xs
xsm
sm
md
lg

ภาษีเดือนมีนาคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ ...Wealth Panorama by KKFund
โดย อภิรติ ชัยรัตน์

เดือนมกราคม เป็นเดือนปีใหม่ เดือนกุมภาพันธ์เป็นเดือนแห่งความรัก เดือนมีนาคมเป็นเดือนแห่ง... ภ.ง.ด. หน้าที่หนึ่งของพวกเราทุกคนที่ต้องทำในเดือนนี้คือยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือ ภ.ง.ด. การยื่น ภ.ง.ด. เป็นเรื่องง่าย ๆ สำหรับหลายท่าน แต่อีกหลายท่านก็ยังมองว่าเป็นเรื่องซับซ้อนและน่ากังวลใจ หลายท่านอีกนั้นแหละที่ให้เลขาหรือฝ่ายทรัพยากรบุคคลช่วยกรอกให้ โดยให้ข้อมูลต่าง ๆ กับเลขาหรือฝ่ายทรัพยากรบุคคลไป เมื่อก่อนการให้ผู้อื่นกรอก ภ.ง.ด. และยื่นแบบรายการให้เป็นทางเลือกที่ดีเพราะรายได้ ค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนภาษีไม่ซับซ้อน ไม่มีเงื่อนไขมาก แต่ในปัจจุบันค่าลดหย่อนจากการลงทุน ค่าลดหย่อนจากประกันชีวิต หรือค่าลดหย่อนอื่น ๆ มีเงื่อนไขที่เราควรดูให้ถี่ถ้วน มีหลายรายที่ไม่ได้คิดเลี่ยงภาษีแต่ยื่นค่าลดหย่อนผิด กรมสรรพากรตรวจพบอีก 2 ปีต่อมา ขอเรียกชำระภาษีเพิ่มพร้อมค่าปรับรายวัน รวมกันหลายแสนบาท ทำอะไรไม่ได้เลย

วันนี้เรามาดูกันดีกว่าว่าค่าลดหย่อนที่สามารถหักภาษีได้มีอะไรบ้าง จะได้พอเป็นแนวทางไปตรวจตามรายการอีกครั้ง ค่าลดหย่อนที่เราพูดถึงนี้ หมายถึง การหักเงินจำนวนหนึ่งออกจากเงินได้พึงประเมิน เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้เสียภาษี ค่าลดหย่อนหลักที่ทุกคนได้รับสิทธินั้นอยู่แล้วคือ ค่าลดหย่อนส่วนบุคคล 30,000 บาท ค่าลดหย่อนสำหรับคู่สมรส 30,000 บาท ค่าลดหย่อนบุตรที่เป็นผู้เยาว์ หรือมีอายุไม่เกิน 25 ปีและยังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือชั้นอุดมศึกษาขึ้นไป ไม่เกิน 3 คน คนละ 15,000 บาท ค่าลดหย่อนเพื่อการศึกษาบุตร คนละ 2,000 บาทซึ่งต้องเป็นการศึกษาภายในประเทศเท่านั้น และค่าลดหย่อนเพื่อการเลี้ยงดูพ่อแม่ที่ไม่มีรายได้ คนละ 30,000 บาท โดยพ่อแม่ต้องมีอายุ 60ปีขึ้นไป มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของเรา

ค่าลดหย่อนอื่น ๆ ที่แต่ละคนมีจะแตกต่างกัน ซึ่งได้รวมรวบจากข้อมูลหลายแหล่ง ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้น่าจะมีหลัก ๆ ดังนี้

- เบี้ยประกันชีวิต หักค่าลดหย่อนได้สูงสุด 100,000 บาท ขอย้ำคำว่าประกันชีวิตนะคะ มีหลายท่านเอาเบี้ยประกันสุขภาพไปรวมด้วย

- เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมที่ 5% ของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 750 บาทต่อเดือน

-เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หักได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 500,000 บาท

- เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือที่เราเรียกว่า RMF หักได้ตามจำนวนเงินที่ลงทุนจริงในปีนั้น ๆ แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ ทั้งนี้เมื่อรวมกับเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการแล้วไม่เกิน 500,000 บาท เงื่อนไขการลงทุนของ RMF คือ ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี หากขาดการลงทุน 2 ปีติดต่อกัน กรมสรรพากรจะเรียกคืนภาษีที่ได้รับลดหย่อนในปีก่อน ๆ ด้วย

- เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ ที่เราเรียกว่า LTF หักได้ตามจำนวนเงินที่ลงทุนจริงในปีนั้น ๆ แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท โดยไม่นับรวมกับเงินสะสมใน RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และไม่ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี

- ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมซื้อบ้านตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

- เงินบริจาคให้องค์กรหรือสถานสาธารณะกุศล วัด มูลนิธิ สถานพยาบาล หรือสถานศึกษาที่มีรายชื่อที่กรมสรรพากรกำหนด ตามจำนวนเงินที่บริจาคจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว

- เงินบริจาคให้กับโรงเรียนตามโครงการให้ 1 ได้ 2 ของกรมสรรพากร ลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาค แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว

- เมื่อหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนที่กล่าวแล้ว ให้หักลดหย่อนสำหรับเงินบริจาคได้เท่าที่บริจาค แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินที่เหลือนั้นบวกกับเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุททกภัยผ่านส่วนราชการ

ค่าลดหย่อนดังกล่าวข้างต้นอาจยังไม่ครบถ้วนทุกประเภท และอาจมุ่งเน้นผู้มีรายได้ในรูปแบบของเงินเดือนเป็นหลัก แต่คนส่วนใหญ่ก็จะมีค่าลดหย่อนอยู่ในหมวดหมู่ตามที่กล่าวมา ซึ่งเราสามารถศึกษาเพิ่มเติมจากประมวลรัษฎากรหรือสอบถามกรมสรรพากรเพิ่มเติมได้

ภาษีเป็นเรื่องใกล้ตัวเราที่สุด แต่ก็เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่รู้น้อยที่สุด ก็แหม ฝรั่งยังกลัวเลย เหมือนในภาพยนตร์ดังเรื่องหนึ่งที่กล่าวว่า “ท่านเป็นมัจจุราชหรือสรรพากรล่ะ ?” หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อทุกท่านอ่านบทความนี้จบแล้ว จะเกิดความเข้าใจและไม่กลัวภาษีอีกต่อไปนะคะ
กำลังโหลดความคิดเห็น