xs
xsm
sm
md
lg

KTAMส่งกองทุนลุยบอนด์ทั่วโลก ชูรับกำไร3เด้งช่วยกระจายความเสี่่ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บลจ.กรุงไทย ส่งกองทุน"เคแทม เวิลด์ บอนด์ ฟันด์" ลุยลงทุนตราสารหนี้ทั่วโลกผ่านกองทุน Templeton Global Bond Fund บริหารโดยบริษัท Franklin Advisers มั่นใจช่วยนักลงทุนกระจายความเสี่ยงการลงทุน พร้อมรับผลตอบแทน 3 เด้งจากดอกเบี้ย แคปปิตอลเกน และกำไรจากค่าเงิน เปิดขายไอพีโอระหว่างวันที่ 13 - 25 ตุลาคม 2554 นี้

นายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจากบลจ.กรุงไทยได้ทยอยเปิดตัวกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ จำนวน 7 กองทุนโดยได้รับความร่วมมือกับธนาคารซิตี้แบงก์เป็นตัวแทนสนับสนุนการขาย ซึ่งที่ผ่านมากองทุนจะเป็นการลงทุนในหุ้นหรือเป็นกลุ่ม sector fund มาตลอด ทั้งนี้เรามองว่าหากมีกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ทั่วโลก ก็จะเป็นการเติมเต็มให้กับนักลงทุน

โดยบริษัทจะเปิดจำหน่ายกองทุนเปิดเคแทม เวิลด์ บอนด์ ฟันด์ (KTAM-WORLD BOND FUND : KT-BOND) ระหว่างวันที่ 13 - 25 ตุลาคม 2554 โดยกองทุนดังกล่าวเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมหลัก Templeton Global Bond Fund บริหารโดย Franklin Advisers, Inc ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Franklin Templeton Investments ที่มีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการสูงถึง 716,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2554) โดยกองทุนหลักมีวัตถุประสงค์ในการบริหารเงินลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงสุดจากรายได้จากดอกเบี้ย การเพิ่มขึ้นของมูลค่าเงินลงทุน และกำไรจากค่าเงิน
 
นายปวิณ รอดลอยทุกข์ ผู้อำนวยการฝ่ายบุคคลธนกิจ ธนาคารซิตี้แบงก์ ในฐานะตัวแทนสนับสนุนการขาย กล่าวว่า กองทุนตราสารหนี้เป็นกองทุนที่เหมาะสมกับพอร์ตการลงทุน โดยนักลงทุนส่วนมากสามารถได้ประโยชน์จากการจัดสรรการลงทุนในตราสารหนี้ ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากดอกเบี้ย ราคาที่ไม่ผันผวน และโอกาสเติบโตในระยะยาว ซึ่งตราสารหนี้เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของพอร์ตการลงทุนที่มีการกระจายความเสี่ยงที่ดี

อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ของซิตึ้ เชื่อว่า ภาวะตลาดที่กลับสู่สินทรัพย์ที่มีคุณภาพ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดง และอัตาเงินเฟ้อที่ลดลงส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วปรับตัวลงสู่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้การขาดปัจจัยกระตุ้นให้อัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลที่มีคุณภาพสูงคงอยู่ในระดับนี้หรืออาจลดลงจะยังคงอยู่ไปอีกระยะหนึ่ง

"หลักสำคัญของการลงทุนให้ประสบผลสำเร็จคือการกระจายความเสี่ยงที่ดี หรือจัดสรรเงินลงทุนในหลากหลายประเภทของสินทรัพย์ ทั้งนี้สัดส่วนของการลงทุนนั้นจะขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล โดยพิจารณาจากระยะเวลาในการลงทุนและความเสี่ยงที่ยอมรับได้"นายปวิณ กล่าว

ทางด้านนายพีรพงศ์ กิจจาการ ผู้จัดการฝ่ายการลงทุน-ตราสารหนี้ บลจ.กรุงไทย กล่าวว่า สำหรับกลยุทธ์การลงทุนการหลักของกองทุนเปิดเคแทม เวิลด์ บอนด์ ฟันด์ คือลงทุนเน้นปัจจัยพื้นฐานระยะยาว เน้นการได้รับอัตราผลตอบแทนรวม โดยไม่มีข้อจำกัดที่ต้องลงทุนตามเกณฑ์การวัดผลการดำเนินงาน โดยจะแสดงให้เห็นความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจที่ให้เอื้อโอกาสในการลงทุนเช่น อัตราดอกเบี้ย หรือ duration สกุลเงิน อันดับความน่าเชื่อถือหรือระดับเครดิตของรัฐบาล ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของบริษัทเมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาลในแต่ละอุตหสกรรม การคัดเลือกหลักทรัพย์ด้วยวิธี bottom-up และการลงทุนในเชิงรุกในหลักทรัพย์กลุ่มย่อยตามความน่าสนใจในช่วงระหว่างวัฎจักรเศรษฐกิจและเครดิตอีกด้วย

นอกจากนี้กองทุนหลักยังวางพอร์ตการลงทุนแบบเชิงรุก โดยจะกำหนดความเสี่ยงที่รับได้อย่างชัดเจน และมีการปรับส่วนประกอบของงบประมาณสำหรับรองรับความเสี่ยงอีกด้วย

ส่วนนายชัชพล สีวลีพันธ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและการตลาด 2 กล่าวว่า ความน่าสนใจของกองทุนเปิดเคแทม เวิลด์ บอนด์ ฟันด์ เนื่องจาก กองทุนหลักต่างประเทศได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของกองทุนในระดับ AAA จากสถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ สแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ส และได้รับ ระดับ 5 ดาว จากสถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือมอร์นิ่งสตาร์ และถือเป็นกองทุนที่มีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับสูงสุดจาก ลิปเปอร์

สำหรับผู้จัดการกองทุน คือ นาย Michael Hasenstab ยังได้รับรางวัลผู้จัดการกองทุน ตราสารหนี้จาก มอร์นิ่งสตาร์ ปี 2010 เนื่องจากกองทุนที่บริหารได้รับผลการดำเนินงานย้อนหลังเมื่อพิจารณาตามระดับความเสี่ยงอยู่ในระดับดีเทียบกับดัชนีหุ้นหลัก ตามระยะเวลาการลงทุนในแต่ละช่วง อีกทั้งตราสารหนี้ยังถือเป็นหลักทรัพย์ที่ทำให้ผู้ลงทุนได้รับอัตราผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ เนื่องจากมีระดับความเสี่ยงต่ำอีกด้วย

นอกจากนี้ ผู้จัดการกองทุนยังอาจพิจารณาลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีตัวแปรเป็นอัตราแลกเปลี่ยนเงิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนในสกุลเงินบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น