xs
xsm
sm
md
lg

อนาคตสดใสของธุรกิจบริการ ICT

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายงาน

โดย กร ดุรงคเวโรจน์ บลจ.บัวหลวง จำกัด

ปัจจุบันเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วเพื่อรองรับความต้องการบริโภคข้อมูล รวมถึงต้องการความรวดเร็วเพื่อรับส่งข้อมูลของผู้ใช้ ทำให้เราเห็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรม ICT อย่างไรก็ตาม คาดว่าหลายคนอาจมองข้ามอุตสาหกรรมซึ่งเปรียบเสมือนรากฐาน (Backbone) ของการเชื่อมโยง ได้แก่ ธุรกิจบริการในอุตสาหกรรม ICT เนื่องจากผู้ใช้ (End User) มักจะมีประสบการณ์เพียงแต่การใช้งานอุปกรณ์ในชีวิตประจำวัน เช่น คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟน และรู้จักเพียงผู้ประกอบการที่ให้บริการด้านข้อมูลและโทรคมนาคม เช่น บริษัทสื่อสารโทรคมนาคม หรือบริษัทผลิตซอฟต์แวร์ต่างๆ แต่หากเรามองให้หมดเป็นภาพรวมนั้น เครือข่ายทาง ICT แบ่งเป็น 3 ระดับหลักๆ ที่สำคัญ ดังภาพด้านล่าง

จะเห็นได้ว่า ก่อนที่ผู้ใช้งาน (End User) จะได้รับข้อมูลหลากหลายประเภทมาแสดงผลในอุปกรณ์ต่างๆ นั้น ข้อมูลจะถูกส่งผ่านโครงสร้างพื้นฐานและตัวส่งสัญญาณซึ่งทำงานอยู่เบื้องหลัง โดยประสิทธิภาพ ความเร็ว ความเสถียร ของข้อมูลนั้นจะถูกตัดสินด้วยคุณภาพของโครงข่าย และการเข้าถึงข้อมูลจะขึ้นอยู่กับการกระจายตัวของโครงข่ายไปยังพื้นที่ต่างๆ หากมองตัวอย่างจากต่างประเทศ ประเทศที่พัฒนาแล้วมักจะมีโครงสร้างทาง ICT ที่ทันสมัยและครอบคลุม ประชากรส่วนใหญ่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และมักจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เช่น สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งโครงสร้างทางเศรษฐกิจจะมีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวาง แสดงให้เห็นถึงโอกาสการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจบริการโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งมีความจำเป็นในการลงทุนในเทคโนโลยี ICT จากตั้งแต่ระดับต้นสู่ปลาย

ปัจจุบันประเทศไทยมีโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงรองรับการใช้งานของประชากรเพียงร้อยละ 33 เท่านั้น เนื่องจากยังขาดความพร้อมของอุปกรณ์ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง กระทรวงไอซีทีจึงได้ผลักดันโครงการ Smart Thailand ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีเป้าหมายในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสายเคเบิลใยแก้วนำแสงให้ครอบคลุมประชากร 80% ในอีก 3 ปีข้างหน้า และ 95% ในอีก 8 ปี ซึ่งจะต้องมีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์และวางสายเคเบิลใยแก้วนำแสงเพิ่มเติมทั่วประเทศ และส่งเสริมการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

นอกจากนี้ อีกหนึ่งแรงผลักดันคือการจัดตั้งประชาคมอาเซียน (AEC) ในปี 2015 แผนการ ICT ในภูมิภาคจะถูกให้ความสำคัญเพื่อให้เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของชาติต่างๆ โดยระบบสื่อสารที่ดีจะทำให้ประเทศต่างๆ ในประชาคมเสมือนอยู่ใกล้ชิดกันมากขึ้น ธุรกรรมและการตัดสินใจจะรวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และมีแผนการทำให้อาเซียนเป็นศูนย์กลาง ICT ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและเป็นหนึ่งในศูนย์กลาง ICT ที่สำคัญของโลก โดยขั้นตอนการดำเนินการนั้นจะจัดมอบหมายหน้าที่ด้าน ICT ให้แต่ละประเทศสมาชิกเชื่อมต่อระบบเคเบิลใยแก้วนำแสงของแต่ละประเทศเข้าด้วยกันเป็นโครงข่าย การเชื่อมต่อในภูมิภาคจะเร็วขึ้น และจะลดค่าใช้จ่ายในการส่งผ่านข้อมูลในภูมิภาคไปได้มาก ประเทศไทยเป็นหัวใจสำคัญ เนื่องจากมีภูมิศาสตร์อยู่ศูนย์กลางของอาเซียน กระทรวงไอซีทีไทยประเมินความพร้อมของแรงงาน ICT ว่ามีคุณภาพในระดับแนวหน้าของภูมิภาคอยู่แล้ว ดังนั้น การสร้างโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยจึงเป็นสิ่งสำคัญมากเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับ AEC

จากข้อมูลข้างต้น ธุรกิจบริการ ICT จึงเป็นอุตสาหกรรมที่น่าจับตามองในปัจจุบัน จากมุมกว้างคือประเทศไทยอยู่ในช่วงเข้าสู่ชุมชนเมือง (Urbanization) ความเจริญและความร่ำรวยกำลังค่อยๆ กระจายไปทั่วประเทศ ซึ่งความต้องการเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต และการสื่อสารต่างๆ ก็จะเพิ่มขึ้นตามจำนวนชุมชนเมืองและความเจริญของแต่ละเมือง นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยได้ฟื้นฟูจากวิกฤตเศรษฐกิจอย่างมั่นคงและกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจองค์กรต่างๆ ล้วนมีความพร้อมด้านการลงทุนในอุปกรณ์ ICT เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดทั้งภายในและต่างประเทศกันทั้งสิ้น ดังนั้น หากนักลงทุนมองข้ามธุรกิจบริการภาค ICT ในอนาคตอันใกล้นี้ อาจจะทำให้พลาดคลื่นใหญ่ลูกนี้ของเศรษฐกิจไทยไปอย่างน่าเสียดายได้
กำลังโหลดความคิดเห็น