โดยคมศร ประกอบผล, AFPTTM
Wealth Manager
บลจ.ทิสโก้ จำกัด
การแข็งค่าของเงินบาทอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมานั้นได้สร้างความกังวลต่อหลายฝ่าย ถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งยังพึ่งพาการส่งออกอยู่เป็นสัดส่วนค่อนข้างมาก แต่สำหรับนักลงทุนอย่างเราๆ ท่านๆ นั้น การแข็งค่าของเงินบาทอาจถือเป็นโอกาสที่ดีในการเริ่มกระจายการลงทุนไปในต่างประเทศ
ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าขึ้นราว 6% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แซงหน้าเงินสกุลอื่นในเอเชีย และถือเป็นสกุลเงินที่แข็งค่ามากที่สุดสกุลหนึ่งในโลก ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวลหากมองในมุมของผู้ส่งออก เพราะค่าเงินที่แข็งขึ้นจะทำให้สินค้าจากไทยแพงขึ้นในสายตาชาวโลก และแพงขึ้นมากกว่าสินค้าคู่แข่งที่มีฐานการผลิตในเอเชียด้วยกัน แต่สำหรับผู้ออมเงินที่มีรายได้และเก็บออมเงินส่วนใหญ่เป็นเงินบาทนั้น การแข็งค่าของเงินนั้นถือเป็นเรื่องน่าดีใจ โดยเฉพาะนักลงทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทยมาโดยตลอดในช่วง 2-3 ปี ที่น่าจะได้กำไรกันไปเป็นกอบเป็นกำนั้น การแข็งค่าของเงินบาทในรอบนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีมากในการออกไป “ชอปของถูก” ในต่างประเทศ เพราะเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้นก็หมายถึงการที่เราจะสามารถแลกเงินเป็นสกุลเงินต่างประเทศและนำไปลงทุนได้มากขึ้นนั่นเอง
นับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2008 ดัชนี SET index ของไทยปรับตัวขึ้นแซงหน้าตลาดอื่นๆ ทั่วโลกเป็นอย่างมาก โดย SET index ปรับตัวขึ้นกว่า 220% นับจากต้นปี 2009 ในขณะที่ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น 65% ดัชนี MSCI Asia Pacific ex Japan เพิ่มขึ้น 93% และดัชนี Hang Seng China Enterprise index (H-Shares) ของหุ้นจีนที่จดทะเบียนในตลาดฮ่องกงปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 53%
วัฏจักรขาขึ้นที่ร้อนแรงของหุ้นไทยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานั้น ทำให้ Valuation ของหุ้นไทยเริ่มดูแพงเมื่อเทียบกับตลาดอื่นๆ ในเอเชีย โดยหากมองที่อัตราส่วนราคาหุ้นปัจจุบันต่อคาดการณ์ผลกำไรในปี 2013 (ค่า P/E) เฉลี่ยของหุ้นใน SET index นั้นอยู่ที่ 13.5 เท่า เทียบกับดัชนี MSCI Asia Pacific ex Japan ที่เทรดที่ P/E 12 เท่า และ ดัชนี H-Shares ของหุ้นจีนที่เทรดที่ P/E 9 เท่า แล้วจะเห็นว่าหุ้นในตลาดต่างประเทศนั้น “ถูก” และมี Valuation ที่น่าสนใจกว่าหุ้นไทยอย่างเห็นได้ชัด
นอกจากประโยชน์ที่ได้จากอัตราแลกเปลี่ยนและ Valuation ของหุ้นต่างประเทศที่น่าสนใจกว่าแล้ว การแบ่งเงินไปลงทุนในต่างประเทศนั้นยังช่วยในการกระจายความเสี่ยงอีกด้วย เนื่องจากการลงทุนในประเทศแต่เพียงอย่างเดียวนั้นมีความเสี่ยงที่ความผันผวนของค่าเงินบาทจะบั่นทอนกำลังซื้อของเงินลงทุนโดยรวม ตัวอย่างเช่น หากเกิดวิกฤตการเมืองที่ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลง แม้เราจะลงทุนแต่ในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ (เช่น เงินฝากธนาคาร หรือกองทุนพันธบัตรระยะสั้น) ที่ไม่ได้รับผลขาดทุนในรูปสกุลเงินบาท แต่ความมั่งคั่งโดยรวมของเราจะลดลง เนื่องจากเงินบาทจำนวนเท่าเดิมจะสามารถซื้อสินค้านำเข้าที่จำเป็น เช่น น้ำมัน โลหะอุตสาหกรรม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศได้น้อยลง ดังนั้น การกระจายพอร์ตไปลงทุนในต่างประเทศจึงสามารถช่วยปกป้องกำลังซื้อของเงินลงทุนในระยะยาวได้เป็นอย่างดี
การลงทุนในต่างประเทศนั้นไม่ใช่เป็นการลงทุนเฉพาะเศรษฐีอีกต่อไป ปัจจุบันมีกองทุนรวมมากมายที่ช่วยให้การนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศนั้นสะดวกและมีประสิทธิภาพสำหรับนักลงทุนทั่วไป โดยนักลงทุนสามารถเลือกซื้อกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศด้วยเงินลงทุนเริ่มต้นเพียงหลักหมื่นต้นๆ เท่านั้น