xs
xsm
sm
md
lg

Money Ball

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ มนุษย์หุ้น 2.0

โดยชัยภัทร เนื่องคำมา

http://www.cway-investment.com  

เพิ่งจะดู DVD หนังรางวัลออสการ์เรื่อง Money Ball จบ แล้วเกิดชอบโดนใจ เพราะมันเป็นแนวทางคล้ายกับการลงทุนในตลาดหุ้น เนื่องจากเราเป็นรายย่อยที่มีคู่แข่งในตลาดที่ใหญ่กว่าเหนือกว่า แข่งกันซื้อแข่งกันขายเพื่อชิงกำไรจากส่วนต่างราคา การต่อสู้ในลักษณะนี้มันจึงเป็นเรื่องปกติที่ต้องพบเจอ และแน่นอนว่าจงอย่าไปหวังว่าจะชนะแบบในนิยาย สิ่งที่ต้องทำคือ เอาตัวรอด ด้วยการเล่นในเกมส์ของเรา ไม่ใช่เล่นตามเกมส์ของรายใหญ่ เราถึงจะรอด เข้าประเด็นตรงกับหนังเรื่องนี้พอดิบพอดี จึงหยิบมารีวิวให้ได้ลองอันกันดู

Money Ball เป็นหนังที่สร้างจากอัตชีวประวัติของคุณ บิลลี่ บีน(Billy Beane) แสดงโดยแบรด พิตต์ โดยบีน เป็น ผู้จัดการทีมเบสบอล โอ๊คแลนด์ เอส์ (Oakland A's) หรือ Oakland Athletics ในเมือง โอ๊คแลนด์ เขาเป็นอดีตนักเบสบอลดาวรุ่งคนหนึ่ง ที่ไปไม่ถึงฝันเมื่อแขวนถุงมือ แขวนไม้ปลดระวาง เขาจึงนำประสบการณ์เกือบ 15 ปีในเบสบอล ผันตัวเองมาเป็นผู้จัดการทีม โดยหนังเริ่มต้นเรื่องด้วยเหตุการณ์สำคัญในชีวิตผู้จัดการทีมของบีน ในฤดูกาลปี 2001 ทีม Athletics พ่ายแพ้แก่ New York Yankees ในเกมส์รอบรองชนะเลิศ ทำให้ซูเปอร์สตาร์เก่งๆของทีมที่เขาปั้นมา ถูกทีมยักษ์ใหญ่ทุ่มเงินดึงตัวไป และด้วยงบประมาณของทีมโอ๊คแลนด์ที่มีจำกัด ทำให้บีนไม่สามารถซื้อตัวนักกีฬาดีๆมาทดแทน ดังนั้นโอกาสที่ทีมเล็กจะชนะและได้แชมป์จึงเป็นไปได้ยาก

บีนพยายามอย่างเต็มที่ทั้งการขอเงินสนับสนุนเพิ่ม การให้แมวมองหาตัวนักกีฬาแต่เขาก็มองว่าปัญหานี้ไม่ได้ถูกแก้ไข เพราะอนาคตโอกาสที่จะเกิดแบบนี้ก็มีอีก และเมื่อทีมเสียดาวรุ่ง เสียคนเก่ง อนาคตของทีมก็สั่นคลอน ต้องมาเริ่มกันใหม่อีก (ทีมเล็กๆ กว่าจะปั้นดาวเด่นต้องหานักเบสบอลจากระดับมัธยมมาปั่น ใช้เวลาเป็น2-3 ปี กว่าจะทำแต้ม ทำเบสได้ดีจนโดดเด่นขึ้นมา) และวันหนึ่งบีนก็ได้ไปพบกับ ปีเตอร์ แบนด์ (Peter Brand) หนุ่มวัย 25 ปีเพิ่งจบเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย เยล ซึ่งเข้ามาทำงานในทีมงานเก็บข้อมูลสถิติของนักกีฬาเบสบอล ที่ บีนไปเจอโดยบังเอิญตอนกำลัง เจรจาแลกเปลี่ยนนักกีฬา เขาประทับใจ ปีเตอร์ แบนด์ เพราะเป็นคนที่รู้จริงในข้อมูลของนักกีฬา รู้มากกว่าโค้ชและ สามารถจำแนกความพิเศษ ความสำคัญและประสิทธิภาพของนักกีฬาในทีมได้อย่างดี จนบีนยอมดึงตัว ปีเตอร์ แบนด์ มาร่วมงานเพื่อสร้างทีม โอ๊คแลนด์ เอส์ กับเขา

แบนด์ ผู้ช่วยผู้จัดการทีมที่นำสถิติ การเล่นมาคำนวณด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อ หาผู้เล่นที่เหมาะสม

ความท้าทายอยู่ที่ บีนและปีเตอร์ต้องเอาชนะ กลุ่มแมวมอง ซึ่งเป็นที่ปรึกษาผู้จัดการทีมในการหาตัวผู้เล่นมาทดแทน บีนยังเชื่อมั่นในแนวทางการทำทีมแบบใหม่ โดยใช้ผู้เล่นที่มีสถิติการทำเบสที่ดีเป็นหลัก แบบเฉลี่ยร่วมกัน เน้นการวางแผนเล่นเป็นทีม และหาตัวเล่นที่มีค่าสถิติด้านบวกที่มาเสริมแผนการเล่นของทีม ตามที่เขาต้องการ มากกว่าการหาดาวรุ่งหรือพวกที่มีพรสวรรค์ ซึ่งส่วนมาก นักฬาเหล่านั้นมักถูกประเมิน หรือตีค่าจากคุณสมบัติภายนอกเช่น สถิติการตีลูก, ความสามารถในการวิ่ง, สถิติการขว้าง บุคลิกภาพ หรือแม้แต่หน้าตาและแฟนของนักกีฬา

นักเบสบอล มีสถิติการขว้างดี แต่ไม่เป็นที่นิยมเพราะท้าขว้างแปลก ไม่สวย

คุณสมบัติดังกล่าวซึ่งพาทุกทีมต่างไปพบกับนักกีฬาเพียงไม่กี่คน เหมือนๆกัน ทำให้ต้องแข่งขันกันทุ่มเงินค่าตัวเพื่อแย่งชิงและ สุดท้ายทีมยักษ์ใหญ่ที่มีเงินมากก็ชนะทีมเล็ก ที่สำคัญคุณสมบัติภายนอกอาจจะไม่ได้การันตีว่า นักกีฬาเหล่านั้นจะคุ้มค่าตัวและเข้ามาช่วยทีมให้ประสบความสำเร็จได้

บีน หักดิบ เขาเลือกผู้เล่นจากการประเมินทางสถิตของปีเตอร์ เน้นผู้เล่นที่ทำเบสได้มาก โดยคำนวณภาพจำลองว่าถ้าจะเป็น แชมป์ จะต้องชนะกี่นัด ทำเบสได้เท่าไหร่ จากนั้นก็ทำการหานักเบสบอล ที่มีสถิติการทำเบสที่ดี ค่าตัวต่ำ โดยหลายคนที่เลือก มักมีคุณสมบัติบางอย่างไม่เพียบพร้อม ทำให้ด้อยค่าลง เช่น บางคนแก่เกินอายุมาตรฐาน, บางคนเคยบาดเจ็บศอก(แต่วิ่งเร็วเล่น ทำเบสดี), บางคนเคยเสเพลชอบเที่ยว หรือบางคนก็มีท่าขว้างที่ประหลาดไม่สวยงาม เป็นต้น นักเบสบอลเหล่านี้่ล้วนมีสถิติการทำเบส หรือสถิติการวิ่งที่ดี แต่ภาพภายนอกมีความบกพร่องทำให้ไม่เป็นที่นิยม แต่บีนเลือกพวกเขาโดยปราศจากอคติ ความเชื่อแบบเดิมๆตามธรรมเนียมของเบสบอล

โค้ช ฮาวว์

แต่แน่นอนว่าความคิดและวิธีการทำทีมของบีนก็ต้องเจอปัญหาเมื่อโค้ช อาร์ท ฮาวว์ ยังติดกับความคิดเดิมๆ เขาไม่ยอมใช้ตัวผู้เล่นประหลาดที่บีน ซื้อมาแต่ยังคิดใช้ผู้เล่นเดิมๆ ของทีม ผลคือมำให้ผลงานทีย่ำแย่ แพ้ 17 นัดติดจนมาอยู่ท้ายตาราง คนทั้งวงการ แม้แต่นักวิเคราะห์ ต่างวิจารณ์การทำทีมของบีน ว่าคือความผิดพลาด ความล้มเหลวที่คิดอะไรแบบนั้น แต่ปัญหาเกิดจากผู้เล่นที่ซื้อมา ไม่ได้รับโอกาสที่ได้ลงเล่นจากโค้ช บีนตัดสินใจอีกครั้งด้วยการเดิมพันตำแหน่งผู้จัดการทีม เขายอมขายผู้เล่นที่โค้ชคิดว่าดี ออกไป เพื่อให้ นักกีฬาที่บีนเลือกซื้อมา ทั้ง 3 คนได้ลงเล่นเป็นตัวจริง บีนล่วงลูกเข้าไปแนะนำแทคติกการเล่นกับนักกีฬาเอง โดยเขาไม่เน้นที่การทำแต้ม เน้นที่การเป็นฝ่ายรับที่ดี ไม่ทำพลาดเองด้วยการขวางบอลเสีย พยายามทำให้คู่ต่อสู่ฟาลว์เอ้าท์ให้มาก บวกกับใช้ตัวเล่นที่มีสถิติดี ทำเบสให้ได้มากๆ ยามได้เป็นฝ่ายรุก

เมื่อทุกอย่างเข้าที่ผลก็คือ ทีม โอ๊คแลนด์ เอส์ สามารถชนะ 20 นัดต่อเนื่องเป็นประวัติศาสตร์จนมีโอกาสเข้าชิง แต่จนแล้วจนรอดทีมของ บีนก็ไม่สามารถเอาชนะเป็นแชมป์ลีคได้สำเร็จ แต่แนวทางการทำทีมของบีน ก็ได้รับการยอมรับจากวงการ ด้วยความสำเร็จและสถิติการชนะคู่แข็งด้วยเงินทุนที่น้อย โดยเฉพาะทีม Boston Red Sox ที่สนใจนำแนวทางนี้มาใช้ เจ้าของทีมเสนองานตำแหน่งผู้จัดการทีมให้บีน ด้วยค่าตัวถึง 12.5 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี เป็นสถิติค่าตัวผู้จัดการทีมสูงสุด แต่เขาปฏิเสธ และยังทำทีม โอ๊คแลนด์ เอส์ ที่เขาปั้นมาต่อไป และด้วยแนวความคิดแบบนี้ บอสตัน เรสซอค ก็สามารถนำไปใช้และประสบความสำเร็จในอีก 2 ฤดูกาลต่อมา

ข้อคิดที่ได้จากหนัง

1. เชื่อมั่นและศรัทธาในความคิดของตนเอง

ข้อนี้สำคัญมาก หลายคนมีความคิด อะไรดีๆมากมายทั้งในเรื่องการลงทุนและการดำเนินธุรกิจ แต่ติดตรงที่มักขาดความเชื่อมั่น ยิ่งพอไปขอคำปรึกษา หรือไปพูดไปคุยกับพวกที่มองในมุมร้าย หรือพวกที่หวังดี เป็นห่วงกับเรามากเกินไป บางทีมันก็ทำร้ายโอกาสดีๆที่จะได้ทดลองทำตามสิ่งที่เราคิด ดังนั้นเราจึงจำเป็นเชื่อมั่นและต้องมีศรัทธา และลงมือทำให้เต็มความสามารถ พิสูจน์ให้ทุกคนเห็น ส่วนผลจะออกมาอย่างไร คงไม่สำคัญเมื่อเรามุ่งมั่นและตั้งใจทำให้ดีที่สุดแล้ว

2. ชนะในเกมส์ของเรา

การต่อกรกับขู่แข่งขันที่มีพลังมากกว่า มีอำนาจมากกว่า ใหญ่กว่า โอกาสที่เราจะชนะในเกมส์ของเขาย่อมมีน้อย สิ่งที่เราควรจะทำคือ มองหาจุดแข็งและจุดได้เปรียบของตัวเราเอง และพยายามสร้างเกมส์ของเราขึ้นมา เพื่อใช้เป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขัน เป้าหมายเดียวกันแต่วิธีการแตกต่างกันไป เหมือนบีนที่สามารถทีมจนเป็นที่ยอมรับ เขาไม่ได้เน้นที่การใช้เงินเหมือนทีมเบสบอลทีมอื่นๆ แต่เน้นที่การหานักเบสบอลที่ไม่ต้องสมบูรณ์แบบ แต่มีศักยภาพมาเดิมเต็มแผน สอดคล้องกับกลยุทธเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่เขาหวัง

การลงทุนก็เช่นกัน เราควรมองหาแนวทางที่เหมาะกับตัวเราให้เจอ และทำมันให้ดีที่สุด ไม่ใช่ลอกคนอื่น เดินตามทางที่เขาว่าดี ที่คนประสบความสำเร็จ บางคนว่าเล่นสั้นแล้วรวยแต่เราทำงานประจำไม่มีเวลาดู บ้างว่าต้องซื้อหุ้นยอดนิยมแล้วถือยาว แต่เราดันมาเข้าตอนราคาหุ้นมันสูง แบบนั้นมันก็ไม่สำเร็จ เพราะบางครั้งทางที่คนอื่นๆว่าดี อาจจะไม่เหมาะกับเรา และเมื่อเราทำอย่างคนอื่นแต่เราไม่ถนัด หรือมีทรัพยากรและความเหมาะสมที่น้อยกว่า มันย่อมส่งผลร้ายให้กับตัวเรา

3. อย่ามองอะไรเพียงเปลือกภายนอก

การลงทุนในหุ้น โดยเฉพาะการลงทุนระยะยาว การเลือกหุ้นเป็นสิ่งสำคัญ แต่นักลงทุนมักเลือกหุ้นที่เป็นหุ้นโปรโมท เป็นหุ้นที่มีคนพูดถึง มีข้อมูลรายงานวิเคราะห์เยอะๆ มีกูรูแนะนำ หุ้นเหล่านี้มันก็เหมือน นักกีฬาเบสบอลดาวรุ่ง ที่เราต้องไปแย่งซื้อในตลาด ส่วนมากเรามักต้องจ่ายแพงเพื่อให้ได้มา ยิ่งถ้าเราเข้าตามหลังคนอื่น เข้าตามหลังกระแสเงิน บางครั้งเข้าไปในช่วงที่มีการไล่ราคาไปแล้ว คนส่วนใหญ่มีกำไรเยอะ พร้อมจะรินขาย แบบนั้น โอกาสทำกำไรเราก็ลดลง ดีไม่ดีติดดอยคอยเป็นชาติอีกต่างหาก ทำเกิดข้อสงสัยว่าทำไมซื้อหุ้นที่คิดว่าดี แต่ผลกลับออกมาเป็นแบบนี้ ดังนั้นถ้าคิดจะถือยาวหรืออยากได้กำไรจากการโตของราคา เราอาจจะต้องออกแรงๆมากๆ ต้องหาหุ้นเอง ต้องทำการบ้าน ศึกษาข้อมูลหุ้นเยอะๆ โดยเฉพาะหุ้นที่ยังเป็นหุ้นดีจริงๆ ยังไม่ดัง และมีแนวโน้มเติบโตในอนาคต แบบนั้นโอกาสกำไรก็มีมากกว่าหุ้นที่ทุกสื่อเชียร์ เป็นข่าวบ่อย มีแต่คนคอยดัน คอยเชียร์

หมายเหตุ-รูปประกอบจากอินเตอร์เน็ต


กำลังโหลดความคิดเห็น