xs
xsm
sm
md
lg

การที่ประชาชนรู้สึกว่า “การเมืองวันนี้ มีแต่เรื่องทะเลาะกัน” เป็นความสำเร็จของ “ซาตาน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์รวยด้วยรัก...รวยด้วยหุ้น …

ผมเห็นสวนดุสิตโพลแถลงข่าวเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ได้สะท้อนผลเรื่องหนึ่งว่า ประชาชนจำนวนมากไม่ค่อยอยากมีส่วนร่วมกิจกรรมทางการเมือง “เพราะมีแต่เรื่องทะเลาะกัน” ผมฟังแล้วก็หดหู่ใจ

จริงๆ แล้วผมเห็นว่าการเมืองไทยก็พัฒนามาได้อย่างน่ายินดี

...เราได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของสภาผู้แทนราษฎร ตามระบอบประชาธิปไตย

...ทุกฝ่ายยอมรับเสียงส่วนใหญ่ ฝ่ายค้านยินดีให้รัฐบาลทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายมาจากประชาชน ดีกว่าสมัยที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้รับเลือกตั้งจากรัฐสภาให้ทำหน้าที่รัฐบาล กลับมีกลุ่มการเมืองต่อต้าน รบกวนการทำงาน สร้างความแตกแยกโกรธเกลียดชิงชังในสังคม ถึงขั้นที่นำพาประชาชนส่วนหนึ่งมาชุมนุมในย่านใจกลางเศรษฐกิจ และมีกำลังชุดดำอีกส่วนหนึ่ง ตั้งค่ายรายล้อม เป็นกองกำลังติดอาวุธ ทำร้ายพี่น้องไทยร่วมชาติ ทำงานไม่ได้ มีการรมควันโรงพยาบาล ฯลฯ แทบจะนำพาไปสู่สงครามการเมือง

แต่ผมเห็นจิตใจสูงส่งของผู้ใหญ่ในแผ่นดิน จิตใจสูงส่งของอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ และบ้านเมืองก็ผ่านการครอบงำของ “ความโกรธเกลียดชิงชัง” โดยมีการสูญเสียที่จำกัด

จนถึงบัดนี้ ฝ่ายค้านของท่านอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ได้ทำงานการเมืองอย่างมีน้ำใจนักกีฬา ให้โอกาสทำงาน และแนะนำเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

เสน่ห์ของประชาธิปไตยคือ ทุกคน ทุกฝ่ายมีความตั้งใจที่ดีต่อสังคม แต่มีความเชื่อ และความคิดเห็นที่ย่อมแตกต่างกันได้ แต่ “ความแตกต่าง” นั้นย่อมไม่นำไปสู่ “ความแตกแยก”

สภาพความเรียบร้อยอย่างวันนี้ จึงเป็นเรื่องน่ายินดี และ

...สำหรับประชาชน การที่นักการเมือง ผู้นำความคิด ได้แข่งกันเสนอความคิดเห็นที่แตกต่าง เพื่อหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ก็ล้วนแต่เป็นเรื่องดี

...สำหรับสื่อมวลชน เมื่อเห็นการเสนอความคิดที่ “แตกต่าง” อย่างสร้างสรรค์ ก็เป็นโอกาสเสนอเปรียบเทียบให้กับประชาชน จึงเป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนเราที่จะยกระดับประชาชนให้เปิดใจรับฟังนักการเมือง 2 ขั้ว แข่งขันกันเสนอความคิดทำงานเพื่อเราว่าเป็นความสร้างสรรค์ ทำให้ประชาชนเรามีทางเลือก ไม่หลงกลทำให้มองการเสนอความเห็นที่ต่างเป็นเรื่องความแตกแยกกันอีกต่อไป

สำหรับช่วงที่ผ่านมานั้น ผมเชื่อว่ามีหลายเรื่องที่ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านคิดไปทางเดียวกัน ดังนี้

1. ทั้ง 2 ฝ่ายรักประชาธิปไตย :รัฐบาลก็หาเสียงจนได้รับเสียงส่วนใหญ่จากประชาชน จนได้นายกฯ ยิ่งลักษณ์เป็นผู้นำรัฐบาล ฝ่ายค้านก็เคารพเสียงของประชาชน จนได้อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์เป็นผู้นำฝ่ายค้าน ไม่มีม็อบต่อต้านกันอีก

2. ทั้ง 2 ฝ่ายเคารพหลักนิติรัฐเพียงพอที่ไม่สร้างความแตกแยกในบ้านเมือง : เป็นที่คาดการณ์กันมากว่ากระบวนการอำนาจทางการเมืองจะนำไปสู่ “ระบอบทักษิณ ภาค 2” เริ่มด้วยการพาอดีตนายกฯ กลับมาจากต่างประเทศ และล้างความผิดทุจริตคอร์รัปชันไป แต่ในที่สุดก็ไม่มีความพร้อมที่จะล้างความผิดด้วยความจริงและหลักฐานใดๆ และจึงยังไม่ลุแก่อำนาจเกินไปในเรื่องนี้

ในเรื่องนิติรัฐนี้ ผมเพียงแต่เสียดายอยู่เรื่องเดียว เมื่อคดีที่ดินธรณีสงฆ์อัลไพน์ปรากฏชัดเจน แทนที่จะมีความพยายามดิ้นรน หาช่องล้างมลทิน โดยอยากรับมลทินและล้างมลทินโดยไม่ต้องรับโทษใดๆ ก็เป็นแนวทางกฎหมายแบบศรีธนญชัยโกงๆ เช่นเคย จนเมื่อต้องรับผิดลาออกจริง กลับแสดงความเทิดทูนผู้กระทำผิดว่าเป็นการเสียสละ

จริงๆ แล้วเป็นโอกาสที่จะแสดงความสำนึกผิด และการเลือกกลับใจใหม่ เดินในทางสว่าง ทางชอบธรรม

ในประเทศที่นักการเมืองเขามีจริยธรรม เช่น ญี่ปุ่น หรือเกาหลี ซึ่งก็มีคนทุจริตบ้าง แต่เมื่อเขาจำนนต่อความผิดแล้ว นอกจากจะรับโทษความผิดแล้ว เขาจะออกมาโค้งขออภัยในความผิดต่อประชาชน จิตใจเขาก็สบายขึ้น เพราะเมื่อยอมรับความผิด ก็มีโอกาสกลับใจเดินในทางที่ถูก

เมื่อมองการแข่งขันทางการเมืองในปัจจุบัน ผมเห็นความแตกต่างหลายเรื่องที่เราน่าจะชวนให้ประชาชนได้วิเคราะห์ โดยมุ่งที่ “สาระ” มากกว่ามุ่งที่ “ข้างใคร” เชื่อว่านั่นจะทำให้คนไทยได้ประโยชน์ที่สุด

อย่างเช่นเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ก็อาจเป็นเรื่องที่ต้องฟังให้ชัดๆ ว่า ปีที่แล้วใครกักน้ำเกินในเวลาไหน? ทำไมน้ำจึงสะสมจนเมื่อจะระบายกลายเป็นมวลน้ำก้อนใหญ่มหึมา? ในปีนี้ ปล่อยน้ำได้ดี หรือปล่อยมากเกินไป? น้ำเหนือเขื่อนน้อยไปหรือพอดี? น้ำท้ายเขื่อนมีมากไปหรือพอดี?

แม้กระทั่งปัญหา “ถุงทราย” ในท่อ กทม. ก็ไม่ต้องมองว่าเป็นความคิดแบบ “ข้างใคร” มันจริงไหมที่พื้นที่แถบนั้นเป็นพื้นที่ต่ำ? แม้เวลาปกติท่อระบายน้ำทำงานระบายน้ำออกได้ แต่เวลาน้ำมามาก หรือฝนมามาก มันกลับเป็นทางให้น้ำจากพื้นที่สูงไหลเข้ามาท่วมพื้นที่

ความสำเร็จของ “ความเท็จ” คือทำให้เป็นเรื่องทะเลาะกัน เป็นเรื่องตลกที่อุดท่อแก้น้ำท่วม แต่ก็เคยออกคำสั่งผ่านสื่อมวลชนว่า “ให้เอาออก” ซึ่งผมเชื่อว่าถ้าผู้มีอำนาจจะสั่งให้เอาออกเป็นผู้คิดถูกป่านนี้ก็เอาออกไปแล้ว แต่เมื่อเหตุผลของ กทม.ถูกต้อง ไม่เอาถุงทรายออก ความสำเร็จของ “ความเท็จ” ก็คือทำให้จบลงเป็นเรื่อง “ทะเลาะกัน” ที่น่าเบื่อ

อนาคตยังมีอีกหลายเรื่อง ที่ในบทบาทของสื่อมวลชนนั้นน่าจะสนับสนุนให้ฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านได้มีโอกาสแสดงวิสัยทัศน์ นโยบาย เหตุผลที่แตกต่างกัน และให้ประชาชนเป็นผู้เลือก

...จะทำให้เป็นความ “ศิวิไลซ์” เหมือนที่เราได้ชมการโต้วิสัยทัศน์ของการสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

...หรือจะทำให้ “สาระที่แตกต่าง” เป็นการ “ทะเลาะเบาะแว้ง” เหมือนที่ซาตานพยายามทำให้เป็นเช่นนั้น ก็ขึ้นอยู่กับการนำเสนอผ่านสื่อมวลชนของเรา

ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “จำนำข้าว” จะทำให้ราคาข้าวสูงขึ้นหรือไม่? จะทำให้ไทยยังรักษาความเป็นผู้นำการส่งออกข้าวหรือไม่? การเก็บรักษาข้าวจำนำเป็นภาระต่อภาษีเพียงใด?

เรื่องนโยบาย “อัตราแลกเปลี่ยน” ว่าควรจะใช้อำนาจทำให้ จัดการเศรษฐกิจแบบ “เป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยน” และอาจมีความเสี่ยงคล้ายๆ สมัยวิกฤตต้มยำกุ้ง หรือควรจัดการเศรษฐกิจแบบ “เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ” ?

ทุกเรื่องนั้น การมีความคิดหลากหลายย่อมนำไปสู่คุณภาพความคิดที่ดีขึ้น และเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน และประเทศชาติ

ผมจึงเชื่อว่า ทำให้ประชาชนฟังความคิดเห็นทุกด้าน โดยมุ่ง “สาระ” ดีกว่ามุ่งว่า “ข้างใคร” สังคมไทยจะก้าวหน้า ด้วยการพัฒนาจิตใจและความคิดโดยสื่อมวลชนไทยทุกคนครับ

โดย มนตรี ศรไพศาล (montree4life@yahoo.com; www.oknation.net/blog/richwithlove; @montrees)


กำลังโหลดความคิดเห็น