xs
xsm
sm
md
lg

10 ข้อคิดในการจัดการเงินปี 2556 (1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บัวหลวง Money Tips
วรวรรณ ธาราภูมิ

1. จัดทำแผนรายได้ ค่าใช้จ่าย ประจำปี 2556

จุดเริ่มต้นดีที่สุดคือให้เริ่มจากการทำบัญชีรับจ่ายของเราและครอบครัวที่อยู่ในอุปการะของเรา โดยแยกเป็นรายเดือน เพราะเมื่อรู้ที่มาของเงินได้ กับรู้ว่าเงินเราจะออกไปจ่ายทางไหนได้บ้างแล้ว เราจะเริ่มพิจารณาวางแผนทางเลือกอย่างน้อยก็ด้านรายจ่ายได้ว่าควรจะจ่ายอะไร เมื่อไหร่ ทั้งนี้ อย่าลืมใส่รายการผ่อนชำระหนี้ และดอกเบี้ยเงินกู้ด้วย (ถ้ามี) นอกจากนี้ก็ใส่รายจ่ายขาจรที่ไม่ได้เกิดประจำเป็นรายเดือน เช่น ค่าส่วนกลางคอนโดมิเนียม ค่าเล่าเรียนบุตร เบี้ยประกันชีวิตและประกันภัย ค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต ค่าบำรุงรักษาที่อยู่อาศัยและยานพาหนะ ค่าทำฟัน ฯลฯ

2. กันเงินสำรองฉุกเฉิน

เงินสำรองฉุกเฉินนี้เป็นส่วนที่เราจะไม่ไปใช้เลยยกเว้นมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น การเจ็บป่วย การตกงาน ฯลฯ เงินส่วนนี้สำคัญมากเพราะมันจะทำให้เราดำเนินชีวิตตามปกติ ทำให้เรามีเงินจ่ายตามภาระที่มีอยู่ไปได้ช่วงหนึ่งโดยไม่ต้องทุรนทุราย ส่วนจำนวนที่ควรกันเอาไว้นั้น แนะนำให้คำนวณว่าหากตกงานแล้วเราคาดว่าจะหางานทำได้ภายในกี่เดือน เอาจำนวนเดือนนี้ไปคูณกับรายจ่ายที่จะเกิดขึ้นในระยะเดียวกัน เช่นหากเราคาดว่าอย่างเลวร้ายที่สุดเราจะหางานทำได้ใน 6 เดือน เราก็ใช้ 6 เดือนไปคูณกับรายจ่ายใน 6 เดือนข้างหน้า

เมื่อได้เงินจำนวนนี้แล้วว่าเป็นเท่าไร ก็อย่าลืมเอาไปไว้ในที่ที่ปลอดภัยและสามารถถอนออกมาใช้ได้ทันทีในยามฉุกเฉินเมื่อมีเหตุจำเป็น เช่น ฝากออมทรัพย์ หรือเอาไปลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ประเภทที่ให้เราถอนได้เป็นรายวันเช่นกัน ซึ่งในปัจจุบันนี้เมื่อเทียบเงินฝากออมทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ 0.75% ต่อปีแล้ว กองทุนประเภทนี้ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่ามาก คืออยู่ที่ประมาณ 2.3-2.6% ต่อปี ซึ่งประเด็นหลักในการตัดสินใจหากจะนำไปลงทุนในกองทุนตราสารหนี้นี้ก็คือ ที่ผลตอบแทนในระดับกว่า 2% พอๆ กันนั้น การตัดสินใจเลือกของเราจะไม่ใช่อยู่ที่กองทุนไหนให้ผลตอบแทนคาดหวังที่สูงที่สุดเพราะมันไม่ต่างกันเท่าไร ไม่ได้ทำให้รวยขึ้นเท่าไร แต่จะเป็น 2 เรื่อง คือ 1. กองทุนไหนปลอดภัยที่สุด และ 2. กองทุนไหนที่ถอนได้สะดวกที่สุด

3. ทบทวนและวางแผนการคุ้มครองตนเองและครอบครัว

ก่อนที่จะลงทุน ขอให้กันเงินส่วนหนึ่งไว้เป็นการคุ้มครองตนก่อน เพราะหากเกิดเหตุใดๆ ขึ้นเราจะไม่เดือดร้อน และอย่าลืมว่าเหตุมักเกิดเมื่อเราเลิกทำประกัน

การทำประกันที่จำเป็น

-ประกันการผ่อนชำระสินเชื่อที่อยู่อาศัย

เมื่อเรายังมีภาระผ่อนบ้าน เราก็มีความเสี่ยงแล้ว เพราะหากเราผู้ทำรายได้ให้ครอบครัวเกิดเป็นอะไรไป แล้วคนข้างหลังไม่มีปัญญาผ่อนต่อ บ้านก็จะถูกยึด ครอบครัวจะไม่มีที่อยู่อาศัย ซึ่งจะเป็นเรื่องที่น่าสลดใจที่สุด เราก็ตายตาไม่หลับ ดังนั้นเราต้องทำประกันเรื่องนี้ไว้ ซึ่งสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้มักจะมีให้ แต่ขอให้เราใช้เวลาเปรียบเทียบกับข้อเสนอของบริษัทประกันที่มั่นคงที่อื่นด้วย เพราะสถาบันการเงินที่เรากู้อาจไม่ได้ให้ข้อเสนอที่ดีที่สุดแก่เราก็ได้ โดยเราจะเลือกทำประกันกับบริษัทประกันที่มั่นคงสูง และมีค่าใช้จ่ายรวมต่ำที่สุดในเงื่อนไขวงเงินประกันเท่าๆ กัน

-ประกันที่อยู่อาศัยจากอัคคีภัย ภัยธรรมชาติ ภัยจากการก่อการร้ายและวินาศกรรม

เรื่องนี้เราหลายคนคงพบมาทุกเหตุการณ์แล้ว และคงเห็นความสำคัญของการทำประกันภัยเอาไว้ จึงไม่ต้องอธิบายให้มากความ

-ประกันการใช้ยานพาหนะและอุบัติเหตุ

นอกจากจะทำประกันตามที่ พ.ร.บ.บังคับแล้ว ขอให้พิจารณาทำประกันชั้นหนึ่งหากเป็นไปได้ เพราะถ้าไม่มี เราจะมีรายจ่ายเพิ่มเมื่อเกิดเหตุ อันอาจจะเป็นหลักหลายแสน หรือเป็นล้าน ซึ่งอาจทำให้เราต้องไปดึงเงินในส่วนสำรองฉุกเฉินโดยไม่ควร หรือดึงมาจนหมดก็ไม่พอจ่ายก็ได้

หลักในการเลือกบริษัทประกันภัย นอกจากจะเหมือนข้อต้นๆ แล้ว จากประสบการณ์ส่วนตัว ขอแนะนำให้เลือกที่ที่เรามีคนรู้จักสนิทสนมทำงานในบริษัทนั้นๆ ด้วย เพราะมันจะทำให้อะไรๆ ง่ายขึ้นเมื่อเกิดเหตุ

- ประกันสุขภาพของตนและคนในครอบครัว

แม้ว่าตัวเราเองนั้นอาจจะมีความคุ้มครองจากบริษัทหรือองค์กรที่เราเป็นลูกจ้างอยู่แล้ว แต่เรามักจะละเลยคนในความอุปการะของเรา ซึ่งเขาก็มีเจ็บ มีป่วยได้

เมื่อเจ็บป่วยทีมันก็เป็นเงินไม่น้อยโดยเฉพาะถ้าต้องเข้าไปนอนในโรงพยาบาล ซึ่งจะมีค่านั่นค่านี่ใส่ลงมาในใบแจ้งหนี้โดยที่เราไม่รู้เลยว่ามันคืออะไร และต่อรองก่อนใช้บริการก็ไม่ได้ และในบางกรณีเราพบแพทย์เพียง 10 นาที แต่มีค่าธรรมเนียมแพทย์ ค่าคำปรึกษาแพทย์ในจำนวนไม่น้อยเลย หากหารเป็นค่าใช้จ่ายต่อนาทีแล้วสักวันมันอาจจะสูงกว่าค่าปรึกษานักกฎหมายเก่งๆ ระดับประเทศเลยก็ได้

วิธีเลือกใช้ประกันสุขภาพกับที่ไหนนั้น มี 2 แนวทาง คือ หากบริษัทหรือองค์กรที่เราทำงานนั้นทำกับที่ไหน เราจะรู้ถึงคุณภาพในการให้บริการจากประสบการณ์ของเราและเพื่อนๆ ในที่ทำงานแล้ว หากดี เราก็เลือกได้

อีกวิธีคือ หากเรามีญาติหรือเพื่อนสนิทเป็นแพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรในโรงพยาบาล เขาเหล่านั้นจะให้คำแนะนำได้ดีที่สุดว่าเราควรเลือกที่ไหน เพราะเขามีประสบการณ์ และสามารถแนะนำแพกเกจที่เหมาะสมกับค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวเราได้ดีกว่าใคร ซึ่งเมื่อเขาเป็นญาติหรือเพื่อนสนิทของเราแล้ว เราน่าจะหมดความกังวลไปได้ว่าเขาจะแนะนำเพื่อประโยชน์ของตนมากกว่าประโยชน์ของเรา

(ต่อตอนหน้า)
กำลังโหลดความคิดเห็น