xs
xsm
sm
md
lg

ทิศทางประเทศไทย ภายใต้ใบเรือของ AEC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) เป็นการรวมตัวกันทางด้านเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วย 6 สมาชิกดั้งเดิม คือ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ และ 4 สมาชิกใหม่ คือ ลาว พม่า เวียดนาม และ กัมพูชา โดยมีเป้าหมายหลัก 4 ประการ ได้แก่

1.เป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน: มีการเคลื่อนย้ายเสรีใน 5 สาขา ได้แก่ สินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน และ แรงงานฝีมือ ระหว่างประเทศสมาชิกได้อย่างเสรีมากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสในการขยายการค้าและการบริการเพิ่มขึ้น 2.สร้างเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน: โดยมีการร่วมมือกันในด้านต่างๆ เช่น นโยบายทางภาษี (มีการลดภาษี ทำให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจลดลง) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น 3.การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค: พยายามลดช่องว่างของระดับการพัฒนาของสมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ เช่น การสนับสนุนการพัฒนา SMEs ในภูมิภาค 4.การเพิ่มอำนาจการต่อกับเศรษฐกิจโลก: โดยเน้นการปรับและประสานนโยบายเศรษฐกิจ สร้างเครือข่ายกับประเทศภายนอกกลุ่ม เพื่อสร้างความเข้มแข็งในภูมิภาคและรองรับการแข่งขันในตลาดโลกที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม AEC นี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งในแผนการรวมกลุ่มเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) เท่านั้น (สำหรับแผนการรวมตัวกันทางด้านสังคม วัฒนธรรม และด้านความมั่นคง ยังไม่มีการระบุที่ชัดเจน) ซึ่งการรวมตัวทางด้านเศรษฐกิจในครั้งนี้ ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายอย่างเสรี ซึ่งจะช่วยเพิ่มบทบาทและความน่าสนใจของกลุ่มอาเซียนในสายตาประชาคมโลก อีกทั้งยังเพิ่มอำนาจการต่อรองในเวทีเศรษฐกิจโลก ด้วยจำนวนประชากรประมาณเกือบ 600 ล้านคน หรือคิดเป็น 8.50% ของประชากรโลก และศักยภาพในการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต

การรวมตัวทางด้านเศรษฐกิจของ AEC นี้ ไม่เข้มงวดเหมือนกับการเข้าเป็นสมาชิกในสหภาพยุโรป (European Economic Community: EEC) โดยตามกรอบข้อตกลงของ AEC ไม่ได้มีการระบุให้ประเทศสมาชิกต้องใช้เงินสกุลเดียวกัน ประกอบกับประเทศใน AEC มีการบริหารจัดการแบบ Intra-government คือแต่ละประเทศจะมีอำนาจและอิสระในการกำหนดนโยบายของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินนโยบายการเงิน นโยบายการคลัง นโยบายการตั้งกำแพงภาษีกับประเทศนอกกลุ่ม AEC เป็นต้น ซึ่งแตกต่างจาก EU ที่มีความเป็น Supra-national authority โดยทุกประเทศต้องใช้นโยบายกลาง ตัดสินใจจากหน่วยงานที่มีอำนาจจากส่วนกลาง

 ผลผูกพันของ AEC Blueprint ที่มีต่อประเทศไทย
(รูปประกอบ1 )

จากกรอบเวลาด้านบน สิ่งที่ 6 ประเทศสมาชิกอาเซียนดั้งเดิมดำเนินการเสร็จแล้ว คือ การลดภาษีระหว่างกันให้เหลือ 0-5% ในขณะที่กลุ่มอาเซียนใหม่ 4 ประเทศ ถูกกำหนดให้ดำเนินการดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 ส่งผลให้ไทยมีการขยายตลาดส่งออกไปประเทศในกลุ่มอาเซียนในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเกณฑ์เฉลี่ยมากกว่า 5% แทนที่การส่งออกไปยังกลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจอ่อนแอ เช่น ประเทศในกลุ่มประเทศ G-3 โดยตั้งแต่ ม.ค. - ก.ค. 2554 มีสัดส่วนการส่งออกของไทยไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียนคิดเป็น 23% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด เพิ่มมากขึ้นจากปีก่อนๆ (ปี 2553 และ 2552 เท่ากับ 22.70%, 21.3% ตามลำดับ) ในขณะที่ตลาดส่งออกหลักได้แก่กลุ่ม G-3 ลดเหลือ 31% (2553 และ 2552 เท่ากับ 32%, 33.16% ตามลำดับ) ทำให้การส่งออกของไทยยังคงขยายตัวได้แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลง

อย่างไรก็ตาม การก้าวเข้ามาอยู่ภายใต้ใบเรือของ AEC นั้น ก่อให้เกิดทั้งในด้านโอกาสและความท้าทายต่อประเทศไทย ดังนั้น เพื่อที่จะทำให้สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จากการรวมกลุ่มเศรษฐกิจนี้ ภาคส่วนต่างๆ จึงต้องมีการปรับตัว ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐบาล ซึ่งเป็นแกนนำสำคัญในการออกนโยบายหรือมาตรการต่างๆ ในสร้างแรงจูงใจให้แก่นักลงทุนต่างประเทศเพื่อเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เช่น การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล การเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางด้านการลงทุนของต่างชาติจาก BOI ภาคผู้ประกอบการ เน้นการแสวงหาตลาดใหม่ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดหรือสร้างมูลค่าเพิ่มแทนการแข่งขันด้านราคาอย่างเดียว รวมถึง นักลงทุน ต้องปรับเปลี่ยนการลงทุนของตนเองไปยังตลาดหรืออุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จาก AEC

 ตัวอย่างอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจาก AEC ได้แก่

 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว:  จากการที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในธุรกิจการท่องเที่ยวอยู่แล้ว ทำให้ไทยมีโอกาสที่จะใช้จุดแข็งนี้เพื่อดึงดูด นักท่องเที่ยวให้เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวพักผ่อน การจัดงานแต่งงาน การดูแลรักษาสุขภาพ จากการยกเว้นวีซ่าสำหรับ การท่องเที่ยวระยะสั้น (short-term visit) ให้แก่นักท่องเที่ยว อีกทั้ง ค่าบริการยังอยู่ในอัตราไม่สูงมากเมื่อเทียบกับคู่แข่ง แต่สิ่งที่ต้องปรับตัว คือ การพัฒนาแรงงานในธุรกิจท่องเที่ยวให้มีความเชี่ยวชาญทางด้านภาษาอังกฤษให้มากขึ้น เพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับแรงงานจากประเทศอาเซียนอื่นๆ ที่มีความถนัดทางด้านภาษามากกว่า

อุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยแรงงานที่ฝีมือ: โดยเฉพาะแรงงานในกลุ่มวิชาชีพเฉพาะ เช่น แพทย์ พยาบาล วิศวกร นักกฎหมาย นักบัญชี สถาปนิก ที่มีโอกาสจะเคลื่อนย้ายตนเองเข้าไปสู่ประเทศที่มีผลตอบแทนสูงกว่าจากการที่จะมีการเปิดเสรีในการโยกย้ายแรงงาน โดยผู้ประกอบการในไทยที่ต้องการจะรักษาแรงงานฝีมือเหล่านั้นไว้ จะต้องเพิ่มค่าตอบแทนมากพอในการจูงใจ ซึ่งจะส่งผลกระทบจะทำให้ต้นทุนของภาคธุรกิจดังกล่าวสูงขึ้น

อุตสาหกรรมที่มีการนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศในกลุ่มอาเซียน: โดยในปัจจุบันสินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากประเทศในกลุ่มอาเซียนคือ สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เช่น สัตว์น้ำแช่แข็ง เยื่อกระดาษ เคมีภัณฑ์ เพชร พลอย ซึ่งได้รับประโยชน์จากการทำลายกำแพงภาษีระหว่างประเทศกลุ่มสมาชิก ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตถูกลง

อุตสาหกรรมบริการทางด้านโทรคมนาคม: ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจบริการที่ไทยต้องทำการขยายสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนอาเซียนเป็น 70% (จากปัจจุบันที่กำหนดให้ผู้ลงทุนต่างชาติสามารถถือหุ้นในบริษัทได้ไม่เกิน 49%) ซึ่งอาจทำให้ประเทศที่มีศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีสูงกว่า เช่น สิงคโปร์ เข้ามามีอำนาจในการจัดการในอุตสาหกรรมประเภทนี้ได้

กล่าวได้ว่า การรวมตัวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่จะเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบในปี 2558 นี้ จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ดังนั้น ภาครัฐบาล ผู้ประกอบการ และนักลงทุน จึงควรศึกษาผลกระทบและร่วมมือกันในการปรับตัวเพื่อรองรับการลงเรือที่ชื่อว่า ASEAN ไม่ว่าจะเป็นทางด้านนโยบาย การพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ พัฒนาทักษะความสามารถของบุคลากร เพื่อเก็บเกี่ยวและรองรับประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ กลุ่มจัดการกองทุน บลจ. บัวหลวง ในฐานะผู้จัดการกองทุนจะทำการเฟ้นหาหลักทรัพย์ที่คาดว่าจะได้รับผลประโยชน์จากการรวมตัวทางเศรษฐกิจนี้ เพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่ดีให้แก่นักลงทุน

ข้อมูลจาก บลจ. บัวหลวง
กำลังโหลดความคิดเห็น