โดย วรวรรณ ธาราภูมิ
และทีมจัดการกองทุน บลจ.บัวหลวง
• เจ้าหน้าที่ของสหภาพยุโรปเปิดเผยว่า รมว.คลังกลุ่มยูโรโซนจะยังไม่ตัดสินใจอนุมัติเงินกู้งวดใหม่วงเงิน 31.5 พันล้านยูโรให้แก่กรีซ เนื่องจากต้องรอดูรายงานความคืบหน้าในการลดการขาดดุลงบประมาณและฐานะการคลังจาก Troika อย่างเป็นทางการก่อนพิจารณาตัดสินใจ
• ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเยอรมนีในเดือน ต.ค.เพิ่มขึ้น 2.0% ทรงตัวจากเดือนก่อนจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหากไม่รวมราคาพลังงานจะทำให้ CPI ปรับตัวขึ้น 1.6%
• ธนาคารกลางฝรั่งเศสคาดว่าเศรษฐกิจฝรั่งเศสจะหดตัวลง 0.1% ในไตรมาสสุดท้ายของปี เป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอ และอัตราการว่างงานที่สูงเป็นประวัติการณ์
• การผลิตภาคอุตสาหกรรมของอิตาลีในเดือน ก.ย.ลดลง 1.5% ในขณะที่เดือนก่อนปรับขึ้น 1.7% ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของอิตาลียังคงย่ำแย่ลงอย่างต่อเนื่อง
• ประธานาธิบดีบารัค โอบามา กล่าวว่า สหรัฐฯ ควรลดหนี้สินภาครัฐลงให้สมดุลทั้งด้านลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ของภาครัฐ ซึ่งหนึ่งในมาตรการเพิ่มรายได้สำคัญคือเพิ่มอัตราภาษีเงินได้ของกลุ่มคนรวย และยืนยันจะคัดค้านแผนการลดหนี้ใดๆ ที่ไม่เรียกร้องให้กลุ่มคนรวยจ่ายภาษีเพิ่ม
• ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ เรียกร้องให้โอบามาเป็นผู้นำในการหารือเพื่อจัดการภาวะ Fiscal Cliff ที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่คัดค้านการปรับขึ้นภาษีกลุ่มคนรวยเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ภาครัฐ โดยอ้างถึงงานวิจัยที่ชี้ว่าการเพิ่มอัตราภาษีคนรวยจะกระทบต่อการจ้างงานในสหรัฐฯ ถึง 700,000 ตำแหน่ง
• ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ ต้นเดือน พ.ย.เพิ่มขึ้นเป็น 84.9 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2550 และขึ้นต่อเนื่อง 4 เดือนติดต่อกัน อันเป็นผลจากตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นอาจช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคซึ่งมีสัดส่วนถึง 70% ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
• สต๊อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งของสหรัฐฯ ในเดือน ก.ย.มีมูลค่า 4.942 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 7.5% จากปีก่อน ขณะที่ยอดขายภาคค้าส่งขยายตัว 4.4% แตะระดับ 4.14 แสนล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ การขยายตัวของสต๊อกสินค้าคงคลังและยอดขายในภาคค้าส่งเป็นปัจจัยชี้นำการฟื้นตัวของการใช้จ่ายของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจ
• ธนาคารกลางออสเตรเลียลดคาดการณ์ GDP ในปีหน้าลงเหลือ 2.75% จากเดิม 3.5% เพราะการปรับลดแนวโน้มการลงทุนในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของออสเตรเลียเนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงต่อเนื่อง ทำให้ภาคเอกชนเลื่อนการลงทุนในโครงการต่างๆ ออกไป
• ยอดหนี้สินรัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นทำสถิติใหม่ที่ 983.3 ล้านล้านเยน ณ สิ้นเดือน ก.ย.จากการใช้งบประมาณเพื่อฟื้นฟูสิ่งก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวและสึนามิในปีก่อน ทั้งนี้ ก.คลังญี่ปุ่นคาดว่ายอดหนี้ค้างชำระอาจจะเพิ่มสูงถึง 1,000 ล้านล้านเยน ภายในปีงบประมาณ 2555
• การส่งออกของจีนเดือน ต.ค.ขยายตัว 11.6% จากระดับ 9.9% ในเดือนก่อน ซึ่งการส่งออกที่ขยายตัวสูงติดต่อกันของจีนเป็นสัญญาณดีที่บ่งชี้ว่าการค้าระหว่างประเทศของโลกกำลังฟื้นตัว โดยมูลค่าการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งปรับลดลง 3% สู่ 4.52 แสนล้านดอลลาร์ใน 10 เดือนแรก ขณะที่การค้ากับสหรัฐฯ ที่เป็นคู่ค้าอันดับสองเพิ่มขึ้น 9.1% แตะ 3.96 แสนล้านดอลลาร์
ส่วนการนำเข้าของจีนในเดือน ต.ค.ขยายตัว 2.4% ทำให้จีนมียอดเกินดุลการค้า 3.199 หมื่นล้านดอลลาร์ จากเดิม 2.767 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนก่อน
• ดัชนีราคาผู้บริโภคของจีนในเดือน ต.ค.ขยายตัว 1.7% ชะลอตัวลงจาก 1.9% ในเดือนก่อน เนื่องจากราคาอาหารซึ่งมีสัดส่วน 1 ใน 3 ของดัชนีเพิ่มขึ้นเพียง 1.8% จาก 2.5% ในเดือนก่อน ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงจะทำให้จีนมีช่องว่างในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น
• ผู้ว่าการธนาคารกลางจีนระบุว่า เศรษฐกิจจีนมีเสถียรภาพดีขึ้นนับตั้งแต่เดือน ก.ย. เป็นผลจากการที่รัฐบาลใช้มาตรการทางการเงินและเร่งอนุมัติโครงการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มชะลอตัว
• ธนาคารกลางเกาหลีใต้มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.75% หลังจากลดอัตราดอกเบี้ยมาแล้ว 2 ครั้งในปีนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งนี้ ผู้ว่าการธนาคารกลางเกาหลีใต้ระบุว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันใกล้เคียงกับระดับที่เหมาะสมแล้วทำให้ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง เว้นแต่ภาวะเศรษฐกิจจะย่ำแย่ลงไปอีก
• การส่งออกของมาเลเซียในเดือน ก.ย.ขยายตัว 2.6% สู่ 6.021 หมื่นล้านริงกิต เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัว 4.5% จากการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัว 4.8% (มีมูลค่า 1/3 ของการส่งออกทั้งหมด) ขณะที่การนำเข้าสูงขึ้น 9.6% เป็น 5.374 หมื่นล้านริงกิต ทำให้มียอดเกินดุลการค้าในเดือน ก.ย. 6.46 พันล้านริงกิต
• สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นฟ้อง กสทช.เรื่องการจัดการประมูล 3G ที่ไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี และขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ กสทช.ระงับการแจกใบอนุญาต 3G ทั้งนี้ คาดว่าศาลปกครองจะมีคำสั่งต่อคำร้องกรณีการประมูล 3G ภายในวันที่ 12 พ.ย.นี้
Equity Market
• SET Index ปิดที่ 1,290.83จุด ลดลง 2.87 จุด หรือ -0.22% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 38,218.53 ล้านบาท และนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 681.43 ล้านบาท โดยดัชนีเคลื่อนไหวในแดนลบ สอดคล้องกับตลาดในภูมิภาคจากความกังวลต่อเรื่อง Fiscal Cliff ของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง รวมทั้งความกังวลต่อการอนุมัติเงินกู้ครั้งใหม่ให้แก่กรีซ
Fixed Income Market
• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเปลี่ยนแปลงในช่วงระหว่าง +0.00% ถึง +0.04% โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในพันธบัตรรัฐบาลช่วงอายุมากกว่า 10 ปีขึ้นไป สำหรับวันนี้มีการประมูลตั๋วสัญญาใช้เงินของรัฐบาลอายุ 6 เดือน มูลค่า 10,000 ล้านบาท
Oil Corner
• โอเปกลดคาดการณ์ความต้องการน้ำมันในระยะกลางทั่วโลกลงจากผลกระทบของวิกฤตหนี้สาธารณะยูโรโซนและความอ่อนแอทางเศรษฐกิจโลก โดยคาดว่าความต้องการน้ำมันทั่วโลกจะลดลงเหลือ 92.9 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2559 หรือลดลงกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวันเทียบกับการประเมินในครั้งก่อนของโอเปก ขณะที่ความต้องการน้ำมันในระยะยาวจะลดลงสู่ 107.3 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2578 หรือลดลง 2.4 ล้านบาร์เรลต่อวันจากการประเมินในครั้งก่อน
Guru Corner
Marc Faber
--------------
ไม่รู้ว่าในอีก 5 ปีข่างหน้านี้โลกจะเป็นอย่างไรบ้าง แต่ผมค่อนข้างมั่นใจว่าธนาคารกลางประเทศต่างๆ ก็จะยังพิมพ์เงินออกมาเรื่อยๆ และมาตรฐานการครองชีพของคนตะวันตกซึ่งไม่ใช่เฉพาะในอเมริกาจะตกต่ำต่อเนื่อง เพราะค่าครองชีพจะพุ่งสูงขึ้นแซงรายได้เพราะรัฐบาลจะเพิ่มภาษีทุกชนิด
ปัญหาจากโอบามาคือภาคธุรกิจจะเจอกฎเกณฑ์มากมายที่จะออกมากำกับควบคุม ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจไม่ต้องการขยายจึงไม่จ้างงานเพิ่ม นอกจากนี้ก็จะเก็บภาษีที่สูงขึ้น ดังนั้น หากมองในแง่เศรษฐกิจแล้วผมว่าโอบามาคือข่าวร้าย แต่คุณก็ยังมีเบน เบอร์นันเก้ ที่จะพิมพ์เงินออกมาได้เสมอ เลยกลายเป็นว่าเรามีเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัวลงซึ่งส่งผลลบต่อกำไรของบริษัท แต่เราก็มีเงินที่พิมพ์ออกมาช่วยพยุงตลาด มันจึงยากที่จะบอกทิศทางตลาดเพราะมีการแทรกแซงมากเหลือเกิน ผมคิดว่าตลาดจะลงไปอย่างน้อยสัก 20%
น่าแปลกใจมากที่เมื่อโอบามาชนะแล้วดัชนี S&P ตกลงมาเพียง 30 จุด เพราะผมคิดว่าน่าจะลงมาสัก 50% เป็นอย่างน้อย ผมคิดว่าโอบามาคือตัวหายนะต่อธุรกิจและเป็นความพินาศของอเมริกา ที่ว่าอย่างนี้ไม่ใช่ว่ารอมนีย์จะทำได้ดีกว่าโอบามามาก แต่อย่างน้อยรีพับลิกันก็ยังเข้าใจปัญหาของหนี้จำนวนมหาศาลมากกว่าที่โอบามาเข้าใจ โอบามาไม่สนใจเรื่องหนี้ที่จะเพิ่มพูนขึ้นเลย แถมยังมีเบน เบอร์นันเก้ที่กดดอกเบี้ยจนติดดิน ทำให้อเมริกาจะก่อหนี้เพิ่มได้ไม่รู้จบอีกด้วย
ผมไม่ได้ชอบโอบามาเป็นพิเศษ แต่ผมคิดว่าเขาแย่น้อยกว่ารอมนีย์ มันเป็นเรื่องเศร้าในชีวิตที่ผู้สมัครทั้ง 2 รายไม่ได้แพ้การเลือกตั้งทั้งคู่ มันก็เหมือนให้เลือกได้แค่ยูโรกับอเมริกันดอลลาร์นั่นแหละ คุณต้องเลือกที่มันแย่น้อยกว่า
หากถามผมว่าผู้ลงทุนจะปกป้องสินทรัพย์ที่ลงทุนได้อย่างไร ผมขอตอบว่าผู้ลงทุนควรซื้อปืนสักกระบอก ส่วนผมต้องการรถถัง เพราะชัยชนะของโอบามาจะนำพามาซึ่งผลสรุปที่ไม่มีใครตั้งใจอย่างการพิมพ์เงิน
มันง่ายสำหรับเดโมแครตที่จะโจมตีคนรวยๆ ใน Wall Street พวกชนชั้นสูง และพวกอภิสิทธิชน ด้วยการทำให้คนมองว่าพวกเหล่านี้เป็นกลุ่มน้อยนิดกลุ่มเดียวที่ได้ประโยชน์จากระบบ ซึ่งในบางมุมมองมันก็ใช่
เรื่อง Fiscal Cliff นั้นผมว่าพวกเขาจะช่วยกันขึ้นภาษีบางอย่างและตัดรายจ่ายบางอย่างแบบขอไปที แล้วหนี้ก็จะพอกพูนขึ้นมาใหม่จากนี้ไปจนถึง 10 ปีข้างหน้า ดังนั้น ในความเป็นจริงจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาก แต่ตลาดหุ้นมักจะแรลลีขึ้นในช่วงปลายปีไปจนถึงเดือนมกราคม แต่ผมว่ามันจะตกลงหลังจากนั้น
GDP โดยรวมไม่สำคัญมากเวลามองเศรษฐกิจ เพราะมันประกอบไปด้วยภาคอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน เราจึงมีทั้งอุตสาหกรรมที่ดีขึ้นอย่างอสังหาริมทรัพย์ในขณะที่ภาคอื่นๆ แย่ลง
Jim Rogers
--------------
การได้โอบามากลับมาหมายถึงเราจะได้การพิมพ์แบงก์เพิ่มและหนี้สินก็จะยิ่งเพิ่ม ถ้าคุณแก้ปัญหาด้วยวิธีพิมพ์เงินและก่อหนี้เพิ่มไปเรื่อยๆ แบบนี้ ซิมบับเวก็กลายเป็นประเทศที่รวยที่สุดในโลกในตอนนี้ไปแล้ว
Nouriel Rubini
------------------
การเลือกโอบามากลับเข้ามาเป็นประธานาธิบดีเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ต่อพวกมีความคิดวิตถารอย่าง Tea Party พวกคลั่งศาสนา พวกต่อต้านผู้อพยพ พวกมีแนวคิดวิกลจริต และพวกคลั่งไสยศาสตร์
Paul Krugman
------------------
อุตสาหกรรมการเงินใน Wall Street นำพาตัวเองและโลกไปอยู่ที่ขอบเหวของหายนะ แต่ก็ได้รับการโอบอุ้มด้วยภาษีของประชาชน ถึงกระนั้นก็ดี บรรดาผู้บริหารระดับสูงสุดของ Wall Street ยังมีหน้ามาโกรธแค้นโอบามาที่บอกว่าพวกเขาบางคนทำผิดจนก่อปัญหาขึ้น ธนาคารวาณิชธนกิจบางแห่งที่เคยสนับสนุนเดโมแครตถึงกับย้ายข้างไปจ่ายเงินสนับสนุนมิตต์ รอมนีย์ ด้วยหวังว่านโยบายของรีพับลิกันจะช่วยอุตสาหกรรมการเงิน
แต่แล้วรอมนีย์ก็พ่ายแพ้แก่โอบามา แสดงให้เห็นว่าพลังอำนาจของ Wall Street มาถึงขีดจำกัดแล้ว และการที่โอบามาชนะโดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากพวกเขาก็ยิ่งทำให้โอบามาไม่ได้ติดค้างบุญคุณพวกเขาเลย
เอ ... ผมบอกคุณหรือยังล่ะว่า อลิซาเบท วอร์เรน ซึ่งต่อสู้อย่างหนักเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคต่ออุตสาหกรรมการเงิน ก็ได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาเป็นวุฒิสมาชิกแล้ว และเธอก็เป็นมิตรกับ Wall Street น้อยลงด้วย