คอลัมน์ Good Morning News วันที่ 24 เมษายน 2555
โดย วรวรรณ ธาราภูมิ
และทีมจัดการกองทุน บลจ.บัวหลวง
เศรษฐกิจยุโรป
• สเปนเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยซ้ำซ้อนอย่างเป็นทางการแล้ว (Double Dip Recession) โดยมีอัตราขยายตัวของ GDP ติดลบไป 0.4% ในไตรมาสแรกปีนี้ ซี่งเป็นการติดลบต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า
• ซิตี้กรุ๊ปเตือนว่า แม้ IMF จะเพิ่มกองทุนได้อีก 4.3 แสนล้านดอลลาร์เพื่อป้องกันเศรษฐกิจโลกจากวิกฤตหนี้ของยุโรปได้ แต่ก็ยังคงมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากเป้าหมายเดิมต้องเพิ่มขนาดกองทุนอีก 5-6 แสนล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ เงินทุนที่เพิ่มใหม่นั้นมี 2 แสนล้านดอลลาร์ที่มาจากยุโรปที่เป็นต้นตอปัญหา ขณะที่กลุ่มประเทศ BRIC (บราซิล จีน รัสเซีย และอินเดีย) ได้ชะลอการตัดสินใจช่วยเหลือไปเป็นเดือนมิถุนายน แสดงว่า BRIC อยากจะรอให้ยุโรปมีเสถียรภาพมากขึ้นก่อนจะเข้าไปช่วยเหลือทางการเงิน
• สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรประบุว่า 17 ชาติสมาชิกยูโรยังคงประสบปัญหาในการควบคุมหนี้สาธารณะ แม้รัฐบาลจะลดยอดขาดดุลงบประมาณให้มาอยู่ที่ 4.1% ของ GDP จากระดับ 6.2% ในปีก่อน เนื่องจากการเริ่มใช้มาตรการรัดเข็มขัดที่เข้มงวดนั้นแม้จะทำให้การขาดดุลงบประมาณลดลง แต่ก็ทำให้หนี้สาธารณะโดยรวมเพิ่มขึ้นเป็น 87.2% ของ GDP ในปีที่แล้ว สูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งสหภาพยุโรปในปี 2542
ทั้งนี้ ไอร์แลนด์ กรีซ และสเปน เป็น 3 ประเทศที่มียอดขาดดุลสูงสุดเท่ากับ 13.1%, 9.1% และ 8.5% ของ GDP ตามลำดับ
ดัชนี PMI สำหรับธุรกิจบริการและการผลิตในกลุ่มยูโรลดลงจาก 49.1 ในเดือนมีนาคม เป็น 47.4 ในเดือนเมษายน อันเป็นการลดลง 3 เดือนติดต่อกัน และถึงแม้กลุ่มยูโรจะพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจากการถดถอยในไตรมาส 4 ปีก่อน แต่มาตรการรัดเข็มขัดของหลายประเทศได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และทำให้อัตราการว่างงานปรับตัวสูงขึ้นแล้ว
• นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ได้ยื่นหนังสือลาออกต่อสมเด็จพระราชินีเบียทริซแล้ว เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับมาตรการรัดเข็มขัดเพื่อลดการขาดดุลงบประมาณให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของสหภาพยุโรป
• ความเชื่อมั่นผู้บริโภคของอิตาลีลดลงแตะระดับ 89 ในเดือนเมษายน จากระดับ 96.3ในเดือนก่อน ต่ำที่สุดในรอบกว่า 15 ปี โดยมีเหตุหลักจากการใช้นโยบายรัดเข็มขัดด้วยการลดรายจ่ายลง 20 พันล้านยูโร และจากการขึ้นภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ภาครัฐ ทั้งนี้ รัฐบาลประเมินว่ามาตรการรัดเข็มขัดจะทำให้เศรษฐกิจหดตัว 1.2% ในปีนี้ และอัตราว่างงานจะสูงขึ้นเป็น 9.3%
เศรษฐกิจเอเชีย
• ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ของจีนในเดือนเมษายนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 49.1 จาก 48.3ในเดือนมีนาคม แม้ว่าจะยังคงต่ำกว่า 50 จุดซึ่งเป็นระดับที่แสดงถึงการหดตัวทางเศรษฐกิจ
แต่การปรับตัวขึ้นบ้างก็ช่วยลดความกังวลต่อการเติบโตของจีน และเป็นแนวโน้มที่ดีว่าการผ่อนคลายนโยบายของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมาเริ่มส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจเร่งตัวขึ้น
• ที่ประชุมเศรษฐกิจโลก (WEF) เตือนญี่ปุ่นว่า การเลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างรวดเร็วอาจเกิดความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางพลังงานต่อประเทศ
เรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะภัยพิบัติที่กระทบโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ฟูกุชิมะ ไดอิจิ ได้สร้างความวิตกด้านความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มากขึ้น ญี่ปุ่นจึงเปลี่ยนนโยบายมาพึ่งพาพลังงานฟอสซิลมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ WEF ได้เรียกร้องให้ญี่ปุ่นเสริมสร้างความปลอดภัยระยะยาวให้แก่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แทนการยกเลิก
• อินโดนีเซียรายงานว่า มูลค่าเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในไตรมาสแรกเป็น 51.5 ล้านล้านรูเปียห์ (5.6 พันล้านดอลลาร์) เพิ่มขึ้น 30.3% ซึ่งเป็นผลของการพัฒนาสาธารณูปโภคตามแผนการพัฒนาประเทศในระยะยาวได้อย่างรวดเร็ว และจากการได้ปรับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศโดย Moody’s และ Fitch ขึ้นสู่ระดับ Investment Grade
ทั้งนี้ อินโดนีเซียตั้งเป้าหมายว่าในปีนี้จะมีเม็ดเงิน FDI รวม 206.8 ล้านล้านรูเปียห์ (2.23 หมื่นล้านดอลลาร์)
• อัตราว่างงานของมาเลเซียเดือนกุมภาพันธ์เท่ากับ 3.2% สูงที่สุดในรอบ 5 เดือน ด้วยจำนวนผู้ว่างงาน 402,000 คน (เพิ่มขึ้น 16,600 คนจากเดือนก่อน) โดยอัตราว่างงานเฉลี่ยในปีก่อนอยู่ที่ 3.09%
เศรษฐกิจไทย
• ผอ.หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต นิด้า กล่าวว่า ไทยควรเร่งดึงนักลงทุนจากจีนให้มากขึ้นเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยให้เติบโตในระดับ 5-6% เนื่องจากจีนมีความแข็งแกร่งทางโครงสร้างเศรษฐกิจมาก ทั้งด้านการค้า การลงทุน และการบริโภคในประเทศ
ดังนั้น รัฐและเอกชนไทยจึงควรเพิ่มบทบาทการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับจีนให้มากขึ้นเพื่อเร่งทดแทนสหรัฐฯ และยุโรปที่ยังมีปัญหาทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ยังมีความเสี่ยงจากนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทที่จะทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นได้ และ ธปท.ควรเกาะติดสถานการณ์เงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด
• คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะพิจารณาค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) งวดใหม่สำหรับเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ในวันที่ 25 เมษายนนี้ ซีงในงวดนี้ต้นทุน Ft สูงขึ้นมากตามราคาก๊าซธรรมชาติที่แปรผันตามราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนงวดนี้ขึ้นมากกว่า 30 สต.ต่อหน่วย ขณะที่งวดที่แล้วต้นทุนสูงขึ้น 18 สต.ต่อหน่วย แต่ไม่ได้ผลักภาระไปให้ผู้ใช้ไฟฟ้าเนื่องจากต้องการช่วยลดภาระผู้ประสบภัยน้ำท่วมจึงไม่มีการปรับขึ้น ทำให้รวมแล้วต้นทุนค่าไฟฟ้าปรับขึ้นกว่า 50 สต.ต่อหน่วย
อย่างไรก็ตาม ประธาน กกพ.ได้ระบุว่า ค่า Ft จะไม่ปรับขึ้นเท่ากับต้นทุนค่าพลังงานทั้งหมด และส่วนหนึ่งอาจให้ กฟผ.รับภาระไปก่อน
Equity Market
• SET Index ปิด 1,189.35 จุด ลดลง 5.25 จุด หรือ -0.44% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 24,800 ล้านบาท โดยลดลงในช่วงบ่ายตามตลาดยุโรปและตลาดในภูมิภาค ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่ยังกังวลต่อเศรษฐกิจในยุโรปหลังจากที่ดัชนีอุตสาหกรรมของเยอรมนีปรับลดลงอย่างผิดความคาดหมาย
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิด้วยมูลค่า 796 ล้านบาท ทำให้มีมูลค่าซื้อสะสมนับตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 84,184 ล้านบาท
• คณะอนุกรรมการไต่สวนสอบข้อเท็จจริงกรณีการทำสัญญาโครงการ 3G HSPA ระหว่าง กสท โทรคมนาคม กับ ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้เลื่อนการชี้ขาดเป็นวันที่ 8 พฤษภาคมนี้ แม้จะพบว่ามีความผิดปกติจริงในการทำสัญญา เนื่องจากยังมีอีกหลายประเด็นทางกฎหมายที่ต้องพิจารณาเพื่อตัดสินว่าความผิดที่เกิดขึ้นจะอยู่ในระดับใด
ทั้งนี้ หลังจากที่มีข้อสรุปจากคณะอนุกรรมการฯ แล้ว จะเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงใน 15 วัน แล้วจึงจะสรุปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่พิจารณา
Fixed Income Market
• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยเปลี่ยนแปลงอยู่ในช่วง -0.03% ถึง 0.00% โดยลดลงในช่วงอายุ 3 ถึง 10 ปี สำหรับวันนี้มีการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย อายุ 1, 3, 6 และ 12 เดือน มูลค่ารวม 123,000 ล้านบาท
• กระทรวงการคลังจะออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อรายย่อยรุ่นพิเศษในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ครั้งที่ 2 วงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.75 ต่อปี อายุคงเหลือ 2.39 ปี โดยจะเพิ่มปริมาณพันธบัตรเพื่อรายย่อยพิเศษในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 รุ่นอายุ 3 ปี เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณของภาครัฐ และเพิ่มทางเลือกในการลงทุนของประชาชน ซึ่งจะจำหน่ายในวันที่ 23 เมษายน-13 กรกฎาคมนี้ ที่ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา