ปัจจุบันเม็ดเงินประมาณ 60% ลงทุนผ่านกองทุนในระยะสั้นๆ และเทอมฟันด์ 3-6 เดือนหรือ 1 ปี ส่วนที่เหลือถึงเป็นกองทุนหุ้น และกองทุนอื่นๆ รวมถึง RMF-LTF ที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ลงทุนเป็นแรงจูงใจ
ไพศาล ครุฑดำรงชัย รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน บลจ.ทหารไทย จำกัด มองแนวโน้มอีก 2-3 ปีข้างหน้าว่า ลักษณะการลงทุนของนักลงทุนไทยจะไม่แตกต่างไปจากปัจจุบันมาก คือยังไม่ตอบรับกับกองทุนที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างกองทุนตราสารทุน กองทุนทองคำ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ ถึงแม้ว่าผู้ลงทุนส่วนหนึ่งจะรับรู้ได้ถึงการลงทุนในระยะยาว 3-5 ปีมักจะสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่า
แต่เชื่อว่ามีหลายเหตุผลด้วยกัน ทั้งในเรื่องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของผู้ลงทุน อย่างคนมีเงินออมซึ่งนิยมลงทุนผ่านกองทุนเปิดระยะสั้นก็มักไม่ชอบความเสี่ยง พอเสี่ยงบ้างก็จะคอยติดตามดูทุกวันทุกสับดาห์ ซึ่งในการลงทุนระยะยาวกับกองทุน RMF-LTF ไม่จำเป็นต้องติดตามขนาดนั้น
เขาแนะนำให้ผู้ลงทุนออมเงินโดยการวางแผนจัดสรรเงินสำหรับค่าใช้จ่ายประจำวัน การเก็บออม และการลงทุน โดยเฉพาะ RMF-LTF ซึ่งนอกจากได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ควรดูถึงประเภทกองทุนที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในอนาคต หรือเมื่อเกษียณ อย่างกองทุนหุ้น กองทุนทองคำ หรือกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ อย่างกองทุนเปิด ทหารไทย Global Bond เพื่อการเลี้ยงชีพ มักสร้างผลตอบแทนชนะอัตราเงินเฟ้อที่ประมาณ 3%
ในปีนี้ กองทุนหุ้น น่าจะได้ผลตอบแทนประมาณ 30% โดยตลาดหุ้นไทยยังถือว่าเป็นการลงทุนที่ไม่ได้เสี่ยงจนเกินไป เนื่องจากบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่วนมากยังสร้างผลตอบแทนค่อนข้างดี ทั้งนี้ ผู้ลงทุนก็สามารถปรับสัดส่วนการลงทุนในหุ้นได้ตามสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนสูง รวมถึงการเลือกทยอยลงทุนกับ บลจ.ทหารไทย ที่ให้ความสะดวกด้วยบริการหักบัญชีกับธนาคารพาณิชย์ชั้นนำถึง 8 แห่ง หรือใช้บริการวางแผนลงทุนอัตโนมัติที่สามารถกำหนดให้ขาย หรือสับเปลี่ยนกองทุนล่วงหน้าได้
ปัจจุบันผู้ลงทุนนิยมลงทุน LTF ก่อน RMF เพราะด้วยเงื่อนไขการลงทุนเพียง 5 ปีปฏิทิน แต่ RMF จะต้องลงทุนต่อเนื่องจนถึงอายุ 55 ปี อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ลงทุนมีความสามารถลงทุนได้ทั้งสองประเภทก็ควรใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้มากที่สุด และจัดสรรน้ำหนักกับประเภทกองทุนที่ผู้ลงทุนสามารถยอมรับความเสี่ยงได้ ทั้งนี้ คนที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือผู้ที่ควรลงทุนกับทั้งสองกองทุนนี้เพื่อเป็นการรักษาสิทธิประโยชน์ที่ควรได้
สำหรับกองทุนที่โดดเด่น ต้องแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีความเสี่ยงไม่มากนัก ได้แก่ กองทุนเปิด ทหารไทย ธนบดี เพื่อการเลี้ยงชีพ ที่เน้นความมั่นคง ซึ่งถือเป็นกองทุนที่มียออดซื้อและสับเปลี่ยนเข้าสูงสุดของ บลจ.ทหารไทย ในกรณีที่ผู้ลงทุนรับความเสี่ยงได้เพิ่มขึ้น แต่ยังไม่มากถึงกับหุ้น กองทุนเปิด ทหารไทย โกลบอล เพื่อการเลี้ยงชีพ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ได้รับผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐที่มีการกระจายการลงทุนไปทั่วโลก สำหรับกลุ่มที่สอง กลุ่มกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงซึ่งเน้นการเติบโต ได้แก่ กองทุนรวมในกลุ่ม JUMBO25 ทั้ง RMF และ LTF ซึ่งกองทุนเปิด JUMBO25 เพื่อการเลี้ยงชีพในปีนี้ได้รับรางวัล RMF/EQ Fund Award 212 จากนิตยสาร Money & Wealth นอกจากนั้น กองทุนเปิดทหารไทย Gold Singapore เพื่อการเลี้ยงชีพ ก็เป็นอีกกองทุนที่ตอบโจทย์การลงทุนในลักษณะดังกล่าวได้
ไพศาล ย้ำว่า บลจ.ทหารไทยใช้นโยบายการบริหารกองทุนเชิงรับ (Passive Management) สำหรับตลาดทุน โดยเน้นสร้างผลตอบแทนให้ได้ใกล้เคียงกับตลาดโดยรวม ซึ่งถือเป็น บลจ.เดียวที่เน้นทำแต่อินเด็กซ์ฟันด์ โดยไม่ทำแอ็กทีฟซึ่งลูกค้าทราบดี และอยากแนะนำให้ผู้ลงทุนเลือกกองทุนตามความต้องการ โดยคาดหวังผลตอบแทนสม่ำเสมอมากกว่าโปรโมชัน และต้องประเมินความเสี่ยงว่าตนเองรับได้หรือไม่ โดยอยากให้ผู้ลงทุนทยอยลงทุนอย่างสม่ำเสมอในทุกๆ เดือนเพื่อให้ได้ต้นทุนเฉลี่ยต่ำและยังเป็นการสร้างวินัยในการออมเงิน
RMF & LTF ของ บลจ.ทหารไทย
RMF 6 กอง ได้แก่ กองทุนเปิด ทหารไทยธนบดี เพื่อการเลี้ยงชีพ (TMBMRMF), กองทุนเปิด JUMBO25 เพื่อการเลี้ยงชีพ (JB25 RMF), กองทุนเปิด ทหารไทย SET 50 เพื่อการเลี้ยงชีพ (TMB50 RMF), กองทุนเปิด ธนไพศาล เพื่อการเลี้ยงชีพ (TMBBFRMF), กองทุนเปิด ทหารไทย Global Bond เพื่อการเลี้ยงชีพ และกองทุนเปิด ทหารไทย Gold Singpore เพื่อการเลี้ยงชีพ
LTF 2 กอง ได้แก่ กองทุนเปิด JUMBO25 ปันผลหุ้นระยะยาว (JBP LTF) และกองทุนเปิด JUMBO PLUS ปันผล หุ้นระยะยาว (JBP LTF)