ในช่วงที่ผ่านมา เชื่อว่าคุณผู้อ่านหลายๆท่านน่าจะเคยได้ยินกระแสข่าวที่เกี่ยวข้องกับคำว่า “หน้าผาทางการคลัง” หรือ Fiscal Cliff ที่กำลังเป็นที่พูดถึงกันในขณะนี้ค่ะ และในวันนี้เราจะมาดูกันว่า Fiscal Cliff ที่ว่านี้คืออะไร และมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ หรือการลงทุนในตลาดเงินตลาดทุนอย่างไรบ้างค่ะ
Fiscal Cliff หรือ หน้าผาทางการคลัง เป็นคำที่ใช้อธิบายถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ในขณะนี้ค่ะ หลังจากที่มาตรการที่เคยใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ กำลังจะสิ้นสุดลง และรัฐบาลยังไม่มีมาตรการใหม่ๆ ออกมารองรับ โดยมาตรการที่กำลังจะหมดอายุลงนั้น ประกอบไปด้วย (1) มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้ทั่วไปสำหับคู่สมรสให้น้อยลง (2) มาตรการยกเลิกภาษีมรดก และ (3) มาตรการผ่อนปรนภาษี 2% ที่เก็บจากรายได้ของผู้ที่มีเงินเดือน (Payroll - tax cut ) ซึ่งมาตรการภาษีทั้ง 3 อย่างนี้ถูกนำมาใช้ในสมัยการเลือกตั้งของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช (ปี 2544 และ 2546) และกำลังจะหมดอายุลงในปี 2556 ที่จะถึงนี้ ซึ่งในปัจจุบัน ยังไม่มีทีท่าว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะมีมาตรการใดใหม่ๆ ออกมาเพื่อทดแทนมาตรการเหล่านี้ด้วยค่ะ
ในขณะที่มาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทั้ง 3 มาตรการกำลังจะหมดอายุลง แต่ในวันที่ 2 มกราคม 2556 นี้ สหรัฐฯ กำลังจะเริ่มบังคับใช้มาตรการใหม่ หรือ (4) มาตรการปรับลดงบประมาณภาครัฐ (Sequestration) ที่จะลดงบประมาณของตนเองลงประมาณ 8.6 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2556 (Sequestration คือ มาตรการระยะยาวเพื่อลดรายจ่ายทางด้านการคลังลงประมาณ 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเวลา 10 ปี โดยงบประมาณที่ถูกปรับลดราวครึ่งหนึ่งเป็นงบประมาณด้านกลาโหม) นอกจากนี้แล้ว (5) มาตรการลดสวัสดิการแก่ผู้ว่างงาน ที่จะช่วยให้รัฐบาลสามารถลดรายจ่ายลงได้ถึง 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ก็กำลังจะหมดอายุลงในปี 2556 นี้ด้วยค่ะ ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของคำถามที่ว่า หลังจากมาตรการภาษีเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจบลงแล้ว แต่สหรัฐฯ กำลังจะตัดลดงบประมาณของตัวเองลง พร้อมๆกับต้องแบกรับภาระด้านสวัสดิการที่เพิ่มขึ้นไปด้วยพร้อมๆกัน สถานการณ์เช่นนี้จะมีผลทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ เดินไปในทิศทางใดนั่นเอง
โดยหลายฝ่ายคาดว่า Fiscal Cliff ที่กำลังจะเกิดขึ้น จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก รวมถึงจะมีผลทำให้อัตราการจ้างงานในประเทศสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงอีกด้วย ซึ่งเปรียบเสมือนกับการตกจากหน้าผา หรือในอีกความหมายหนึ่งก็คือ การเข้าสู่ภาวะหดตัวทางการคลังนั่นเองค่ะ ซึ่งนักวิเคราะห์ในตลาดคาดการณ์ว่าหากเกิด Fiscal Cliff ขึ้น จะมีผลทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปี 2556 อยู่ที่ระดับ 2.2% หรือขยายตัวได้ต่ำกว่าระดับปัจจุบัน 1 % ในขณะที่อัตราการว่างงานจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 10% จากระดับปัจุบันที่ 8.3% นอกจากนี้แล้ว หากสหรัฐฯ ไม่มีการต่ออายุมาตรการภาษีออกไป จะส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชน (Consumption) ลดลง เนื่องจากประชาชนต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้น และยังจะมีผลทำให้ปริมาณเงินที่เคยหมุนเวียนอยู่ในมือประชาชน(ประมาณ 1.35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) หายไปอีกด้วย สถานการณ์เช่นนี้ อาจทำให้สหรัฐฯ ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลง และอาจส่งผลให้มีเงินไหลออกจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รวมไปถึงสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ แล้วไหลเข้าสู่ประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือดีกว่า (ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า)
ทั้งนี้ อุปสรรคในการแก้ไขปัญหา Fiscal Cliff หลักๆแล้วเกิดจากเหตุผลทางการเมือง เนื่องจากสหรัฐฯ กำลังอยู่ในช่วงระยะเวลาของการเลือกตั้งใหม่ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2555 นี้ สูญญากาศทางการเมืองในช่วงก่อนและหลังการเลือกตั้ง จะส่งผลทำให้การตัดสินใจใช้นโยบายต่างๆ เป็นไปอย่างล่าช้า และในท้ายที่สุดแล้ว สภาคองเกรสอาจไม่สามารถดำเนินมาตรการเพื่อหลีกเลี่ยงการตกหน้าผานี้ได้ทันเวลาหลังจากการเลือกตั้งเพียง 2 เดือน อีกทั้งพรรคการเมืองทั้ง 2 พรรค (เดโมแครต และรีพับบลิกัน) ต่างก็มีนโยบายทางการคลังที่แตกต่างกัน ดังนั้นในขณะนี้จึงยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนถึงมาตรการรองรับที่จะออกมา และด้วยสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เราจึงได้ยินกระแสข่าวเกี่ยวกับธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่อาจจะยื่นมือเข้าช่วยเหลือด้วยการใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติม เช่น การใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณครั้งที่ 3 หรือ Quantitative Easing: QE3 ที่คาดกว่าจะถูกนำมาใช้ในช่วงกลางเดือนกันยายนที่จะถึงนี้
สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทยนั้น ในเบื้องต้นคาดว่าอาจมีผลทำให้การส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ ชะลอตัวลง ดังนั้นผู้ประกอบการส่งออกของไทยควรเตรียมตัวรับมือกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ในขณะที่การลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุนของประเทศไทย คาดว่าอาจจะมีเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติไหลเข้าสู่ตลาดการเงินของไทยมากขึ้นทั้งในตลาดหุ้น และตลาดพันธบัตร ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และสุดท้ายอาจเป็นผลเสียต่อภาคการส่งออกของไทยได้ อย่างไรก็ตาม เราคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไปค่ะ ว่าสหรัฐฯ จะมีมาตรการใดๆ ออกมาแก้ปัญหาดังกล่าว เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อทั้งการลงทุน และการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยเช่นกันค่ะ
โดยสโรกาญจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์
ฝ่ายวิจัยและพัฒนา
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย