บลจ.ยูโอบีใช้กลยุทธ์ในการบริหารจัดการโดยมุ่งสร้างผลการดำเนินงานสูงกว่าดัชนีมาตรฐานเสมอ ซึ่งหากพิจารณาประวัติผลการดำเนินงานของกองทุนจะเห็นว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจเมื่อเปรียบเทียบกับกองทุนรวมอื่นๆ ที่มีนโยบายลงทุนเดียวกัน ซึ่งรวมถึงกองทุนรวม RMF-LTF
กรวุฒิ ลีนะบรรจง ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ยูโอบี กล่าวว่า เราเป็นบริษัทในกลุ่มการจัดการกองทุนในระดับภูมิภาค และอยู่ในเครือของยูโอบีกรุ๊ป ซึ่งทำให้เราได้รับข้อมูลข่าวสารหลากหลายมุมมอง ในขณะเดียวกันทีมผู้จัดการกองทุนเป็นที่ยอมรับของผู้ลงทุน เนื่องจากประสบการณ์การสร้างผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่องจนเป็นจุดเด่นที่ทำให้ผู้ลงทุนมีความเชื่อมั่นตลอดมา
การลงทุนระยะยาวกับกองทุน RMF-LTF นั้นให้ผลตอบแทนจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นแรงจูงใจหลัก และถือว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการออมเพื่อให้ผู้ลงทุนรู้จักการวางแผนการลงทุนที่ดี จึงอยากแนะนำให้ผู้ลงทุนพิจารณาใน 4 ประเด็น คือ
1. ผลตอบแทนที่คาดหวังและความเสี่ยงที่ตนเองยอบรับได้
2. ระยะเวลาในการถือครอง
3. สภาพคล่องที่ตนเองต้องการ
4. การจัดการเรื่องภาษีเงินได้ของผู้ลงทุน
อย่างเรื่องสภาพคล่องของผู้ลงทุนนั้น จะต้องคำนวณให้ดีว่าจะเพียงพอกับค่าใช้จ่ายต่างๆ หรือไม่ภายหลังจากที่นำเงินไปลงทุนแล้ว เพราะถ้าวางแผนไม่รอบคอบก็อาจกระทบต่อการถือครองและไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี
กรวุฒิ กล่าวถึงลักษณะการลงทุนที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีว่า ควรทยอยลงทุนเป็นประจำ จะดีกว่าการลงทุนแบบจับจังหวะเพื่อคาดหวังต้นทุนของการลงทุนในมูลค่าต่ำที่สุด หรือถูกที่สุด แต่ในทางปฏิบัติแล้วอาจจะทำได้ยากและมักทำให้ผู้ลงทุนลังเล จนในที่สุดก็อาจจะไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่คาดหวังไว้ ดังนั้น กลยุทธ์ดีที่สุดของการลงทุนในระยะยาวคือ ทยอยลงทุน อาจจะเป็นรายไตรมาส รายเดือน ราย 2-3 เดือน ถึงแม้ในปีนี้จะเหลือเวลาไม่กี่เดือน แต่ก็เป็นวิธีที่ผู้ลงทุนมีโอกาสสร้างผลตอบแทนดีกว่าลงทุนครั้งเดียวช่วงสิ้นปี
ถ้าดูจากอัตราเงินเฟ้อเทียบกับการลงทุนในเงินฝากที่ได้รับอัตราผลตอบแทน 1-2% การลงทุนในเงินฝากของเราก็ไม่สามารถชนะเงินเฟ้อ แต่ข้อดีของกองทุน RMF-LTF คือผู้ลงทุนจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วมีโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝากได้ แต่ข้อดีของเงินฝากอยู่ที่การคุ้มครองเงินต้น
อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนที่มีความกังวลในเรื่องนี้ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพประเภทลงทุนพันธบัตร ซึ่งเหมือนได้รับการคุ้มครองทางอ้อม ตรงนี้แนะนำให้ดูที่ตัวเราเองว่าก่อน การลงทุนเราจะต้องพิจารณาว่าเราต้องการได้รับผลตอบแทนควบคู่ไปกับการยอมรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน
ด้านผลการดำเนินงานของกองทุน บลจ.ยูโอบี เช่น กองทุนเปิด ยูโอบี หุ้นระยะยาว สร้างผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี 45.16%, 3 ปี 93.73% สูงกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ และ RMF ในกองทุนหุ้นเหมือนกัน ยูโอบี ตราสารทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ มีผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี 42.47%, 3 ปี 1.78% ขณะที่ RMF ประเภทกองทุนตราสารหนี้ คือ ยูโอบี ออมทรัพย์เพื่อการเลี้ยงชีพ มีผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี 2.29% และ 3 ปี 1.66% (ข้อมูล ณ 28 ก.ย. 2555)
กรวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมอีกอย่างว่า อยากให้ผู้ลงทุนวางแผนการลงทุนเพื่อให้เงินงอกเงยในระยะยาว ซึ่งกองทุนประเภทตราสารทุนมักจะทำผลตอบแทนได้ดี โดยวิธีที่ผู้ลงทุนปรับพอร์ตให้สอดคล้องกับภาวการณ์การลงทุน หรือวัตถุประสงส์ของการลงทุนที่เปลี่ยนไปจะเป็นวิธีการเพิ่มผลตอบแทน หรือลดความเสี่ยงจากการลงทุนได้ อย่างการจัดสรรพอร์ตมาลงทุนในกองทุนเปิด ยูโอบี สมาร์ท โกลด์ เพื่อการเลี้ยงชีพ ซึ่งลงทุนในกองทุนทองคำ พร้อมกับป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ
RMF-LTF ของ บลจ.ยูโอบีแบ่งเป็น RMF 4 กอง ได้แก่ กองทุนเปิด ยูโอบี พันธบัตรเพื่อการเลี้ยงชีพ (UOBGBRMF), กองทุนเปิด ยูโอบี ออมทรัพย์เพื่อการเลี้ยงชีพ (UOBSVRMF), กองทุนเปิด ยูโอบี ตราสารทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (UOBQRRMF), กองทุนเปิด ยูโอบี สมาร์ท โกลด์เพื่อการเลี้ยงชีพ (UOBRGRMF-H)
LTF 1 กอง ได้แก่ กองทุนเปิด ยูโอบี หุ้นระยะยาว (UOBLTF)