xs
xsm
sm
md
lg

CIMB มองหุ้นไทยยังไม่อิ่มตัว ยังขึ้นได้ต่อใน 2-3 ปีตาม ศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มองหุ้นไทยปัจจุบัน P/E ยังไม่แพงและวิ่งไปได้อีกใน 2-3 ปีตามเศรษฐกิจประเทศที่เติบโต โดยกลุ่มโรงแรมท่องเที่ยวยังน่าสนใจ กูรูชี้ไทยควรเพิ่มการลงทุนเพื่อเชื่อมกับประเทศเพื่อบ้านมากขึ้น

นายกรพจน์ อัศวินวิจิตร ประธานคณะกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด กล่าวถึง ทิศทางตลาดหุ้นไทยว่า หุ้นไทยในปัจจุบันยังไม่ถึงจุดอิ่มตัว และยังได้รับปัจจัยจากเศรษฐกิจที่มีการกระตุ้นโดยเฉพาะการลดภาษีจากภาครัฐที่ส่งผลให้หุ้นไทยปรับตัวขึ้นมาอย่างมาก ขณะเดียวกัน การเก็บภาษีจากภาครัฐก็ยังเป็นไปตามระบบ และมีความสอดคล้องกับการนำไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ดังนั้น จีดีพีของไทยจะเติบโตไปต่อไปในปีนี้และส่งผลต่อตลาดหุ้นด้วยเช่นกัน และกลุ่มธุรกิจประเภทโรงแรมการท่องเที่ยว เป็นกลุ่มที่น่าสนใจ

ด้านนายเจษฎา สุขทิศ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด มองว่า หุ้นไทยในปัจจุบันมีทิศทางที่ดี และที่ระดับ P/E 14เท่ายังถือว่าไม่แพงเมื่อเทียบกับในอดีต ดังนั้นเชื่อว่าในอีก 2-3 ปีหุ้นไทยจะยังวิ่งไปได้ต่อเนื่องโดยสอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจ ขณะที่กำไรของบริษัทจดทะเบียนยังมีการเติบโต โดยคิดจากระดับ P/E ที่ 15 เท่า

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และกรรมการนโยบายการเงิน กล่าวในงานสัมนา “ทิศทางตลาดหุ้นไทย 2556 อิ่มตัวหรือไปต่อ” ว่า การที่คณะกรรมการการเงิน (กนง.)มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.75% ในรอบที่ผ่านมาเพราะดอกเบี้ยแท้จริงอยู่ในอัตราที่ติดลบ 0.64%โดยอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับ 3.39% แม้จะมีการเก็งกำไรค่าเงินและอสังหาริมทรัพย์อยู่ด้วยก็ตามแต่ก็ไม่ได้มากจนน่าเป็นห่วง

อย่างไรก็ตาม การที่เศรษฐกิจเอเชียและอาเซี่ยนส่วนใหญ่มีการเติบโตที่ดีมากจึงทำให้ประเทศไทยได้รับผลบวกตามไปด้วย ส่วนผลกระทบจากการฝืดเคืองของเศรษฐกิจยุโรปและอเมริกานั้นนับว่าน้อยมาก ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรจะมีการลงทุนเพื่อเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านเช่น โครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค ถนนหนทาง เตรียมรับการเคลื่อนย้านทุนและปัจจัยการผลิต

สำหรับความเสี่ยงระยะสั้นที่ต้องจับตามอง คือ เรื่องเขาพระวิหารระหว่างไทยและเขมรที่ศาลโลกกำลังจะตัดสิน และการเมืองไทยที่อาจมีความไม่แน่นอนเข้ามาขัดจังหวะทำให้โครงการลงทุนขนาดใหญ่เดินหน้าไปได้ยาก ดังนั้นหากมีการระดมทุนจากบริษัทขนาดใหญ่ ความต้องการลงทุนของเอเชนและรัฐวิสาหกิจ รวมถึงการมีกองทุนโครงสร้างพื้นฐานก็จะเป็นปัจจัยหนุนให้โครงการเหล่านี้เดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น

นายทนง พิทยะ อดีตรัฐมตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในปีที่ผ่านมาปรับตัวขึ้นมามากคือการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30 ลงเหลือ 23% ทำให้บริษัทจดทะเบียนมีกำไรมากขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น ส่วนระยะสั้นนโยบายประชานิยมบวกกับเงินทุนไหลเข้า ทำให้เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยบวกให้หุ้นสามารถไปถึง 1,600 จุดได้ไม่ยากนัก โดยปัจจัยเรื่องดอกเบี้ยอาจไม่ได้มีความสำคัญในการที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยขึ้นหรือลง ทั้งนี้การไหลเข้าออกของเงินที่เสรีมากๆถือว่าค่อนข้างอันตรายซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยควรจะใช้นโยบายด้านอื่นๆนอกจากดอกเบี้ยในการดูแลด้วย ขณะที่การเพิ่มขึ้นของหนี้ภาคครัวเรือนที่มีการเพิ่มขึ้นถือว่าไม่ได้น่าเป็นห่วงเพราะเป็นผลจากนโยบายรถคันแรกซึ่งเป็นผลในระยะสั้นเท่านั้น

ทั้งนี้ ผลระยะสั้นในช่วง 2 ปีจากนี้ยังคงจะหนุนให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นได้ต่อ แต่ในระยะยาวไม่สามารถบอกได้ว่าจะเป็นอย่างไร ขณะที่ความเสี่ยงหลักของประเทศไทยคือการคอรัปชั่น ส่วนตัวเลขซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในปัจจุบันยังไม่ได้ถือว่าสูงกว่าระดับปกติ พลังในการซื้อส่วนใหญ่ยังมาจากนักลงทุนชาวไทยเป็นหลัก ทว่าการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์อาจมีจำนวนมากขึ้นที่ต่างชาติเป็นนอมินีแฝงเข้ามา


กำลังโหลดความคิดเห็น