏิเสธแผนนี้ในเวลาต่อมาและส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนในเรื่องที่ว่า ไซปรัสจะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากต่างประเทศหรือไม่
        นายเบอร์นันเก้กล่าวถึงสถานการณ์ในไซปรัสว่ามีความยากลำบากเนื่องจากไซปรัสกำลังเผชิญกับปัญหาด้านการคลัง และการเพิ่มทุนธนาคารรวมทั้งมีความตึงเครียดทางการเมือง
        นายเบอร์นันเก้กล่าวว่า "สิ่งนี้ส่งผลต่อเนื่องบางประการ แต่แผนเก็บภาษีเงินฝากธนาคารของไซปรัสนี้ไม่สามารถผ่านการโหวตในสภา และตลาดก็ปรับขึ้นในวันพุธ และผมไม่คิดว่าผลกระทบมีความรุนแรงมากนัก"
        เฟดระบุย้ำว่า เฟดจะยังคงรักษาอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับใกล้0 % ต่อไป จนกว่าอัตราการว่างงานจะลดลงแตะระดับ 6.5% และตราบใดที่เงินเฟ้อไม่มีแนวโน้มที่จะพุ่งเกิน 2.5% ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า
        เฟดได้เปิดเผยรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจรายไตรมาสเมื่อวานนี้ด้วย โดยระบุว่า ผู้กำหนดนโยบาย 13 จาก 19 คนยังคงคิดว่า เฟดสมควรที่จะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมจนถึงปี 2015
        รายงานคาดการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า เฟดได้ปรับเปลี่ยนตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงเล็กน้อย แต่เฟดคาดการณ์ในทางบวกมากยิ่งขึ้นต่อตลาดแรงงาน
    เฟดปรับลดประมาณการสำหรับการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐโดยลดลงสู่ 2.3-2.8% ในปีนี้ จากระดับ 2.3-3.0% ที่คาดไว้ในเดือนธ.ค.2012
       ส่วนในปี 2014 เฟดคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว 2.9-3.4% ลดลงจากระดับ 3.0-3.5% ที่คาดไว้ในเดือนธ.ค.2012
       เฟดปรับลดคาดการณ์อัตราว่างงานสู่ระดับ 7.3-7.5% ในไตรมาส 4 ของปีนี้ ลดลงจาก 7.4-7.7% ที่คาดไว้ในเดือนธ.ค.2012 อย่างไรก็ดี เฟดคาดว่าอัตราการว่างงานจะไม่ลดลงสู่ 6.5 %จนกว่าจะถึงปี 2015
       ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ส่งเสริมความเชื่อมั่นในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในสหรัฐ คือตัวเลขการจ้างงานเดือนก.พ. โดยการจ้างงานในสหรัฐเพิ่มขึ้นสุทธิ 236,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ.
        ถ้าหากการจ้างงานในสหรัฐยังคงเติบโตในอัตราเช่นนี้ต่อไปเป็นเวลานานหลายเดือน เฟดก็สามารถอ้างได้ว่า แนวโน้มการจ้างงานได้ปรับตัวดีขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งเท่ากับว่าเฟดได้บรรลุเงื่อนไขในการยุติมาตรการเข้าซื้อตราสารหนี้
      นักเศรษฐศาสตร์ในโพลล์รอยเตอร์คาดว่า มาตรการเข้าซื้อตราสารหนี้ของเฟดรอบปัจจุบันจะมีวงเงินเพิ่มขึ้นสู่ 1 ล้านล้านดอลลาร์ในที่สุด อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์หลายรายคาดว่า เฟดจะชะลอการเข้าซื้อตราสารหนี้ในช่วงก่อนสิ้นปีนี้ นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังคาดการณ์อีกด้วยว่า หลังจากเฟดยุติการเข้าซื้อตราสารหนี้แล้ว ก็จะต้องใช้เวลาอีก1-2 ปีก่อนที่เฟดจะเริ่มต้นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
        นายโอเมอร์ ไอส์เนอร์ หัวหน้านักวิเคราะห์ตลาดของบริษัทคอมมอนเวลธ์ ฟอเรนจ์ เอ็กซ์เชนจ์กล่าวว่า "เฟดให้สัญญาว่าจะดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไป และสัญญานี้น่าจะช่วยพยุงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในสหรัฐ และรับประกันว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะยังคงฟื้นตัวในอัตราที่รวดเร็วกว่าประเทศคู่แข่งรายสำคัญต่อไป"
        บริษัทลิปเปอร์ในเครือธอมสัน รอยเตอร์รายงานว่า นักลงทุนในสหรัฐได้ทุ่มเงินลงทุนเข้าสู่กองทุนที่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ในวงกว้าง หลังจากถอนเงินลงทุนในจำนวนที่สูงเป็นประวัติการณ์ออกจากกองทุนที่เน้นการลงทุนในทอง ในขณะที่ราคาทองดิ่งลง 
        กองทุน ETF ในสหรัฐที่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ในวงกว้างดึงดูดเงินลงทุนได้สูงกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ในเดือนก.พ. ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในรอบเกือบ 1 ปี หลังจากที่เคยมียอดเงินลงทุนไหลออกในเดือนก.ย.-ธ.ค. 2012 โดยกองทุน ETF สำหรับสินค้าโภคภัณฑ์ในวงกว้างเคยมียอดเงินไหลเข้าในระดับสูงกว่า 1 พันล้านดอลลาร์เล็กน้อยในเดือนม.ค. และมีแนวโน้มที่จะมียอดเงินไหลเข้าสุทธิอีกครั้งในเดือนมี.ค.
        ในทางตรงกันข้าม กองทุนโลหะมีค่ามียอดเงินไหลออกเกือบ4 พันล้านดอลลาร์ในเดือนก.พ. หลังจากมียอดเงินไหลออก 765 ล้านดอลลาร์ในเดือนม.ค. โดยยอดเงินไหลออกในเดือนก.พ.นี้ถือว่าเป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการจัดทำตัวเลขนี้ในเดือนพ.ย. 2004 เป็นต้นมา
        เงินที่ไหลออกจากกองทุนโลหะมีค่าเกือบทั้งหมดเป็นเงินที่ไหลออกจากกองทุน SPDR Gold Trust ซึ่งเป็นกองทุน ETF ทองที่ใหญ่ที่สุดในโลก
        ลิปเปอร์รายงานว่า กองทุน ETF โลหะมีค่ามียอดเงินไหลออกกว่า1 พันล้านดอลลาร์ในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือนมี.ค.
        นายแมทท์ เลมิเยอซ์ นักวิเคราะห์ของลิปเปอร์ กล่าวว่า "ถ้าหากคุณไม่ต้องการลงทุนในทองในขณะนี้ และไม่ต้องการจะโยกย้ายเงินทั้งหมดของคุณเข้าสู่หุ้นและผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ให้อัตราผลตอบแทนสูง คุณก็อาจจะเหมาะเข้าลงทุนในกองทุนสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลงทุนในสินค้าหลากหลายและมีการบริหารเชิงรุก"
        อย่างไรก็ดี นายเลมิเยอซ์ตั้งข้อสังเกตว่า กองทุนสินค้าโภคภัณฑ์ในวงกว้างมักจะมีกระแสเงินลงทุนแกว่งตัวผันผวนในอดีต โดยเขากล่าวว่า ความต้องการลงทุนในกองทุนประเภทนี้มักจะขึ้นอยู่กับความเคลื่อนไหวใน
ตลาดพลังงาน, โลหะ และพืชผลทางการเกษตร
        เดือนก.พ.ถือเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันที่กองทุนของบริษัทพิมโคซึ่งเป็นบริษัทผู้ลงทุนในตราสารหนี้รายใหญ่ และกองทุนของบริษัทฟิเดลิตีสามารถครอง 2 อันดับแรกจากทั้งหมดราว 220 อันดับในอันดับกองทุนETF สินค้าโภคภัณฑ์, กองทุนรวม และผลิตภัณฑ์ในสหรัฐที่มีเงินไหลเข้าสูงสุดในแต่ละเดือน โดยลิปเปอร์เป็นผู้จัดทำอันดับเหล่านี้
       กองทุน Commodities PLUS Strategy Fund ของพิมโคมียอดเงินไหลเข้าเกือบ 264 ล้านดอลลาร์ในเดือนก.พ. ซึ่งส่งผลให้กองทุนนี้ครองอันดับหนึ่งในเดือนก.พ. ทางด้านกองทุน Fidelity Series Commodity Strategy Fund มียอดเงินไหลเข้าเกือบ 210 ล้านดอลลาร์ และส่งผลให้ทางกองทุนครองอันดับ 2
        กองทุน 2 แห่งนี้ถือเป็นกองทุนที่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ในวงกว้าง โดยกองทุนประเภทนี้ในสหรัฐมียอดเงินไหลเข้ารวมกันราว 1.1 พันล้านดอลลาร์ในเดือนก.พ. ซึ่งถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่มียอดเงินไหลเข้า 1.9 พันล้านดอลลาร์ในเดือนมี.ค. 2012 เป็นต้นมา
        กองทุนกลุ่มนี้มียอดเงินไหลเข้า 223 ล้านดอลลาร์ในวันที่ 1-13มี.ค.ปีนี้
        ในบรรดากองทุนโลหะมีค่าของสหรัฐนั้น กองทุน SPDR Gold มียอดเงินไหลออก 3.8 พันล้านดอลลาร์ในเดือนก.พ. ซึ่งถือว่าสูงที่สุดอย่างไรก็ดี กองทุน iShares ETF ของบริษัทแบล็คร็อค ซึ่งลงทุนในโลหะเงิน มียอดเงินไหลเข้าเกือบ 260 ล้านดอลลาร์ในเดือนก.พ.
        กองทุนโลหะมีค่ามียอดเงินไหลออกในเดือนนี้ โดยมีเงินไหลออกเกือบ 1.3 พันล้านดอลลาร์ในวันที่ 1-13 มี.ค.
        ในปี 2012 เม็ดเงินราว 70 % ที่ไหลเข้าสู่กองทุน ETFสินค้าโภคภัณฑ์ในสหรัฐเป็นเงินที่ไหลเข้าสู่กองทุน SPDR และกองทุนทองที่บริหารโดย iShares โดยกองทุน SPDR หรือ Spyder Goldมียอดเงินไหลเข้าสุทธิ 5.3 พันล้านดอลลาร์ในปี 2012 ในขณะที่กองทุนiShares Gold ETF มียอดเงินไหลเข้า 2.4 พันล้านดอลลาร์
        เงินที่ไหลเข้าสู่กองทุน ETF สองแห่งนี้ได้รับแรงกระตุ้นมาจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบ 3 (QE3) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ และจากการที่ราคา
ทองพุ่งขึ้นในปี 2012 เป็นปีที่ 12 ติดต่อกัน
        แนวโน้มในตลาดเปลี่ยนแปลงไป หลังจากมีสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐ, ยุโรป และจีนฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยสัญญาณดังกล่าวกระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงนับตั้งแต่ต้นปีนี้ ขณะที่เม็ดเงินลงทุนที่เคยไหลเข้าสู่ทองในฐานะเครื่องมือประกันความเสี่ยง ได้ไหลออกจากทองเพื่อไหลเข้าไปยังตลาดน้ำมัน, โลหะพื้นฐาน และพืชผลทางการเกษตรแทน โดยตลาดหุ้นสหรัฐได้รับแรงหนุนจากกระแสการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงด้วยเช่นกัน และส่งผลให้ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ขึ้นไปทำสถิติสูงสุดใหม่ได้หลายครั้งในปีนี้
        อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในวงกว้างไม่ได้ปรับตัวขึ้นอย่างสม่ำเสมอ โดยดัชนีธอมสัน รอยเตอร์-เจฟฟรีส์ ซีอาร์บี ซึ่งใช้วัดราคาสินค้าโภคภัณฑ์ 19 ประเภท พุ่งขึ้น 3 % ในเดือนม.ค. ก่อนจะดิ่งลงเกือบ4 % ในเดือนก.พ. และทรงตัวในขณะนี้เมื่อเทียบกับช่วงต้นเดือนมี.ค.
        ราคาทองสปอตร่วงลง 0.7 % ในเดือนม.ค. ก่อนจะดิ่งลง 5 %ในเดือนก.พ. แต่ปรับขึ้น 2 % เมื่อเทียบกับช่วงต้นเดือนนี้ โดยราคาทองสปอตขึ้นไปแตะระดับเหนือ 1,610 ดอลลาร์/ออนซ์เมื่อวานนี้ ในขณะที่นักลงทุนต้องการซื้อทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังจากปัญหาในไซปรัสทำให้นักลงทุนกังวลกับเสถียรภาพในยูโรโซน
        อย่างไรก็ดี ราคาทองยังคงอยู่ห่างจากจุดสูงสุดของเดือนม.ค.ซึ่งอยุ่ที่ระดับใกล้ 1,700 ดอลลาร์
        นายอดัม ซาร์ฮาน จากบริษัทซาร์ฮาน แคปิตัล กล่าวว่า"ถ้าหากผมจะลงทุนในกองทุน ETF ผมก็จะยังคงหลีกเลี่ยงการลงทุนในทอง เพราะทุกครั้งที่ราคาทองพยายามพุ่งขึ้นนับตั้งแต่เดือนธ.ค.เป็นต้นมา ก็จะประสบความล้มเหลวทุกครั้ง ส่วนปัญหาในไซปรัสถือเป็นเพียงปัจจัยเล็กปัจจัยเดียวเท่านั้นในขณะนี้"
(ข่าวจากสำนักข่าว รอยเตอร์)
 
T.Thammasak
กำลังโหลดความคิดเห็น