xs
xsm
sm
md
lg

จับตาธุรกิจประกันมาแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในช่วงสิบปีที่ผ่านมานี้ ธุรกิจประกันได้เติบโตอย่างรวดเร็ว จากการที่ผู้คนให้ความสำคัญของการมีประกันคุ้มครองและการออมมากเพื่ออนาคตมากขึ้น ทำให้มีผลิตภัณฑ์ประกันใหม่ๆ และช่องทางการขายที่เข้าถึงได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมีแรงผลักดันของภาครัฐที่ให้สิทธิประโยชน์การลดหย่อนทางภาษีจากเบี้ยประกันชีวิต ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในช่วงหลังที่ทำให้ธุรกิจประกันขยายตัวไปสู่ภาคประชาชนได้มากขึ้น

ธุรกิจประกันภัยแบ่งได้เป็นสองกลุ่มหลักๆ คือ ธุรกิจประกันชีวิต (Life insurance) และธุรกิจประกันวินาศภัย (Non-life insurance) โดยภาพรวมธุรกิจประกันทั้งสองประเภทนี้ มีแนวโน้มจะเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ธุรกิจประกันช่วง มกราคม-พฤษภาคม 2555 ได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีเบี้ยประกันรับรวมกว่า 2.15 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยธุรกิจประกันชีวิตมีเบี้ยประกันรวมทั้งสิ้น 1.45 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 17% ส่วนธุรกิจประกันวินาศภัยมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมทั้งสิ้น 6.9 หมื่นล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 23.33%

ธุรกิจประกันชีวิต ยังมีโอกาสโตได้อีกมาก เนื่องจากสัดส่วนการถือครองกรมธรรม์ของคนไทยยังน้อยมาก คือมีเพียง 30% จากประชากรทั้งประเทศ ในขณะที่ญี่ปุ่นมีอัตราส่วนการถือครองกรมธรรม์มากกว่า 100% (หมายความว่าคนญี่ปุ่นหนึ่งคนถือครองกรมธรรม์มากกว่าหนึ่งฉบับ) ทั้งนี้ สมาคมประกันชีวิต ได้ตั้ง เป้าหมายว่า ภายในปี 2558 จะเพิ่มสัดส่วนเป็น 40%

ในด้านค่าเฉลี่ยเบี้ยประกันชีวิตต่อหัว (premium per capita) ของคนไทยนั้นอยู่ที่ประมาณ 3,600 บาท ซึ่งน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของค่าเฉลี่ยของชาวมาเลเซีย และน้อยกว่าหนึ่งในสิบของค่าเฉลี่ยของคนฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์ ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ธุรกิจประกันชีวิตยังมีช่องทางให้โตได้อีกมาก โดยรายได้ต่อหัวที่สูงขึ้นของคนไทยจะเป็นปัจจัยหลักของความต้องการเรื่องประกันชีวิต ซึ่งนอกจากจะได้รับประโยชน์โดยตรงเรื่องการคุ้มครองชีวิตแล้ว ยังเป็นการออมและการลดหย่อนภาษีอีกด้วย

ตลาดประกันชีวิตวันนี้ได้เปลี่ยนจากแต่ก่อนค่อนข้างมาก มีการปรับรูปแบบกรมธรรม์ให้เข้าใจง่าย และจูงใจมากขึ้น ทั้งในเรื่องรายละเอียดการคุ้มครองกับช่องทางการจัดจำหน่ายที่มีการ Cross Sell โดยเฉพาะการใช้ช่องทางขายผ่านธนาคาร หรือแบงก์แอสชัวรันส์ (bancassurance) ที่มีส่วนทำให้ตลาดนี้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันนี้แบงก์แอสชัวรันส์กลายเป็นช่องทางขายประกันชีวิตมากที่สุด มากกว่าการขายผ่านตัวแทนซึ่งเคยเป็นช่องทางหลัก แบงก์แอสชัวรันส์มีส่วนแบ่งตลาดกว่า 60% ส่วนการขายผ่านตัวแทนมีส่วนแบ่งตลาดกว่า 30%

ธุรกิจประกันวินาศภัย แบ่งเป็นกลุ่มหลักๆ ได้แก่ ประกันภัยรถยนต์ ประกันอัคคีภัย ประกันทางภัยทางทะเลและขนส่ง และประกันภัยเบ็ดเตล็ดที่ครอบคลุมประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล ประกันภัยสุขภาพ และประกันภัยความเสี่ยงเชิงทรัพย์สิน ในปีนี้ประกันภัยรถยนต์จะเติบโตอย่างมากจากยอดขายรถยนต์ที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนประกันภัยเบ็ดเตล็ดก็มีแนวโน้มที่จะมีอัตราการโตมากที่สุดจากผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ประเภทประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลและประกันภัยสุขภาพที่กำลังได้รับความนิยมสูงขึ้น

มหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในปี 2554 ได้ส่งผลกระทบโดยตรงอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย รวมถึงธุรกิจประกันวินาศภัยไทย แต่ความเสียหายครั้งนี้ก็ได้สร้างโอกาสในการต่อยอดในการเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัยด้วย เนื่องจากทำให้ภาคธุรกิจและประชาชนมีความรู้ความเข้าใจและตื่นตัวในการทำประกันภัยเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันบริษัทประกันก็สามารถนำบทเรียนจากความเสียหายในปีที่ผ่านมา ไปปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ตามกำลังซื้อและความต้องการความคุ้มครองภัยของลูกค้า ควบคู่ไปกับการควบคุมความเสี่ยงผ่านผลิตภัณฑ์แบบจำกัดความคุ้มครอง (Sub Limit)

ความต้องการประกันภัยที่สูงขึ้น เมื่อรวมกับอัตราค่าเบี้ยประกันที่เพิ่มขึ้นตามระดับความเสี่ยง น่าจะส่งผลให้แนวโน้มของธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2555 เติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 20% ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเบี้ยประกันโตเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10%

นอกจากนี้ การเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ก็จะมีผลกระทบโดยตรงกับ อุตสาหกรรมประกัน โดยหลักเกณฑ์สัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติในบริษัทประกันภัยจะเพิ่มเพดานจากเดิมไม่เกิน 25% เป็นไม่เกิน 49% ในขณะที่ประเทศไทยเป็นตลาดใหญ่ของธุรกิจประกันที่ต่างชาติต้องการเข้ามามีส่วนแบ่ง เนื่องจากมีอัตราการเติบโตในอัตราที่สูงมาก และยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก ทั้งๆ ที่ในปัจจุบันเรามีบริษัทประกันวินาศภัยมากถึงกว่า 60 บริษัท

การแข่งขันที่จะสูงขึ้นนี้ จะทำให้บริษัทขนาดเล็กที่มีเงินทุนน้อยกว่าและต้นทุนการบริหารที่สูงกว่าจะต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด หรือไม่ก็ล้มหายจายจากไป และภายในอุตสาหกรรมจะมีการควบรวมกิจการกับสร้างพันธมิตรกันมากขึ้น

บริษัทที่ยืนหยัดฝ่ามรสุมการแข่งขันครั้งนี้ได้ จะเป็นบริษัทที่มีความแข็งแกร่ง มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการมากยิ่งขึ้น และจะเป็นบริษัทที่มีอนาคตที่ดี

บทความโดยทีมงานจัดการกองทุน บลจ.บัวหลวงโดย เจฟ สุธีโสภณ


กำลังโหลดความคิดเห็น