คอลัมน์บัวหลวง Money Tips
โดยเสกสรร โตวิวัฒน์
บลจ.บัวหลวง
หลายครั้งมักได้ยินคำปฏิเสธการลงทุนว่า ไม่กล้าซื้อกองทุนเพราะ NAV มันขึ้นมาสูงมากแล้ว เพราะเข้าใจว่าราคา NAV ก็เหมือนราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อขึ้นมามากๆ ก็สูงเกินกว่าราคาพื้นฐานไปแล้ว และราคา NAV ก็ไม่มีนักวิเคราะห์คอยบอกเหมือนราคาหุ้นเสียด้วยว่า ราคาสูงหรือต่ำกว่าราคาปัจจัยพื้นฐาน
ในข้อเท็จจริง ราคาหุ้นและราคา NAV แตกต่างกันอย่างชัดเจน ราคาหุ้นในตลาดฯ คือราคาของกิจการ ที่แสดงผ่านพฤติกรรมการซื้อขายของนักลงทุนในตลาดหุ้น ส่วนราคาหุ้นที่ให้โดยนักวิเคราะห์ นักลงทุน ก็เพื่อบอกว่าหุ้นนั้นราคาในกระดานสมเหตุสมผล แพงไป หรือถูกไป การจะประเมินว่าราคานี้เหมาะสมหรือไม่ สูงหรือต่ำไปของนักวิเคราะห์ ก็จะประเมินดูจากความสามารถและโอกาสแสวงหากำไรของกิจการในอนาคต ดูจากกำลังการผลิต ยอดขาย การบริหารค่าใช้จ่าย ฯลฯ ในขณะนั้นๆ หรือในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ซึ่งก็มีข้อจำกัด เช่น เมื่อโรงงานทำการผลิตเต็มกำลังแล้ว ยอดขายจะเพิ่มขึ้นได้ก็ต้องลงทุน ขยายโรงงานเพิ่มเสียก่อน เป็นต้น ดังนั้นราคาหุ้นแต่ละตัว จึงมีราคาเหมาะสมของมัน แต่ราคาที่เหมาะสมของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันได้
ขณะที่ราคา NAV คือราคาของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมของกองทุนหารด้วยจำนวนหน่วย กำหนดเป็นราคา NAV ต่อหน่วย หรือเรียกกันย่อๆ ว่าราคา NAV โดยการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิก็จะใช้ราคาตลาด ณ ปัจจุบัน ของทรัพย์สินหรือตราสารที่กองทุนลงทุนอยู่ในการคำนวณ จะมียกเว้นบ้าง เช่นกรณีราคาตราสารหนี้ที่ใกล้ครบอายุ หรือกรณีตราสารหนี้ที่ราคาตลาดไม่ค่อยเคลื่อนไหว ก็ให้ใช้ราคาล่าสุด หรือราคาอื่นใดที่ยอมรับให้ใช้ได้
ยกตัวอย่างกองทุนหุ้นแบบคร่าวๆ กองทุนหุ้นจะมีหุ้นหลายๆ ตัวอยู่ในพอร์ต ก็จะมีการคำนวณมูลค่าหุ้นที่กองทุนถืออยู่ทุกตัว โดยใช้ราคาตลาดของหุ้นทุกตัวตอนสิ้นวันคูณด้วยจำนวนหุ้นที่มี รวมกับมูลค่าตราสารหนี้ เงินฝาก รายได้ค้างรับ เงินสด ฯลฯ ที่อยู่ในพอร์ต ณ สิ้นวัน ลบด้วยหนี้สิน เช่น ค่าใช้จ่ายค้างจ่ายต่างๆ แล้วหารด้วยจำนวนหน่วยลงทุนในวันนั้นแล้วประกาศออกมาเป็นราคา NAV
แม้จะใช้ราคาตลาดของหุ้นในการคำนวณเหมือนกัน แต่อย่าลืมว่าผู้จัดการกองทุนสามารถซื้อขาย เปลี่ยนแปลงหุ้นในพอร์ตได้เรื่อยๆ เมื่อเห็นว่าหุ้นตัวใดมีมูลค่าสูงเกินไป เขาก็ขายออกแล้วเปลี่ยนถือหุ้นตัวใหม่ มูลค่า NAV ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จึงไม่ได้บอกว่าราคา NAV แพงเกินไป แต่เป็นตัวเลขที่มาจากการสะสมผลกำไรของกองทุนตั้งแต่จัดตั้งกองทุน แสดงถึงผลประกอบการในอดีต เช่น กองทุนบัวหลวงหุ้นระยะยาว ที่มีราคา NAV วันที่ 12 ตุลาคม 2555 เท่ากับ 29.8144 บาท หรือ กองทุนบัวหลวงตราสารทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ ที่มี NAV ในวันเดียวกันเท่ากับ 69.9358 บาท เป็นต้น
และสำหรับความคิดว่ากองทุนที่ NAV ราคาต่ำกว่า หรือราคาเปิด IPO ที่ 10 บาท ดีกว่ากองทุนที่ราคา NAV สูงๆ เพราะลงทุนแล้วจะได้จำนวนหน่วยลงทุนที่มากกว่าก็เป็นความเข้าใจผิดเช่นกัน เพราะการจะบอกว่าใครดีกว่าแย่กว่า เป็นเรื่องของผลประกอบการในอนาคต จำนวนหน่วยลงทุนที่ได้รับน้อยกว่าไม่ได้หมายถึงกำไรที่จะได้น้อยกว่าแต่อย่างใด
หากกองทุนที่เลือกมีนโยบายการลงทุนเหมือนๆ กัน ไม่ว่าราคา NAV วันที่ซื้อจะเป็นเท่าใด กำไรขาดทุนที่ผู้ลงทุนจะได้รับ ก็จะไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ไม่เชื่อ ลองดูตารางเปรียบเทียบผลประกอบการจากการลงทุนในกลุ่มที่มีนโยบายการลงทุนใกล้เคียงกันของกองทุนบัวหลวง ปี 2555 ตั้งแต่ต้นปีถึง 12 ตุลาคม 55 เป็นตัวอย่าง โดยสมมุติว่ามีการลงทุนในวันที่ 30 ธ.ค. 54 จำนวน 100,000 บาท