xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“อีลิทการ์ด” บัตรเทวดาตกดิน แค่ 9 ปี ถลุง 3,000 ล. แผนกู้ซากแค่หวังกอบโกย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- นับแต่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ศึกษาแนวทางการปิดกิจการ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด ผู้บริหารบัตรอีลิท เมื่อปี 2552 สถานะของโครงการบัตร ไทยแลนด์ อีลิทการ์ด ก็ไม่ต่างอะไรจากศพ ที่รอวันเผา เพราะไม่สามารถดำเนินธุรกรรมใดๆ อันจะมีผลให้เป็นภาระผูกพันได้อีกต่อไป

แต่ละเดือนก็ต้องควักเงินจากที่มีอยู่ ณ ขณะนั้น กว่า 211 ล้านบาท ออกมาใช้จนถึงวันนี้ ได้หมดเกลี้ยงแล้ว โดยไม่มีการตัดสินใจกระทำการใดๆทั้งสิ้นกับโครงการนี้

ในส่วนของผู้บริหารบริษัท ก็ได้แต่ปรับลดต้นทุนการดำเนินงานครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายครั้งแล้วครั้งเล่า เพียงมีความหวังเล็กๆ ที่จะได้ฟื้นคืนชีพมาอีกครั้ง และฝันนั้นก็เป็นจริง

ภายหลังรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี อีลิทการ์ด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ถูกจับจ้องว่า จะได้ผงาดอีกครั้ง ไม่แพ้กับโครงการ OTOP เพราะต่างก็เป็นโครงการ ที่กำเนิดขึ้นมาในยุครัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นพี่ชายตัวเองแท้ๆ

แต่ต่างกันที่ว่า โครงการ อีลิทการ์ด จะเน้น ปรนเปรอ คนรวยเศรษฐี นักธุรกิจผู้มีอันจะกินทั้งหลาย เพียงหวังว่า จะได้เม็ดเงินจากการลงทุนของคนเหล่านั้น ที่ได้รับสิทธิพิเศษหลากหลาย ส่วนโครงการสินค้า OTOP เป็นการสนับสนุนสินค้าชุมชน จากภาคเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น จากการเพิ่มมูลค่าของวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชน ก่อเกิดรายได้กระจายตามชนบท

ตลอดเวลา 9 ปี นับจาก ที่ครม. มีมติเห็นชอบเมื่อปี 2546 ถึง ปัจจุบัน อีลิทการ์ด มีการใช้เงินหมดไปแล้วทั้งสิ้น เกือบ 3,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินจากการชำระทุนจดทะเบียนของภาครัฐ วงเงิน 500 ล้านบาทจากจำนวนเต็ม 1,000 ล้านบาท และอีกเกือบ 2,500 ล้านบาท เป็นเงินที่ได้จากการขายบัตรสมาชิก

วันนี้ อีลิทการ์ด บริษัท ที่เคยใช้เงิน สร้างภาพความหรูหรา เรียกนักลงทุนและนักท่องเที่ยวระดับไฮเอนด์ เข้ามาประเทศไทย กลับบักโกรก ไม่มีแม้เงินที่จะจ่ายเงินเดือนให้แก่พนักงาน

ล่าสุด 26 มิ.ย. 55 รัฐบาลต้องอนุมัติงบประมาณ เข้าไปเสริมสภาพคล่องอีก 20 ล้านบาท ต่อลมหายใจ ในช่วงรอการพิจารณาแผนธุรกิจ และการเรียกชำระค่าทุนจดทะเบียนซึ่งยังเหลืออยู่อีก 500 ล้านบาท ที่รัฐต้องจ่ายตามกฎหมาย กับภาระผูกพันธ์ ที่รัฐบาลและประชาชนคนไทยทั้งประเทศ จำต้องร่วมรับผิดชอบให้บริการสมาชิกระดับเศรษฐี ซึ่งมีทั้งหมด 2,563 ราย เหมือนถูกมัดมือชก

แหล่งข่าวจาก บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด กล่าวว่า วันนี้รัฐบาลไม่มีทางเลือก และจำต้องเดินหน้าธุรกิจนี้ต่อไป และมีความจำเป็นต้องได้รับเงินเพิ่มจากรัฐบาลเข้ามาเสริมอีกก้อนใหญ่ เพราะวันนี้ อีลิทการ์ด ไม่มีเงินเหลืออยู่ให้เดินหน้าองค์กรต่อไปได้ จึงเลือกที่จะใช้วิธี เรียกชำระทุนจดทะเบียนในส่วนที่ยังค้างอยู่อีก 500 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่บริษัทพึงได้ตามกฎหมาย ด้วยข้อแลกเปลี่ยนที่จะพลิกฟื้นบริษัท กลับมาดำเนินกิจการอีกครั้ง ในรูปแบบแผนธุรกิจใหม่ ที่จัดทำเสร็จแล้ว รอเพียงการนำเสนอให้แก่นายชุมพล ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยงและกีฬา เพื่อพิจารณาในเบื้องต้น

อย่างไรก็ตามแนวคิดการพลิกฟื้นโครงการอีลิทการ์ด ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะ เป็นโครงการที่เกิดจากแนวคิด ของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ผู้อยู่เบื้องหลังการบริหารงานของพรรคเพื่อไทยขณะนี้

ทั้งที่ นายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะประกาศเสียงดังฟังชัดว่า โครงการนี้ต้องยุบทิ้ง และยอมที่จะจ่ายเงินชดเชยแก่ผู้ถือบัตร

แต่สุดท้ายก็ต้องยอมศิโรราบกับคำสั่งของ พ.ต.ท. ทักษิณ เพื่อแลกกับที่ยืนในพรรคร่วมรัฐบาลและการครอบครองกระทรวงการท่องเที่ยวฯอีกต่อไป

ทว่า ผู้ที่มีอาการหนักสุด คือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ที่ต้องรับหน้าเสื่อ เป็นทั้งผู้ถือหุ้น 100% และ เป็นผู้คิดผู้ทำแผน ไม่ว่าจะยุบ ล้ม เลิก หรือฟื้นต่อไปก็ตาม ด้วยเพราะประโยคเดียว คือ “คำสั่งของผู้ใหญ่”

ลองไปถามคนใน ททท. ดู ก็จะมีแต่ท่าทาง เบื่อหน่ายและส่ายหัวกับ บัตรเทวดาตกดิน ใบนี้กันหมดแล้ว

หากจะทู่ซี้เดินหน้า โครงการอีลิทการ์ด ต่อไป คงไม่น่าเกลียดเท่ากับการตัดสินใจที่ล่าช้าไปถึง 3 ปี นับจาก ปี 2552 ที่ มีคำสั่งจากนายชุมพล ให้ บริษัท หยุดทำธุรกรรมใดๆทั้งสิ้น แต่ถึงวันนี้กลับนำเหตุผลของงานวิจัย จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2550 มาอ้างว่า เป็นโครงการที่ดีและถ้าทำได้ จะช่วยสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ

หากติดตามความเคลื่อนไหว ของโครงการบัตรไทยแลนด์ อีลิทการ์ดพ มาโดยตลอด ก็จะรู้ได้ทันทีว่า เหตุผลดังกล่าวเป็นเพียงข้ออ้าง กันเสียหน้า เพราะการจะเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป ขึ้นอยู่กับเหตุผลทางการเมืองล้วนๆ มากกว่า แต่ผู้รับกรรม คือประชาชนผู้เสียภาษีอย่างสุจริต นี่เอง
กำลังโหลดความคิดเห็น