xs
xsm
sm
md
lg

แผนตั้งสถาบันจัดเรตติ้งแห่งอาเซียน อาจไม่จำเป็นเหตุไม่ช่วยลดต้นทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 นิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์
นิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์ กรรมการผู้จัดการตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) และฐานะหนึ่งในคณะทำงานเพื่อการพัฒนาตลาดอาเชียนบอนด์ได้ให้สัมภาษณ์ "ASTV ผู้จัดการ” เพื่อบอกถึงแนวคิด ความจำเป็น ตลอดจนความเป็นไปได้การจัดตั้งสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือแห่งภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในข้อเสนอที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้เสนอไว้ในแผนการความคิดริเริ่มทางการเงินที่เชียงใหม่ (Chang Mai Initiative) เมื่อครั้งที่ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเวลานั้นเขาหวังว่าการจัดเรตติ้งจากองค์กรใหม่แห่งนี้จะช่วยเพิ่มความสะดวกในการระดมทุนข้ามพรมแดนแก่บริษัทเอกชนของชาติสมาชิกอาเซียนได้มากกว่าการใช้อันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศตามมาตรฐานที่ใช้กันในระดับสากล

Q - ตอนนี้อาเซียนกับ ADB (ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย) ยังคงพิจารณาถึงแนวคิดเรื่องการจัดตั้งสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือแห่งภูมิภาคอาเซียนกันต่อหรือเปล่า

A - อันนั้นก็เป็นอีกแนวคิดหนึ่งว่าเราน่าจะมีเรตติ้งระดับภูมิภาค ประเด็นคือแนวคิดง่ายๆ เพราะมันเป็นเรื่องจิตวิทยา ถามว่าจริงๆ แล้วทั้งโลกมันน่าจะมีเรตติ้งแบบเดียวกันหมดคือทุกคนทำเรตติ้งระหว่างประเทศมันก็คงจะมีปัญหา เพราะตราสารหนี้บริษัทเอกชนในไทยมีตั้งเยอะหากเอามาทำเรตติ้งอินเตอร์แล้วก็อาจจะเป็น junk กันหมด นักลงทุนบางกลุ่มโดยเฉพาะพวกกองทุนบำเหน็จบำนาจหรือพวกประกันก็จะไม่ลงแบบนี้เลย

แล้วถามว่าถ้าอย่างนั้นคนจะไประดมทุนในตลาดได้อย่างไร มันก็เลยต้องมีเรตติ้งระดับประเทศ ขึ้นมาเพื่อที่จะบอกว่าถ้าสำหรับมุมมองของคนไทยแล้วนี่คือเรตติ้งของประเทศไทย และอย่างนี้เราเรียกว่าเป็นตราสารที่ลงทุนได้ถึงแม้นักลงทุนระดับอินเตอร์จะไม่มองก็ตาม แต่สำหรับคนไทยแล้วเราถือว่าเราน่าจะลงทุนได้

เช่นเดียวกันเวลาเราจะข้ามไปในแต่ละประเทศและบอกให้คนในภูมิภาคลงทุนได้ แต่หากคนในภูมิภาคยังใช้วิธีมองเรตติ้งระหว่างประเทศกันอยู่ก็ลงกันไม่ได้ เพราะถ้ามามองของไทยก็ลงได้แค่ ปตท. และอีกแค่ไม่กี่ตัว เพราะฉะนั้นเขาเลยบอกว่าเรามาทำเรตติ้งในสเกลของภูมิภาคของเรา แล้วบอกว่าอันนี้มันเป็นตราสารที่ลงทุนได้และพวกเราจะได้ลงกันอย่างสบายใจ

แต่ตอนนี้การทำเรตติ้งระดับภูมิภาคเรายังไม่มี อันนี้ก็จะเป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่ต่างไปจากข้อตกลงเรื่องการยอมรับซึ่งกันและกัน (mutual recognition) ของอาเซียน ซึ่งก็เป็นเรื่องแนวคิดที่ยอมรับว่าประเทศนั้นมีอย่างไรแล้วเอามา map กัน ส่วนสถาบันจัดอันดับของภูมิภาคอาเซียนนี้แนวคิดคือจะตั้งให้เป็นองค์กรใหม่ตรงกลางแล้วก็ดูทั้งภูมิภาคเลย

Q - การออกตราสารข้ามประเทศ นักลงทุนยังจะต้องเอาเรตติ้งระดับอาเซียนไปเทียบกับระหว่างประเทศกันเองด้วยหรือเปล่า หรือว่าไม่เกี่ยวกัน

A - ผมว่ามันไม่จำเป็น แต่คิดว่าก็คงมีคนพยายามจะมองเทียบกัน แนวคิดของเรานั้นเรากำลังจะบอกว่าเราจะสร้างมาตรฐานหรือสเกลของเราเอง และพยายามที่จะสร้างให้ตลาดยอมรับว่าอย่างนี้มันคือเรตติ้งระดับภูมิภาคที่มันเป็น investment grade อย่างไร

จริงๆ เรตติ้งของเรายังคงเป็นทริสเรตติ้ง ก็ยังเป็นระดับในประเทศอยู่ แต่ทีนี้เขากำลังพูดถึงว่าเขากำลังตั้งองค์กรใหม่ และองค์กรใหม่นี้จริงๆ แล้วเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ ADB ก็เคยพูดเปรยๆ แต่ยังไม่ทางการ เพราะมันเป็นการคุยกันบนโต๊ะทานข้าว เขาคุยกันว่าไอ้แนวคิดเรตติ้งภูมิภาคมันพูดกันมาเยอะแล้ว แต่มันจะสักกี่สตางค์ถ้าสมมุตว่าเราจะตั้งองค์กรขึ้นมาสักองค์กรหนึ่ง และให้เงินทุนสำหรับองค์กรใหม่นี้เลยสัก 5 ปีเพื่อจะกำหนดตัวเรตติ้งระดับภูมิภาคนี้ให้มันมีผลได้ แต่ถ้า 5 ปีแล้วมันล้มเหลวก็ต้องจบกันไป แต่ถ้า 5 ปีมันมั่นคงได้ก็ต้องปล่อยให้มันทำงานตามหน้าที่ของมัน

ADB เขาก็เคยมีความคิดว่ามันควรจะใช้สัก 10 หรือ 20 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ แล้วลองไปหาพวกมืออาชีพที่สามารถจะทำหน้าที่ในลักษณะที่จะสร้างเครดิตเรตติ้งระดับภูมิภาคขึ้นมาได้ ซึ่งผมคิดว่าท้ายที่สุดแล้วเขาก็คงมีกรอบการทำงานที่เป็นระดับภูมิภาค แต่เวลาทำอาจจะต้องอาศัยสถาบันจัดอันดับในประเทศช่วยสนับสนุน ช่วยตรวจสอบด้วย เพราะเขายังมีความคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับข้อมูลในแต่ละประเทศ

Q - แนวทาง ADB น่าจะเป็นคนตั้งเอง หรือจะเป็น ADB ร่วมกับองค์กรแห่งอื่นๆ เช่นธนาคารโลกมาช่วยกันตั้งองค์กรตรงกลางองค์กรใหม่ที่อยู่นอก ADB ขึ้นมา

A - ทุกๆ อย่างผมว่ามันเป็นไปได้ทั้งนั้น ADB เองก็มองอยู่แล้ว จริงๆ อาจจะเป็น ADB, IFC (บรรษัทอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ) หรืออะไรต่างๆ ก็ได้ ประเด็นคือผมคิดว่ามันเป็นแนวคิดที่ดี เพราะถ้านั่งคิดอย่างเดียวแล้วไม่มีใครพูดถึงเรื่องลองให้เงินทุนหรือมีใครมาลองทำวิจัยหน่อยได้ไหมว่าต้นทุนมันจะสักเท่าไหร่ในเวลา 5 ปีสำหรับองค์กรแบบนี้

แต่ผมว่าประเด็นที่ต้องมองเข้ามาคือ 1. ใครจะเป็นคนริเริ่ม 2. หาฉันทามติในเรื่องการยอมรับจากนักลงทุนอาเซียนและจากตลาดว่าจะมีหรือเปล่า เพราะท้ายที่สุดแล้วมันต้องสร้างให้ตลาดและนักลงทุนยอมรับในสิ่งที่คุณเรตออกมาด้วย เพราะอย่างเราเป็นนักลงทุนไทยเราลงทุนในบาทมันก็ไม่มีปัญหา แต่พอเราไปลงทุนในอัตราแลกเปลี่ยนอื่น ตัวเรตติ้งเครดิตมันจะครอบคลุมไปถึงตัวอัตราแลกเปลี่ยนนั้นด้วย เราจึงต้องหาฉันทามติของนักลงทุนก่อนว่าเขาจะยอมรับไหมหากมันจะมีเรตติ้งในอีกสเกลหนึ่ง เพราะมันเป็นการลงทุนที่อาจจะเป็นแบบข้ามประเทศซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนด้วย

ประเด็นที่สองเป็นเรื่องต้นทุน การจัดเรตติ้งในระดับภูมิภาคผมดูแล้วว่ามันไม่น่าจะถูกกว่าในประเทศ พอต้นทุนมันสูงมันก็ทำให้เป็นอุปสรรคในการระดมทุน ส่วนโอกาสจะเกิดสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือภูมิภาคนั้นมีไหม ผมมองว่าโอกาสที่จะเกิดมันก็มี หากว่าอาเซียนไม่ทำเรื่อง mutual recognition เพราะมันก็เป็นทางออกอันหนึ่งที่ดูแล้วน่าจะลดต้นทุนมากกว่าที่จะไปทำเรตติ้งระดับอินเตอร์ แต่ถ้าบอกว่าตอนนี้เรามี mutual recognition แล้ว ตัวนี้ผมคิดว่ามันไม่มีความจำเป็นแล้ว เพราะเราสามารถใช้เรตติ้งของประเทศหนึ่งข้ามไปเลยจะง่ายกว่า


กำลังโหลดความคิดเห็น