xs
xsm
sm
md
lg

การไม่วางแผนหรือวางแผนเกษียณผิดพลาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


Money Tips
โดยวรวรรณ ธาราภูมิ

มีข่าวชิ้นหนึ่งที่สรุปให้คนทั่วไปได้รับรู้เรื่องคนอายุ 40-60 ปีใน กทม. และปริมณฑลวางแผนออมเงินไว้ใช้ในวัยเกษียณผิดพลาด โดยสรุปประเด็นมาจากงานวิจัยการเตรียมความพร้อมสำหรับการวางแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณของกลุ่มแรงงานในระบบช่วงอายุ 40-60 ปีใน กทม. และปริมณฑล ของสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) ช่วยกันทำกับสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (ม.หอการค้าไทย)

งานวิจัยระบุว่า มีความผิดพลาด 7 ประการซึ่งทำให้คนที่อยู่วัยนี้มีเงินออมไม่พอใช้หลังเกษียณ

จึงขอนำงานวิจัยนี้มาเสริมความคิดส่วนตัวในแต่ละข้อ เพื่อทำให้คนเข้าใจมากขึ้น

1. งานวิจัยระบุว่า กลุ่มตัวอย่างเริ่มวางแผนช้าเกินควร คือมีเพียง 38% ที่เคยวางแผนเพื่อการเกษียณและปฏิบัติตามแผนได้อย่างสม่ำเสมอ 

จากข้อนี้ เราพบว่าปัญหาอยู่ที่กลุ่มตัวอย่างอีก 62% นั้นไม่เคยคิดถึงวันเกษียณ และไม่เคยวางแผน ซึ่งน่าเป็นห่วงมากว่าแล้วเขาจะดำรงชีวิตในวัยเกษียณด้วยคุณภาพที่ดีได้อย่างไร และเรื่องนี้จะเป็นปัญหาทางสังคมกับการคลังของประเทศในอนาคต

2. งานวิจัยระบุว่า กลุ่มตัวอย่างวางแผนด้วยความมั่นใจมากเกินควร โดย 71% ของกลุ่มตัวอย่างที่ไม่เคยวางแผนเพื่อการเกษียณมั่นใจว่าคุณภาพชีวิตหลังเกษียณจะใกล้เคียงหรือดีกว่าปัจจุบัน

เรื่องนี้ก็น่ากังวล เพราะหากไม่เคยลองคำนวณดูว่าต้องมีเงินเท่าไหร่ในวัยเกษียณถึงจะพอใช้ หรือมีการคำนวณแต่ไม่เคยวางแผนแล้วทดสอบดูว่าทำตามแผนแล้วจะมีเงินพอตามที่ต้องการหรือไม่ เป็นไปได้แค่ไหน ก็เสี่ยงที่จะไม่มีเงินพอ

ดังนั้น จงอย่าละเลยที่จะวางแผน แล้วต้องทดสอบคำนวณดูว่ามันเป็นไปได้ด้วย ไม่ใช่บอกว่าต้องการเงิน 10 ล้านในวันเกษียณ แต่เราจะต้องลงทุนให้ได้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 45% ต่อปี ถึงจะได้ตามเป้า แบบนั้นคงจะฝันค้างแน่ๆ

3. งานวิจัยระบุว่า กลุ่มตัวอย่างวางแผนโดยขาดความรู้ความเข้าใจที่เหมาะสม กลุ่มตัวอย่างคาดว่าจะลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในสัดส่วนที่สูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น และละเลยผลของเงินเฟ้อในอนาคต

นี่เป็นการคิดที่ย้อนศร เพราะโดยทั่วไปแล้วยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งควรลดสัดส่วนลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงลง แล้วไปเพิ่มสัดส่วนลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงให้มากขึ้น แม้จะมีผลตอบแทนคาดหวังลดลงไปมาก แสดงว่าเห็นแล้วว่าเงินที่จะมีใช้ในวัยเกษียณนั้นมันไม่พอใช้โดยเฉพาะเมื่อข้าวของแพงขึ้นมาก ถึงได้คาดว่าตนเองจะเพิ่มความเสี่ยง

ดังนั้น จงรีบวางแผนการเงินเพื่อเกษียณ และรีบออมเสียแต่วันนี้ อย่าผัดวันประกันพรุ่งจนเข้าตาจนถึงกับไปเพิ่มความเสี่ยงในการลงทุนยามแก่

4. งานวิจัยระบุว่า กลุ่มตัวอย่างประมาณค่าใช้จ่ายหลังเกษียณน้อยเกินควร ซึ่งสัดส่วนค่าใช้จ่ายในปีแรกหลังเกษียณต่อรายได้ในปีสุดท้ายก่อนเกษียณที่กลุ่มตัวอย่างใช้ในการวางแผนมีค่าเฉลี่ยเพียง 34% ซึ่งถือว่าน้อยเหลือเกินเมื่อเทียบกับ 70% ซึ่งเป็นค่าขั้นต่ำที่นิยมใช้ในการวางแผนทางการเงิน

ข้อนี้หมายความว่า ณ วันที่เกษียณ สมมติว่ามีเงินเดือน 80,000 บาท แล้วคาดว่าเงินก้อนที่เก็บออมไว้เพื่อใช้ตลอดอายุขัยเมื่อทอนกลับเป็นเดือนแล้วมีค่าเท่ากับ 70% ของ 80,000 บาท หรือ 56,000 บาทต่อเดือน ก็พอจะอุ่นใจได้ว่าเงินที่จะดำรงชีวิตในวัยเกษียณตามมาตรฐานขั้นต่ำแล้ว แต่จากการสำรวจพบว่า ที่จะมีใช้มันไม่ใช่ 70% แต่เป็น 34% หรือเท่ากับ 27,200 บาทต่อเดือน ซึ่งไม่น่าจะพอใช้

เพื่อให้มี Margin of Safety หลายคนเขาเผื่อเงินเฟ้อด้วยการคำนวณล่วงหน้าว่า เมื่อเกษียณแล้วต้องมีรายได้ต่อเดือนไปตลอดอายุขัยเท่ากับเงินเดือนเดือนสุดท้าย หรือ 100% ไม่ใช่ 70% และไม่ใช่ 34%

5. งานวิจัยระบุว่า กลุ่มตัวอย่างประมาณอายุขัยเฉลี่ยน้อยเกินควร จะพบข้อผิดพลาดนี้ในกลุ่มตัวอย่างเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ซึ่งกลุ่มตัวอย่างกลุ่มนี้มีโอกาสที่เงินออมจะหมดก่อนสิ้นอายุขัย

เรื่องนี้บางคนบอกว่าเป็นโชคร้ายของผู้หญิงที่มักจะมีอายุยืนยาวกว่าผู้ชาย อย่างไรก็ตาม เราควรกำหนดอายุขัยขั้นต่ำไว้ที่เท่าไรนั้น ให้ดูอายุขัยของพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นหลัก

หลายแห่งแนะนำให้เอา 20 ปี X 12 X เงินที่ต้องใช้ในแต่ละเดือน เช่น 50,000 บาท = เงินก้อนที่ต้องมีสำหรับการเษียณ หรือ 12 ล้านบาท แล้วบอกว่ามีเงิน 12 ล้านบาท ถอนออกมาใช้ได้เดือนละ 50,000 บาท ก็พอใช้จนเราละสังขารในวัย 80 ปี

ซึ่งเป็นคำแนะนำที่ไม่ได้ผิดอะไร แต่น่าจะปลอดภัยสุดๆ หากเราวางแผนว่าเมื่อเกษียณ เราจะไม่ถอนเงินต้น แต่จะไปใช้ดอกผลของเงินต้นสำหรับการใช้จ่ายแทน มันจะดีกว่าการเอาอายุขัยมาคำนวณ

ถ้าเราจะใช้เดือนละ 50,000 บาทจนเราละสังขารในวัย 80 ปีโดยที่ไม่แตะเงินต้นและให้ผลตอบแทนของเงินต้นตลอดช่วงที่เกษียณแล้วเป็น 4% ต่อปี เงินต้นต้องเป็น 15 ล้านบาท ไม่ใช่ 12 ล้านบาท

6. งานวิจัยระบุว่า กลุ่มตัวอย่างออมเงินไว้น้อยเกินควร ถ้าไม่รวมอสังหาริมทรัพย์ที่มีเข้าไปในสินทรัพย์เพื่อการเกษียณแล้ว กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะมีเงินออมไม่เพียงพอสำหรับวัยเกษียณ แต่ถ้ารวมกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะมีเงินออมเพียงพอสำหรับวัยเกษียณ

ตรงนี้น่าสนใจ อย่ามองว่าเป็นข่าวร้ายแต่เพียงอย่างเดียว เพราะกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่แสดงความประสงค์ที่จะใช้ที่อยู่อาศัยของตนเป็นแหล่งรายได้หลังเกษียณด้วย ซึ่งตรงกับที่เคยเล่าให้ฟังว่าคนต่างประเทศโดยเฉพาะในตลาดที่พัฒนาแล้วอย่างประเทศตะวันตก คนเกษียณมักย้ายที่อยู่ ไปอยู่ในที่ที่คนชราจะใช้ชีวิตได้ดีในวัยเกษียณ แม้กระทั่งย้ายมาอยู่ไทย โดยขายบ้านเดิมเพื่อให้ได้เงินเพิ่มเพื่อใช้ดำรงคุณภาพชีวิต

ดังนั้น นอกจากจะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมทางการเงินประเภทสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage) แล้ว ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็น่าจะคำนึงถึงโอกาสทางธุรกิจด้วย ซึ่งได้แก่ ที่อยู่อาศัยมือสองที่รับซื้อจากผู้เกษียณไปขายต่อคนในวัยแรงงาน กับการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อคนเกษียณโดยเฉพาะ เช่นให้มีสังคมที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุในจังหวัดที่มีต้นทุนที่ดินราคาถูก แต่มีสถานพยาบาลและฟื้นฟูสุขภาพคนชรา มีแรงงานท้องถิ่นที่สามารถดูแลผู้เกษียณได้ มีสถานสันทนาการ เป็นต้น

7. งานวิจัยระบุว่า 28% ของกลุ่มตัวอย่างต้องการเกษียณก่อนกำหนด แต่ผู้ที่ต้องการเกษียณก่อนกำหนดส่วนใหญ่มีเงินออมไม่เพียงพอสำหรับวัยเกษียณ

จริงอยู่ ใครๆ ก็อยากนั่งๆ นอนๆ เล่นๆ และมีกินมีใช้เหลือเฟือไปตลอดชีวิตโดยไม่ต้องเหนื่อยยาก แต่เมื่อยังไม่รวยพอก็อย่าเพิ่งขี้เกียจหรือหมดไฟไปง่ายๆ ขอให้ทำงานสะสมเงินต่อไปเถิด วิธีแก้ความเบื่อคือ ให้ทำงานอย่างสนุก และมีสุขกับงานหนักค่ะ


กำลังโหลดความคิดเห็น