xs
xsm
sm
md
lg

บลจ.แอสเซทพลัสมองธุรกิจยานยนต์มาแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รูปจากแฟ้มภาพ
บลจ.แอสเซท พลัส มองธุรกิจยานยนต์มาแรง รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ยอดขายรถยนต์ในสหรัฐฯ และจีนปรับตัวสูงขึ้น ล่าสุดส่งกองทุน “แอสเซทพลัสสตาร์ 5” Automotive Trigger 9/9 เน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มยานยนต์ เป้าหมายสร้างผลตอบแทน 9% ภายใน 9 เดือน เสนอขายครั้งเดียววันนี้-12 กุมภาพันธ์ 56 นี้

นางลดาวรรณ เจริญรัชต์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แอสเซท พลัส จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น อาทิ สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากสหรัฐอเมริกา ทั้งตัวเลขด้านการผลิต ยอดขายบ้าน ยอดค้าปลีก รวมถึงการจ้างงาน หรือแม้แต่ยอดการค้าปลีกจากประเทศมหาอำนาจทางแถบเอเชีย อาทิ ประเทศจีน GDP ไตรมาส 4/55 ออกมาดีเกินกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ รวมทั้งยอดการค้าปลีกยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยบวกดังกล่าวข้างต้นจะเป็นส่วนช่วยสนับสนุนความเชื่อมั่นและสร้างกำลังซื้อจากผู้บริโภคมากขึ้น โดยบริษัทประเมินว่า ในปี 2556 นี้ธุรกิจยานยนต์จะได้รับประโยชน์และมีโอกาสเติบโตสูงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยความต้องการซื้อส่วนใหญ่จะมาจากการฟื้นตัวของความต้องการในสหรัฐฯ และจีน ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของโลก

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมาสัดส่วนการครอบครองรถยนต์ในตลาด Emerging Marker (EM) ของประเทศจีน อินเดีย และบราซิล ยังอยู่ในระดับต่ำมาก เฉลี่ยสัดส่วนรถยนต์ต่อจำนวนประชากรในประเทศจีนอยู่ที่ประมาณ 69 คันต่อประชากร 1,000 คน ซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสในการขยายตัวของธุรกิจยานยนต์ซึ่งยังมีอยู่สูงมาก โดยคาดว่าความต้องการรถยนต์ในจีนจะเติบโตเพิ่มขึ้นสูงกว่า 10% ในปี 56 ประกอบกับยอดขายรถยนต์ในเอเชียเพิ่มขึ้น 18.3% และในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 14.2% ในเดือน ธ.ค. 55 ขณะที่ยอดขายรถในสหรัฐฯ ยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในเดือน ม.ค. 56 โดยยอดขายของ TOYOTA เติบโต 27% ของ FORD เติบโต 21.8% และ GM เติบโต 15.9% นอกจากนี้ จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางประเทศญี่ปุ่นส่งผลให้ค่าเงินเยนมีแนวโน้มอ่อนค่า โดยปัจจัยดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมศักยภาพการทำกำไรต่อธุรกิจยานยนต์ในประเทศญี่ปุ่น รวมถึงเพิ่มความสามารถในการจ่ายเงินปันผลในอัตราที่สูงขึ้นได้

นางลดาวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ดังนั้น ระหว่างวันนี้-12 กุมภาพันธ์ 2556 บริษัทจึงเปิดเสนอขาย กองทุนเปิดแอสเซทพลัสสตาร์ 5 (ASP-STARS5) ที่จะเน้นลงทุนในหุ้นบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ในต่างประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานดีและมีการเติบโตในธุรกิจสูง โดยมีการปรับสัดส่วนการลงทุนในหุ้นได้ตั้งแต่ 0-100% ให้เหมาะสมกับภาวะตลาด และกองทุนมีเป้าหมายสร้างผลตอบแทน 9% ภายใน 9 เดือน ด้วยวิธีรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติเมื่อมูลค่าหน่วยลงทุน (NAV) ปรับขึ้นผ่านระดับ 10.90 บาท จากราคาเริ่มต้นที่ 10 บาท

กองทุนเปิดแอสเซทพลัสสตาร์ 5 (ASP-STARS5) จะให้น้ำหนักการลงทุนในบริษัทชั้นนำด้านธุรกิจยานยนต์ เช่น ผู้ผลิตรถยนต์ และผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ รวมถึงบริษัทที่ได้รับประโยชน์จากการเติบโตของยอดขายรถยนต์เป็นหลัก และเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง ผู้จัดการกองทุนสามารถพิจารณาการลงทุนในกลุ่มธุรกิจอื่นๆ เพิ่มเติม ได้แก่ สถาบันการเงิน ธุรกิจประกันภัย และธุรกิจสื่อสารและเทคโนโลยี ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนให้ถึงเป้าหมายของกองทุน

สำหรับกองทุนเปิดแอสเซทพลัสสตาร์ 4 (ASP-STARS 4) ที่บริษัทฯ ได้เสนอขายในช่วงเดือน ม.ค. 56 ที่ผ่านมา ปัจจุบันผู้จัดการกองทุนได้ลงทุนในหุ้นไปแล้วในสัดส่วนมากกว่า 90% ของพอร์ตการลงทุน โดยเน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มสถาบันการเงินในตลาดฮ่องกง ซึ่งคาดว่าจะได้ประโยชน์จากมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมของจีน ส่วนเงินลงทุนส่วนที่เหลือผู้จัดการกองทุนจะหาจังหวะเพิ่มการลงทุนในกลุ่มธุรกิจค้าปลีก และยานยนต์ เพื่อกองทุนจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้ตามเป้าหมาย 9% ภายใน 9 เดือน ด้านค่าเงิน ปัจจุบันกองทุนเน้นถือหลักทรัพย์ในสกุลเงินฮ่องกงดอลลาร์ และผู้จัดการกองทุนมีนโยบายในการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมากองทุนเปิดแอสเซทพลัสไพร์ม 3 (ASP-PRIME3) ซึ่งเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นไทย และกำหนดเป้าหมายสร้างผลตอบแทน 9% สามารถรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติได้ภายในระยะเวลา 8 สัปดาห์หลังจากจดทะเบียนเป็นกองทุนรวมเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 55 ในอัตราหน่วยลงทุนละ 0.50 บาท ด้วยมูลค่าหน่วยลงทุน (NAV) 10.5012 บาท โดยใช้ NAV ณ วันที่ 28 ม.ค. 56 ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขโครงการที่กองทุนจะรับซื้อคืนอัตโนมัติเมื่อมูลค่าหน่วยลงทุนปรับตัวขึ้นผ่านระดับ 10.50 บาท จากราคาเริ่มต้นที่ 10 บาท และปิดกองทุนเมื่อมูลค่าหน่วยลงทุนผ่านระดับ 10.90 บาท ภายใน 1 ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น