xs
xsm
sm
md
lg

คาดปี 56 หุ้นแบงก์ยังขยายตัวเพิ่ม กรุงไทยแนะเก็บ EBANK เข้าพอร์ต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บลจ.กรุงไทยมองปีหน้าหุ้นแบงก์ยังได้อานิสงส์จากสินเชื่อรายย่อยและ SME ขณะที่ บล.เอเซียพลัสมองหุ้นแบงก์ยังเติบโตต่อเนื่อง เชื่อลดดอกเบี้ยกระทบแบงก์แค่ระยะสั้น พร้อมแนะเก็บกองทุนอีทีเอฟ “EBANK” เข้าพอร์ตลงทุนกองเดียวแต่กระจายการลงทุนหุ้นธนาคาร 11 ตัว เปิดขายไอพีโอแล้วตั้งแต่วันนี้ถึง 9 พฤศจิกายน 2555

นายชัชพล สีวลีพันธ์ ผู้อำนวยการสายงานพัฒนาธุรกิจและการตลาด 2 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด กล่าวว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 ดัชนี SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้น 26.67% ในขณะที่ดัชนีของหุ้นกลุ่มธนาคารปรับตัวเพิ่มขึ้น 36.06% โดยคาดว่าทางกลุ่มธนาคารน่าจะยังได้รับอานิสงส์จากสินเชื่อรายย่อยที่เติบโตได้ดี ทั้งจากสินเชื่อรายย่อย และสินเชื่อ SME โดยสินเชื่อรายย่อยนั้นคาดว่าจะได้รับแรงหนุนจากทั้งนโยบายรถคันแรก และบ้านหลังแรก

ขณะที่ SME ก็ยังเติบโตได้ดีจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ดีขึ้นจากนโยบายการขึ้นเงินเดือนและค่าแรงขั้นต่ำ อีกทั้งการลดอัตราภาษีนิติบุคคลลดลงเหลือ 23% ในปี 2555 และ 20% ในปี 2556 เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะผลักดันให้ผลประกอบการของกลุ่มธนาคารดีขึ้นอีกด้วย

นางสาวอุษณีย ลิ่วรัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยไทย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในอนาคตเราประเมินว่าการปล่อยสินเชื่อในปีนี้เติบโตประมาณ 14% และในปีหน้าเราคาดการณ์ไว้ที่ 17% ซึ่งที่ผ่านมาเราให้น้ำหนักการลงทุนมากกว่าตลาด โดยในปีนี้การลงทุนในภาครัฐยังไม่เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสาธารณูปโภค การบริหารจัดการน้ำ ซึ่งหากในปีหน้ามีการดำเนินงานต่อจะส่งผลดีต่อ GDP

สำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมานั้นเป็นอะไรที่ผิดคาด โดยก่อนหน้านี้กลุ่มแบงก์ได้มีการระดมเงินฝากไปจำนวนมาก ทำให้มีภาระดอกเบี้ยสูงซึ่งเรามองว่าจะเป็นผลกระทบเพียงแค่ระยะสั้นเท่านั้น ส่งผลให้ margin ในไตรมาสที่ 4 ลดลงเล็กน้อย แต่เชื่อว่าในระยะยาวการเติบโตยังไปต่อได้

“การจัดการเรื่อง NPL นั้นก็ถือว่าเเเบงก์ยังจัดการได้ในระดับดี ซึ่งเราจะพบว่า NPL นั้นไม่สูง ขณะที่ทุนสำรองก็ยังมีเป็นจำนวนมาก ส่วนเรื่องของดอกเบี้ยนโยบายนั้นก็ยังเป็นอีกความเสี่ยงที่ต้องจับตามองอีกครั้งว่าจะมีการปรับลดเพิ่มเติมหรือไม่”

ทางด้านนายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทพร้อมเปิดจำหน่ายกองทุนเปิด KTAM SET Banking ETF Tracker หรือ EBANK ซึ่งเป็นกองทุนรวมอีทีเอฟที่อ้างอิงกับดัชนี SET Banking Sector Index กองทุนแรกของประเทศไทย โดยมีช่วงการเสนอขายแก่นักลงทุนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ระหว่างวันที่ 1-9 พฤศจิกายน 2555 มูลค่าโครงการ 1,000 ล้านบาท ลงทุนขั้นต่ำ 5,000 บาท (เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณของ 1,000 บาท) กองทุนมีนโยบายเน้นลงทุนในหลักทรัพย์ที่เป็นส่วนประกอบของดัชนี SET Banking Sector Index ทั้งนี้ กองทุนจะเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2555

ทั้งนี้ จุดเด่นของกองทุน EBANK คือ ผู้ลงทุนมีโอกาสรับผลตอบแทนเคลื่อนไหวตามดัชนี SET Banking Sector Index หลังหักค่าใช้จ่ายของกองทุน โดยให้ความคล่องตัวในการซื้อขายแบบ Real Time ตามราคาในกระดานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยราคาต่อหน่วยคิดเป็นเงินเพียงประมาณ 5 บาท และสามารถทราบราคาซื้อขายได้ทันทีโดยไม่ต้องรอราคาปิดสิ้นวันเหมือนกองทุนรวมอื่นๆ นอกจากนี้ กองทุนยังมีนโยบายจ่ายเงินปันผลได้ไม่เกิน 4 ครั้งต่อปี และมีบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดูแลสภาพคล่อง

นางสาวนฤมล อาจอำนวยวิภาส กรรมการผู้จัดการ บล.เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในอนาคตเราจะร่วมมือกับทาง บลจ.กรุงไทยในการออกกองทุนอีทีเอฟที่เหมือนกับกองทุน EBANK ได้แก่หมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) พลังงาน (ENERG) อาหารและเครื่องดื่ม (FOOD) และพาณิชย์ (COMM) ซึ่งคาดว่าในไตรมาส 1 ปี 2556 จะเปิดขายครบทุกกองทุน ทั้งนี้กองทุนอีทีเอฟเหมาะสำหรับนักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนรายย่อยอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ในต่างประเทศการลงทุนในอีทีเอฟได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งรายย่อย และสถาบันเป็นจำนวนมาก ซึ่งในส่วนของประเทศไทยอาจจะต้องใช้เวลาในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุน เชื่อว่าในอนาคตกองทุนอีทีเอฟน่าจะเป็นเครื่องมือในการลงทุนที่ช่วยกระจายความเสี่ยงให้นักลงทุนได้

สำหรับดัชนี SET Banking Sector Index ประกอบด้วยหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันประกอบด้วยหุ้นบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับธนาคารพาณิชย์ 11 แห่ง ได้แก่ BAY BBL CIMBT KBANK KK KTB LHBANK SCB TCAP TISCO TMB โดยแบ่งอัตราส่วนตามมูลค่าตลาด และปัจจุบัน SET Banking Sector Index คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของดัชนี SET Index


กำลังโหลดความคิดเห็น