บัวหลวง Money Tips
โดย วรวรรณ ธาราภูมิ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวง
คน กทม. อ่อนแอมาก ลองคิดย้อนไปตอนน้ำท่วมในปีก่อนสิ แย่งกันตุนของจ้าละหวั่น สารพัดจะกังวล แล้วก็ค่อนข้างจะช่วยตัวเองไม่ได้
นี่หากน้ำท่วมทั้งหมด ตัดขาดเส้นทางลำเลียงอาหาร คน กทม. จะเป็นอย่างไรหนอ
นอกจากนี้ ค่าแรงจ้างคนรับใช้ก็แพง คนรับใช้จะหายากขึ้น ต้องจ้างแรงงานต่างด้าว ซึ่งก็น่ากังวลในความปลอดภัยโดยเฉพาะกรณีที่เจ้าบ้านไม่เอื้อเอ็นดูผูกใจเขา ไม่เมตตาต่อเขา
ถึงเวลาที่เราควรจะปรับเปลี่ยนชีวิตหรือยัง เราควรหัดทำงานบ้านโดยแบ่งกันทำหรือยัง อย่างน้อยประโยชน์ก็คือ ได้ใช้เวลาร่วมกันบ้าง ทำให้สุขภาพแข็งแรง ประหยัดเงิน มีความปลอดภัยขึ้น และให้พึ่งพาตนเองได้ นอกจากนี้ ลูกๆ ก็ยังจะได้หัดทำงานในบ้านกันบ้าง
พูดถึงลูกๆ ก็นึกถึงคุณยุทธนา กระบวนแสง ที่เล่าถึงผู้บริหารคนหนึ่งที่มีเงินด้วยการสร้างตนเอง แต่บอกว่าจะส่งลูกเรียนจนถึง ม.ปลายเท่านั้น ที่เหลือให้ลูกขวนขวายหาเงินเรียนเอง
พ่อแม่หลายคนอ่านตรงนี้แล้ว อาจจะอึ้งและคัดค้านอย่างรุนแรง เพราะแต่ละคนต่างอยากส่งลูกเรียนให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะถ้าลูกไม่เรียนจบขั้นต่ำปริญญาตรี อนาคตจะดีไปได้อย่างไร สังคมที่ไหนจะยอมรับ
อย่ากังวลไปเลยค่ะ เพราะการศึกษาในปัจจุบันอาจตอบโจทย์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ได้
เรียนจบ ดร. แล้วไง จบฮาร์วาร์ด แล้วไง จบไอวี่ลีคแล้วไง ก็มีบางคนที่จบแล้วออกมาทำงานในสถาบันการเงินชั้นนำระดับโลก ทำงานให้รัฐบาลประเทศใหญ่ๆ แล้วทำระบบการเงิน เศรษฐกิจ พังกันบ่อยๆ ก็มีให้เห็นไม่น้อยไม่ใช่หรือ
Steve Jobs ไม่เรียนปริญญาตรี แต่มุ่งทำงานที่ตนรัก แล้วเขาก็ทำเงินได้ และแสนจะยิ่งใหญ่
ไม่มีใครโชคดีเท่าคนที่ได้ทำงานที่ตนรัก และทำเงินจากมันได้หรอกค่ะ
หยุดเคี่ยวเข็ญลูกๆ ให้เดินตามรอยฝันของเรา ให้เขามีความฝันเป็นของตนเองเถิด เราควรสนับสนุน ประคับประคองเขาให้เดินไปในทางดีเท่านั้น
แต่พ่อแม่ก็ต้องทำให้ลูกหัดช่วยตนเองให้ได้
เด็กตะวันตก อยู่ ม.ปลาย ก็หางานทำในระหว่างเรียนกันแล้ว หากพ่อแม่ไทยๆ เข้มแข็ง ให้ลูกรู้จักทำงานหาเงินเป็น ให้หัดช่วยตัวเอง ลูกจะเข้มแข็งและสู้โลกได้
การถนอมลูกจนเกินไป จะทำร้ายลูก ลูกจะไม่โต จะคอยพึ่งพาเราเสมอ และเราก็ไม่ได้อยู่กับเขาไปตลอด
ถ้าเราต้องจากลูกไปอย่างกระทันหัน ในขณะที่เขายังไม่รู้จักพึ่งพาตนเอง และยังไม่มีความสามารถในการตัดสินใจ เราจะไม่ห่วงเขาหรือคะ
ดังนั้น การสอนให้ลูกพึ่งตนเองจึงดีที่สุด เพื่อความสำเร็จในชีวิตภายหน้าของลูก
เราควรให้ลูกตัดสินใจเองได้ แต่ต้องให้เหมาะกับแต่ละช่วงวัยและรับกับภาวะความเป็นผู้ใหญ่ของเขาด้วย ซึ่งเด็กที่อายุเท่าๆ กันก็อาจเป็นผู้ใหญ่ช้าเร็วต่างกัน
แต่พ่อแม่ต้องเข้าใจด้วยว่า หากให้อิสระและให้ลูกพึ่งตนเองมากเกินไปในขณะที่ยังไม่พร้อม เด็กก็อาจกลับเป็นคนที่ตัดสินใจเองไม่ได้ กลายเป็นคนที่ไม่มั่นใจในตนเองว่า จะตัดสินใจได้ถูกต้อง
ในทางตรงข้าม ถ้าเราไม่ให้โอกาสเขามากพอที่จะให้คิดเอง ทำเอง เด็กก็จะพึ่งพาพ่อแม่เกินไป และขาดความรู้หรือความปรารถนาที่จะตัดสินใจของพรรค์นี้ไม่ต้องรอจนลูกโตแล้วทำ ให้เริ่มแต่วัยน้อยๆ ได้เลยค่ะ
ในวัยเด็กเล็ก ลูกช่วยเราเก็บของเล่นของเขาได้ ให้ลูกเอาเสื้อผ้าใช้แล้วไปใส่ตะกร้าซักได้ เมื่อลูกถอดรองเท้าแล้วก็ให้เขาถือไปเก็บเข้าที่เองได้ หรือให้เริ่มเลือกเสื้อผ้าใส่เอง ให้เลือกว่าจะทานอะไร
ที่สำคัญตัวเราเองต้องเป็นแบบอย่างที่ดีได้ด้วย ไม่ใช่บอกลูกว่า “ทำตามที่พ่อแม่สอน แต่อย่าทำอย่างที่พ่อแม่ทำ” แบบนั้นมันไม่เวิร์ค
และเมื่อลูกโตพอ ขอให้พ่อแม่แบ่งปันเรื่องราวที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลวให้ลูกรับรู้ ลูกจะได้รู้จักโลกที่แท้จริงว่าไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
ในบางครั้งเราต้องปล่อยให้ลูกทำในสิ่งที่เรารู้ล่วงหน้าว่าจะล้มเหลวด้วย ตราบใดที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายและจิตใจลูกนัก เพราะการทำผิดพลาดเป็นหนทางดีที่สุดที่จะให้ลูกเรียนรู้ที่จะแก้ไข นอกจากนี้การสอนให้ลูกเติบโตโดยไม่ต้องพึ่งพาใคร ไม่ได้แปลว่า ทุกคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตจะต้องสมบูรณ์แบบ
ให้พูดกับลูกบ่อยๆ เรื่องความสำคัญของการตั้งเป้าหมาย เช่นจะเรียนดนตรีให้ได้สักชิ้นหนึ่ง จะเก็บเงินให้ได้สักจำนวนหนึ่ง และสอนลูกให้กำหนดขั้นตอนการทำงานทีละขั้นๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายบ้าง สิ่งนี้จะทำให้เกิดแรงจูงใจและช่วยรักษาให้เด็กและผู้ใหญ่เดินไปในอนาคตที่ดีขึ้นเรื่อยๆ
สิ่งสำคัญเหนืออื่นใดคือ เราต้องสนับสนุนลูกในกระบวนการเรียนรู้ที่จะพึ่งพาตนเอง และต้องให้ลูกได้รับรู้ว่า ...
“ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น พ่อกับแม่ก็จะรอลูกอยู่ตรงนี้ เพื่อเป็นกำลังใจและคอยช่วยเหลือในยามที่ลูกต้องการ”