xs
xsm
sm
md
lg

ปู่แจ๊ค อดีต CEO บลจ.Vanguard ผู้รังเกียจนักพนันใน Wall Street

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วรวรรณ ธาราภูมิ
คอลัมน์บัวหลวง Money Tips
โดยวรวรรณ ธาราภูมิ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บลจ.บัวหลวง

ข่าวเล็กๆ ข่าวหนึ่งเมื่อปลายปีที่แล้ว คือ John C. Bogle ที่คนมักเรียกว่า Jack Bogle ออกมาบอกว่าแม้คนจะเข้าใจว่าเขาเป็นคนในกลุ่ม 1% ผู้ร่ำรวยที่สุดในอเมริกา แต่เขาเห็นใจและสนับสนุนแนวคิดของพวก 99% ที่กำลัง Occupy Wall Street

ปู่แจ๊ค อายุ 82 ปีแล้ว เป็นผู้ก่อตั้ง Vanguard ซึ่งเป็นบริษัทจัดการกองทุนหรือ บลจ.ที่เน้นวิธีบริหารแบบ Passive Management ที่ประสบความสำเร็จด้วยต้นทุนบริหารต่ำมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านมรสุมเศรษฐกิจและความรุ่งเรืองมาจนทุกวันนี้ได้อย่างสง่างาม

ปู่แจ๊ค เป็นคนแรกที่ก่อตั้งกองทุนรวมแบบ Index Fund ออกกองทุน Index Fund กองแรกให้กับวงการในปี 1976 และประสบผลสำเร็จจนทำให้ Vanguard มีสินทรัพย์ภายใต้กองทุนอเมริกันที่บริหาร 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ และปู่ก็ลงจากเก้าอี้ CEO มา 15 ปีแล้ว

วันนี้ปู่แจ๊คก็ยังร่ำรวยอยู่ แม้จะน้อยกว่าช่วงที่ปู่ยังเป็น CEO มากมาย แต่ปู่ยังได้รับค่าตอบแทนอีกส่วนในการบริหารศูนย์วิจัย Vanguard's Bogle Financial Markets Research Center ซึ่งเป็นมันสมองชั้นเลิศให้ Vanguard Group ขณะนี้ปู่แจ๊คกำลังเขียนหนังสือเล่มที่ 10 เรื่อง "The Clash of Cultures: Investment vs. Speculation" แปลง่ายๆ ภาษาบ้านก็คือ “การล่มสลายทางวัฒนธรรม : การลงทุน กับ การเก็งกำไร” และปู่ก็ยังให้สุนทรพจน์ในงานที่ได้รับเชิญอยู่เนืองๆ

ปู่แจ๊ค รำพึงว่า “เฮ้อ ... ตลาดทุนของเรามันชักจะบ้าไปกันใหญ่แล้ว มีการเก็งกำไรมากกว่าการลงทุนที่แท้จริงตั้ง 200 เท่า”

“ปู่ให้ความสนใจมากมายกับนโยบายภาษีของสหรัฐที่ปู่เห็นว่าไม่เป็นธรรมเพราะเอื้อประโยชน์แก่คนส่วนน้อยบนความเสียเปรียบของคนส่วนใหญ่ เขามองว่าโครงสร้างภาษีที่ตกทอดมาจากสมัยจอร์ช บุช ทำให้ นักพนันใน Wall Street เสียภาษีบนกำไรจากการลงทุนแค่ 15% ในขณะที่คนทำงานงกๆ อย่างซื่อสัตย์ต้องเสียภาษีจากเงินได้สูงสุดได้ถึง 35% มันเป็นไปได้ยังไง ที่นักพนันพวกนั้นจะเสียภาษีในอัตราแค่ 15% เท่ากับคนงานก่อสร้าง”

“ใช่เลย อัตราภาษีมันเปลี่ยนได้ แต่เราก็ต้องดูด้วยว่ามันเป็นรายได้จากอะไร มีที่มาอย่างไร และอะไรควรเสียภาษีเท่าใด เงินปันผลน่าจะเสียภาษีอัตราเดียวกับเงินได้ปกติอื่นๆ แต่กำไรที่ได้รับจากการลงทุนมันต้องแยกประเภทเป็นการลงทุนของคนที่ก่อตั้งธุรกิจจริงๆ และให้คุณค่าแก่สังคม กับกำไรจากการพนันของพวก Wall Street ด้วย ไม่ใช่รวมมาเป็นพวกเดียวกันหมดแบบนี้ ไอ้อย่างหลังที่ทำเพื่อเก็งกำไรระยะสั้นควรโดนอัตราภาษีที่สูงกว่าอัตราภาษีเงินได้ปกติในขั้นสูงสุดด้วยซ้ำ”

แล้วปู่กำลังเขียนหนังสืออะไรอยู่ล่ะตอนนี้

“กำลังเขียนเรื่องที่ระบบการเงินของเรามันแหกโค้งไปนอกรางไงล่ะ เดิมทีเราเชื่อว่าระบบตลาดทุนเป็นแหล่งทุนสำหรับธุรกิจใหม่ๆ ที่ไม่มีทุนพอ หรือขอกู้ได้ยากหรือดอกเบี้ยแพงไป และเป็นแหล่งทุนที่บริษัทเดิมในตลาดทุนจะระดมเงินทุนไปขยายกิจการได้ ซึ่งเงินทุนที่ต้องการไปทำอย่างนั้นมันประมาณปีละ 200,000 ล้านดอลลาร์ มันก็สามารถระดมผ่าน Wall Street หรือกู้แบงค์ได้ แต่ตอนนี้เรากลับมีการเก็งกำไรกันเฉลี่ยปีละ 40 ล้านล้านดอลลาร์ บ้าไหมล่ะ“

“Hedge Fund ละตัวดี มีที่ไหน ให้ผลตอบแทนตั้งเกิน 100% ต่อปี ลงทุนอะไรที่ให้ผลตอบแทนขนาดนั้น ก็ตอนที่ปู่ยังทำงานเป็นผู้บริหารกองทุนอยู่น่ะได้ 18% ก็เยี่ยมมากแล้ว ปู่เลยคิดว่า เราต้องเก็บภาษีเวลามีการขายแบบเก็งกำไรระยะสั้น เราต้องวางกรอบล้อมการเก็งกำไรแบบนั้นไว้ในระบบการเงินของเรา ไม่อย่างนั้นแล้ว คนที่รวยที่สุดก็คือพวก Wall Street นี่แหละ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำงานเหงื่อตกอย่างธุรกิจอื่นเขา แต่กลับมีช่องทางร่ำรวยมหาศาลจากการเป็นตัวกลางทางการเงิน การลงทุน แล้วเสียภาษีต่ำกว่าในส่วนที่เก็งกำไร”

เปลี่ยนเรื่องดีกว่าแล้ว ปู่มองว่าการลงทุนปีหน้าจะเป็นไง

“อืม ... ก็ยากอยู่นะ ถ้าหลานลงทุนในหุ้นอเมริกาหรือทางยุโรปด้วยไอเดียว่าจะลงทุนสักปีแล้วค่อยออกมาละก็ ให้รีบไปถอนออกมาเลย เพราะไม่ควรลงทุนในกรอบสั้นแค่ปีเดียว อาจจะขาดทุนได้ และถ้ามีกรอบเวลา 5 ปี ปู่ก็ยังกังวลอยู่ว่าควรลงทุนหรือเปล่า ในการลงทุนเราต้องคิดมากไปกว่าจะกังวลเรื่องเดียวว่าตลาดจะพังโครมลงมาเมื่อไหร่ เราต้องพิจารณาผลสุดท้ายของเงินออมของเราว่ามันจะไปได้สักเท่าไรจึงจะพอใช้ เมื่อกลัวความเสี่ยงจากหุ้นก็ต้องไปพันธบัตร เงินฝาก แต่ดอกเบี้ยต่ำเตี้ยเรี่ยดินจนจะเป็นศูนย์ไปอีกนานแบบนี้ แกก็ต้องทำใจยอมรับไปก่อนหากไม่เอาหุ้น”

“ในเมื่อเศรษฐกิจมันแย่ขนาดนี้ หากเป็นเงินปู่ ปู่จะระวังให้มากๆ เพราะการใช้สอยของคนอเมริกันกับยุโรปมันหวังไม่ได้เลยว่าจะดีใน 2-3 ปีข้างหน้า คนไม่มีเงินจะใช้ และโลกในวันนี้ก็ไม่มีอะไรให้เชื่อมั่นได้เลย”
กำลังโหลดความคิดเห็น