คอลัมน์รวยด้วยรัก...รวยด้วยหุ้น …
ผมได้มีโอกาสมาเยี่ยมประเทศพม่า ร่วมกับคณะ กลต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ชมรมวาณิชธนกิจ
ผมได้เรียนรู้ว่า ชาวพม่ามีรายได้เฉลี่ยน้อยกว่าไทยหลายเท่า ซึ่งผมก็คาดหวังว่า เขาจะมีค่าครองชีพที่ถูกกว่าบ้านเรา ทำให้เขาก็คงอยู่กันได้สบายๆ
แต่เปล่าเลย ค่าครองชีพของเขาไม่ได้ถูกกว่าเราเลย น้ำมันดีเซล ลิตรละประมาณ 30 บาท น้ำเปล่าขายปลีกขวดละประมาณ 10 บาท อาหารจานเดียว (อาจจะดีหน่อย) จานละประมาณ 90 บาท
ผมจึงค้นข้อมูลเก่าประมาณปี 2010 แต่ก็ยังน่าจะพอเทียบเคียงได้ เป็นข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อประชาชาติแบบ PPP คือ Purchasing Power Parity ซึ่งนำเอาผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อประชาชาติมาปรับด้วยดัชนีราคาสินค้าเฉลี่ยของประเทศนั้นๆเพื่อเปรียบรายได้ประชาชาติแบบ “เปรียบเทียบกำลังซื้อ”
ตัวอย่างเช่น ประเทศไทยเรา รายได้น่าจะประมาณ 5,800 เหรียญต่อปี (ประมาณ 170,000 บาทต่อปี) ไม่ถึง 8,600 เหรียญต่อปีตามตารางนี้ แต่ด้วยราคาสินค้าบ้านเราถูกเมื่อเทียบกับเฉลี่ยของโลก ทำให้ค่า PPP ซึ่งปรับเป็นกำลังซื้อของไทยสูงขึ้น เมื่อเทียบแล้ว จะแสดงได้ดังตารางนี้
โดยเปรียบเทียบกำลังซื้อแล้ว สิงคโปร์ มีประชาชนมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 6.6 เท่าของไทย มาเลเซียประมาณ 1.7 เท่าของไทย ส่วนเวียดนาม 1 / 2.8 เท่าของไทย ลาว 1 / 4.1 เท่าของไทย และ พม่าเพียง 1 / 6.9 เท่าของไทย !เราจึงเห็นเขายังอยู่ในฐานะยากจน
:สนามบินนานาชาติหลัก ใหญ่เล็กกว่าสนามบินเชียงใหม่ น่าจะใหญ่ประมาณสนามบินขอนแก่น
:จากสนามบินที่ย่างกุ้ง ไปเมืองหลวงคือ เนบิดอว์ ต้องนั่งรถ (จนก้นเกือบระบม) 5 ชั่วโมง
:ถนนระหว่างเมืองดูดี แต่จริงๆแล้วไม่เรียบ เป็นคลื่นๆเล็กๆตลอดทาง
:ตลอดทางเกือบ 5 ชั่วโมง มีจุดพักรถเพียงจุดเดียว เป็นประมาณ Outlet ที่ดูดี แต่ผมได้สังเกตก็อกน้ำล้างมือเรียงรายประมาณ 20 ก็อกนั้น เป็นระเบียบเรียบร้อย แต่ละก็อกไม่ได้ต่อจากท่อเดียวกัน แต่ต่อจากแกลลอนน้ำ (แบบค่ำบนเครื่องทำน้ำเย็น ขวดละประมาณ 5 แกลลอน) แต่ละขวดประมาณ 20 ขวดเรียงรายกัน ผมยังล้อเล่นว่า “เป็นระบบประปา แบบภูมิปัญญาชาวบ้าน” จริงๆ
:ระหว่างทาง ไม่มีไฟส่องถนน เชื่อว่า ถ้าขับรถตอนกลางคืน จะมืดสนิทมีเพียงแสงจันทร์และดวงดาวทีเดียว
ผมได้สังเกตปัญหา และเชื่อว่า มีอุปสรรคหลายประการ ดังนี้
1. มีการบริหารบ้านเมืองแบบ “ผูกขาด” ปราศจาก “การคานอำนาจ” และ “การตรวจสอบ” อุปสรรคใหญ่คือ ต้นทุนค่าที่ดิน ค่าเช่าสูงขึ้นตลอดทุกๆปี แม้มีโรงแรมน้อย ธุรกิจดี แต่ก็ไม่ได้มีผู้สร้างมากมาย เพราะต้นทุนค่าที่ดินแพงมาก เสี่ยงสำหรับการลงทุนระยะยาวแสดงว่า ที่ดินอาจจะอยู่ในมือผู้มีอำนาจไม่กี่คน ทำให้สามารถ “ผูกขาด” อำนาจ ผู้ที่ถือที่ดิน ก็มีรายได้ดีและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆโดยแทบไม่ต้องทำอะไร
การ “ผูกขาด” เช่นนั้น เกิดได้ก็เพราะ ขาดการ “คานอำนาจ” และ “การตรวจสอบ” มานับสิบๆ ปี ดังนั้น ผู้ครอง “อำนาจผูกขาด” ก็ผูกขาดต่อไป แทนที่เอกชนจะมีเสรีภาพในการลงทุนอย่างคึกคัก สร้างงาน สร้างกำลังซื้อ ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน กลับไม่สามารถทำได้ ประชาชนจึงยากจน หางานทำยากต่อไป
2.รัฐบาลทหารเป็นผู้ใช้อำนาจผูกขาด รัฐบาลทหารมีอำนาจผูกขาด และมีอำนาจในการมอบการผูกขาดให้แก่เอกชนบางกลุ่ม ก็สามารถประเคนความรวยและอำนาจในกลุ่มแคบๆ แต่ประชาชนก็ยังยากจนกันต่อไป
ผมเห็นเช่นนี้แล้ว รู้สึกรักประเทศไทย
...เป็นประเทศเสรี ประชาชนมี “ความเท่าเทียม” กันในโอกาส ผมเริ่มถูกมองว่าเป็นพวกทุนนิยม มีฐานะดี แต่ในความเป็นจริง ผมก็มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจนมาก่อน ขึ้นรถเมล์มาเรียน สอนหนังสือตั้งแต่ตอนเรียนปีหนึ่ง จนจบมีเงินซื้อเพียงมอเตอร์ไซค์หนึ่งคัน แต่ด้วยพระคุณแผ่นดิน มีโอกาสเรียน ทำงาน และมีชีวิตที่ก้าวหน้ามาตลอด 20-30 ปี
...มีประชาธิปไตยมาตลอด อำนาจทหารในบ้านเราถูกปฏิเสธตั้งแต่ปี 2535 ในเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ”
...ทหารยุคใหม่ รักประชาธิปไตย และยังช่วยปกป้องหลัก “นิติธรรม” ของบ้านเมือง คณะ คมช. ที่ออกมา “พักอำนาจ” ของนักการเมืองผูกขาด จึงได้รับดอกไม้จากประชาชน และไม่ได้มาเพื่ออำนาจผูกขาด แต่มาเพื่อ “ตรวจสอบอำนาจผูกขาด” ซึ่งก็ได้ผล ทำให้ประเทศไทยพ้นจากอำนาจมืด การตรวจสอบทำงานได้ และผู้กระทำผิดต้องมีโทษ
จะได้เป็นบทเรียนไม่ให้ใคร ใช้ “อำนาจผูกขาด” เอาเปรียบประชาชนและประเทศชาติต่อไป ประเทศไทยก็ยังมีหลัก “นิติรัฐ” อยู่ต่อไป
ผมดูแล้ว รู้สึกรักประเทศไทย ไม่อยากให้ใครผูกขาดอำนาจ อยากให้มีการตรวจสอบ และการคานอำนาจ และอย่าให้ใครเอาเรื่อง “ปฏิวัติ” มาสร้างความโกรธกับประชาชนอย่างไร้เหตุผล รัฐบาลตั้งใจทำงานเพื่อประชาชน เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบ อย่าได้มีลักษณะ “ผูกขาดอำนาจ” และปิดหูปิดตาปิดปากประชาชนกันอีกต่อไป แล้วผมเชื่อว่า ประเทศไทยจะเติบโตอย่างยั่งยืนตลอดไปครับ
มนตรี ศรไพศาล (montree4life@yahoo.com; www.oknation.net/blog/richwithlove; @montrees)