ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ใครที่เคยติดตามข่าวแวดวงกองทุนรวมคงจะคุ้นหน้าคุ้นตา ผู้บริหารหนุ่มไฟแรงอย่าง พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย จำกัด ที่มีสไตล์การทำงาน รวมถึงการพูดคุยไม่เหมือนใคร แตกต่างจากผู้บริหารส่วนใหญ่ ซึ่งในปี 2555 ก็จะนี้ พัชร จะไปดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย สายงาน SME โดยมี อำพล โพธิ์โลหะกุล รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จะเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บลจ.กสิกรไทย แทน ซึ่งก่อนจะอำลาตำแหน่งไป พัชร ได้ให้แง่มุมที่น่าสนใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมกองทุนรวมถึงการทำงานที่ผ่านมาของบลจ.กสิกรไทยอีกด้วย
คิดแบบพัชร
พัชร บอกว่า หลังจากเข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ สิ่้งที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดคือการบริหารงาน ซึ่งก่อนหน้านี้พนักงานในบลจ.ส่วนใหญ่จะยึดติดกับวิชาการ มากเกินไป ไม่ออกมานอกกรอบ แต่เมื่อเราให้มุมมองที่ต่างกันไปทำให้ทีมงานกล้าคิดและกล้าทำและกล้าตัดสินใจมากขึ้น โดยไม่มีกรอบเก่าๆมาเป็นตัวแบ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราภูมิใจมากที่สุดในการบริหารงานภายใต้ตำเเหน่งนี้
โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมามีผู้จัดการกองทุนลาออกไปทำให้เรามีการปรับปรุงระบบงานการบริหารกองทุน เน้นทำงานเป็นทีม ซึ่งจะเน้นดูแลการลงทุนเป็นรายอุตสาหกรรม เช่นดูหุ้นกลุ่มธนาคาร กลุ่มพลังงาน เป็นต้น หลังจากนั้นก็จะมาประชุมเพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุนกันอีกครั้งโดยมี คุณประเสริฐ ขนบธรรมชัย CFA ที่ดูแลเรื่องการลงทุนเป็นผู้ตัดสินใจอีกครั้ง นอกจากนี้เรายังมีการขยายทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่้อสรรหาโปรดักส์ที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
"ต่อจากอีก 1-2 ปี เราต้องดูสิ่งที่เราวางแผนการบริหารงานไว้จะเป็นอย่างไร ออกมาในรูปแบบไหน ดีหรือไม่ดี ซึ่งคงต้องใช้เวลา"
คนไทยชอบอะไรง่ายๆ
การคิดโปรดักส์กองทุนในช่วง 1-3 ปีที่ผ่านมาไม่ค่อยยากเท่าไร เนื่องจากโปรดักส์ส่วนใหญ่จะเน้นดึงเงินฝาก หรือเงินออมของคนทั่วไปเข้ามาลงทุนในกองทุนรวม ถือว่าเป็นเม็ดเงินที่มีอยู่ในระบบหรือเม็ดเงินเก่า ซึ่งต่อจากนี้โจทย์จะยากกว่าเพราะจะเป็นการดึงเม็ดเงินใหม่เข้ามาลงทุนที่ไม่ใช่เงินในระบบที่มีอยู่แล้ว เช่น คนทำงาน หรือมนุษย์เงินเดือน ที่ออมเงินผ่านกองทุนรวม โดยสิ่งที่สื่อสารออกไปเพื่้อเชิญชวนให้คนเหล่านี้เข้ามาลงทุนในกองทุนรวมยากกว่า
"ทั้งนี้การสื่อสารโดยใช้ภาษาที่ง่ายๆนั้นเป็นอะไรที่ผมค่อนข้างเน้นกับทีมงาน เช่น ถ้าคุณไม่ออมเงิน ไม่สนใจซื้อกองทุน อนาคตคุณเกษียณไปจะไม่มีเงินใช้นะ แบบนี้จะเข้าใจได้ง่ายกว่า"
ปรับปรุงการให้บริการ
พัชร กล่าวต่อว่า เรามีการปรับปรุงการให้บริการลูกค้าให้ดีขึ้น โดยเพิ่มประสิทธิภาพของ KAsset Contact Center เพื่อให้รองรับจำนวนลูกค้ากว่า 60,000 สาย โดยมีจำนวนสายที่ไม่ได้รับลดลงกว่า 10,000 สาย พร้อมทั้งเพิ่มบริการจดหมายแจ้งเตือนหน่วยลงทุนที่ขายคืนได้ของกองทุน LTF และ RMF
นอกจากนี้บลจ.กสิกรไทย ยังได้ปรับปรุงการให้บริการลูกค้าผ่านอินเตอร์เน็ต โดยปรับปรุง Web K-Cyber Invest ใหม่ทั้งหมดเพื่อให้ลูกค้าใช้งานได้ง่ายขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มบริการใหม่ๆ K-Cyber Invest เช่นการซื้อ LTF และ RMF ผ่านบัตรเครดิต แสดงต้นทุนเฉลี่ยของทุกกองทุนในพอร์ตการลงทุน แสดงหน่วยลงทุนที่ขายคืนได้ของกองทุน LTF และ RMF ในแต่ละปี แสดงจำนวนเงิน วันที่ได้นับเงินของกองทุนที่มีอายุหรือ Term Fund รวมถึงการมี Micro Site - K Property Fund ข้อมูลรอบด้านสำหรับผู้ลงทุน
ครองแชมป์AUMอันดับ1
สำหรับสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ หรือ AUM ของบลจ.กสิกรไทย ณ ปัจจุบัน 700,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นที่หนึ่งของอุตสหกรรมกองทุนรวม โดย พัชร กล่าวว่า โดยรวมตลาดกองทุนรวมโตค่อนข้างน้อย แต่ตลาดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (provident fund) และกองทุนส่วนบุคคล (private fund) ยังมีโอกาสเติบโตได้อีก ทั้งนี้เราประมาณการณ์ไว้ว่า AUM สิ้นปี 2554 น่าจะอยู่ที่ 730,000 ล้านบาท ส่วนรายได้รวมครึ่งปี 2554 อยู่ที่ 1,535 ล้านบาท คิดเป็น 25% ของอุตสาหกรรม และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 554 ล้านบาท ส่วนประมาณการณ์รายได้ทั้งปี 2554 อยู่ที่ 3,000 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 900 ล้านบาท ทั้งนี้ก่อนที่พัชรจะเข้ามารับตำแหน่ง AUM รวมอยู่ที่ประมาณ 320,000 ล้านบาท และมีกำไรประมาณ 410 ล้านบาท
ในส่วนของกองทุนรวมหากแบ่งเป็น กองทุนคุ้มครองเงินต้น บลจ.กสิกรไทย มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่า 80% หรือ 80,000 ล้านบาท โดยกองทุนประเภทนี้ออกมารองรับการลดการคุ้มครองเงินฝากที่เหลือเพียง 1 ล้านบาทในเดือนสิงหาคม 2555 นี้อีกด้วย
ขณะที่กองทุนประหยัดภาษี อย่าง กองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เราคาดการณ์ว่าในปี 2554 จะมีเม็ดเงินเข้ามาประมาณ 11,800 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าปีที่แล้ว โดยในช่วงเดือนพฤศจิกายน ทางกสิกรไทยได้ทำโปรโมชันไปบ้างแล้ว ทำให้เม็ดเงินไหลเข้ามาประมาณ 8,500 ล้านบาท โดยช่วงที่เหลือคาดว่าจะปิดยอดได้ที่ 11,000 ล้านบาท
สำหรับกองทุน K-Gold และ K-Oil เติบโตถึง 3 เท่าจากปี 2553 หรือ 10 เท่า จากปี 2552 ซึ่งทั้งสองกองทุนได้รับความนิยมจากนักลงทุนเป็นจำนวนมาก ขณะที่กองทุน K Gold ETF ก็มีขนาด IPO ใหญ่ที่สุด และมีสภาพตล่องสูงที่สุดอีกด้วย
ส่วนของกองทุนสำรองเลี้งชีพหรือ provident fund มีการเติบโตค่อนข้างสูง โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นที่ 1 โดยมีรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่มีขนาดมากกว่า 10,000 ล้านบาทเลือกบลจ.กสิกรไทย เป็นผู้บริหารกองทุน คิดเป็นสินทรัพย์ทั้งสิ้น 52,100 ล้านบาท