xs
xsm
sm
md
lg

ป่าเกาะต่อรองหนี้กองทุนLUXF TMBAMชี้ข้อเสนอกระทบสิทธิผู้ถือหน่วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - บลจ. ทหารไทย เปิดแผนปรับโครงสร้างหนี้ ระหว่างกองทุน LUXF และ ป่าเกาะ ชี้ข้อเสนอ แตกต่างจากข้อตกลงเดิมและไม่เป็นไปตามหนังสือชี้ชวน ทั้งกระทบต่อสิทธิและประโยชน์ของผู้ถือหน่วยอย่างมีนัยสำคัญ เดินหน้ารวบรวมข้อมูล เรียกประชุมผู้ถือหน่วยหาข้อสรุป

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทหารไทย จำกัด ในฐานะผู้จัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ลักซ์ชัวรี่ (LUXF) ได้รายงานข้อสรุปของการไกล่เกลี่ย ณ ศาลแพ่ง กรุงเทพใต้ ระหว่างคู่กรณีคือ บริษัท โรงแรม ป่าเกาะ จำกัด กับกองทุนรวม โดยป่าเกาะตกลงจะส่งข้อเสนอการปรับโครงสร้างหนี้ มายังกองทุนรวมภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2554 เพื่อให้กองทุนรวมจัดประชุมผู้ถือหน่วยประมาณเดือนตุลาคม 2554 เพื่อพิจารณาข้อเสนอดังกล่าว ตามที่บริษัทจัดการได้เคยรายงานไปก่อนหน้านี้นั้น ล่าสุด บริษัทจัดการขอรายงานความคืบหน้าว่า เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2554 บริษัทจัดการได้รับหนังสือข้อเสนอดังกล่าวจากป่าเกาะแล้ว

โดยเนื้อหาของข้อเสนอการปรับโครงสร้างหนี้ตามหนังสือที่ป่าเกาะได้เสนอมา เปรียบเทียบกับเนื้อหาตามข้อตกลงตามสัญญาเดิมนั้น สรุปได้ดังนี้ ประเด็นแรก โครงสร้างสัญญาเดิม ป่าเกาะต้องจ่ายค่าเช่าชดเชยให้แก่กองทุนรวม เพื่อชดเชยรายได้ให้แก่กองทุนรวมเพื่อให้สามารถจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหน่วยได้ในอัตราไม่ต่ำกว่า ปีที่ 4 ร้อยละ 7.0 ต่อปีของมูลค่าโครงการ ปีที่ 5 ร้อยละ 7.0 ต่อปีของมูลค่าโครงการ ซึ่งในประเด็นนี้ ป่าเกาะได้ยื่นข้อเสนอมาว่า ป่าเกาะเสนอจ่ายเงินปันผลในปีที่ 4 และ ปีที่ 5 รวมกันทั้ง 2 ปีเท่ากับ 9% ของมูลค่าโครงการ ซึ่งในส่วนนี้จะจ่ายตามงวดที่กำหนดในสัญญาเดิม (หมายเหตุ: ป่าเกาะมิได้ระบุว่าในปีที่ 4 จะจ่ายเท่าไร และ ปีที่ 5 จะจ่ายเท่าไร) ในส่วนต่างอีก 5% ป่าเกาะจะขอชำระปีละ 2 ครั้งเป็นเวลา 5 ปี ในอัตราที่เท่ากัน

ประเด็นที่สอง ในโครงสร้างสัญญาเดิม ป่าเกาะต้องคงหลักประกันในบัญชีเงินสดหลักประกันไว้ที่ 150 ล้านบาทตลอดระยะเวลาที่เหลือของสัญญาเช่า โดยจะต้องเติมเงินสดเข้าบัญชีเงินสดหลักประกันดังกล่าว ให้เต็มมูลค่า 150 ล้านภายใน 30 วันหากบัญชีดังกล่าวถูกใช้ไปในการจ่ายเงินปันผล รวมทั้งชำระค่าเช่า ทั้งนี้ ปัจจุบันหลักประกันทั้งหมดของกองทุนรวมมี 4 ส่วน ส่วนแรก ยอดเงินสดในบัญชีเงินสดหลักประกันตามที่กล่าวแล้วข้างต้นปัจจุบันคงเหลือ 0.00 บาท เนื่องจากบริษัทจัดการได้ดำเนินการเบิกถอนเงินสดจากบัญชีหลักประกันดังกล่าวเข้าบัญชีกองทุนรวม ซึ่งปัจจุบันมียอดมูลค่าอยู่ประมาณ 34,075,732.19 บาทและป่าเกาะมิได้นำเงินมาเพิ่มเข้าบัญชีเงินสดหลักประกันตามสัญญา ส่วนที่สอง เงินที่ได้จากการบังคับจำนำโดยการขายทอดตลาด หน่วยลงทุนประมาณ 67,180,000.00 บาท (ก่อนหักค่าใช้จ่ายประมาณ 327,000.00 บาท) ส่วนที่สาม หน่วยลงทุนที่จำนำไว้คงเหลือ 14 ล้านหน่วย ( ราคาปิด ณ วันที่ 13 กันยายน 2554 ประมาณ 4.74 บาท ต่อหน่วย) และส่วนที่สี่ หน่วยลงทุนที่ได้รับการส่งมอบจากป่าเกาะ แต่ยังไม่มิได้มีการทำสัญญาจำนำ (ซึ่งกองทุนใช้สิทธิยึดหน่วงอยู่) จำนวน 9,281,500 หน่วย)

โดยในประเด็นนี้ ป่าเกาะเสนอเปลี่ยนโครงสร้างของหลักประกันโดย ข้อแรก ป่าเกาะยกเลิกการนำเงินสดเข้าบัญชีเงินสดหลักประกัน ข้อที่สอง ป่าเกาะจะนำส่งหน่วยลงทุนมาเพิ่มอีก ประมาณ 4 ล้านหน่วย และ จะทำสัญญาจำนำในจำนวนหน่วยลงทุน 4 ล้านหน่วยที่จะเพิ่มขึ้นใหม่นี้ และจะทำสัญญาจำนำในหน่วยลงทุนจำนวน 9,281,500 หน่วยที่กองทุนรวมใช้สิทธิยึดหน่วงอยู่ และข้อที่สาม หากป่าเกาะมีเงินสดไม่เพียงพอเพื่อจ่ายเงินแก่กองทุนรวม ตามข้อตกลงการปรับโครงสร้างหนี้ ป่าเกาะยินยอมให้กองทุนรวมนำหน่วยลงทุนที่จำนำไว้ให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนในราคา 5 บาทต่อหน่วยลงทุน

ประเด็นที่สาม โครงสร้างสัญญาเดิมระบุเอาไว้ว่า ในวันเริ่มต้นของโครงการ ป่าเกาะตกลงให้ เงินกู้ยืมแก่ อีเอชวาย เป็นจำนวน 30 ล้านบาทเพื่อใช้ในการดำเนินกิจการของโรงแรม ซิกส์เซ้นต์ ยาวน้อยรวมทั้งตกลงให้ความสนับสนุนทางการเงินเพิ่มเติมซึ่งรวมถึงวงเงินสำรองเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในช่วง Low Season ของโรงแรม ทั้งนี้ในสัญญากำหนดว่า อีเอชวาย จะต้องทยอยคืนเงินกู้ให้ 30 ล้านบาทข้างต้นแก่ป่าเกาะ โดยจะเริ่มคืนเมื่อได้รับการยินยอมจากกองทุนรวม หรือเมื่อกฎหมายอนุญาตให้กองทุนรวมจัดหาเงินมาทดแทนเงินกู้ยืม และกองทุนรวมใช้สิทธิเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ อีเอชวาย แล้ว กล่าวคือเมื่อกองทุนรวมเลือกที่จะเข้าไปซื้อกิจการ ของ อีเอชวาย ซึ่งจนถึงปัจจุบันเงื่อนไขทั้งสองยังไม่เกิด

โดยข้อเสนอของป่าเกาะ เสนอขอให้กองทุนรวมยอมรับภาระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยของวงเงิน 30 ล้าน ซึ่งปัจจุบันป่าเกาะได้ให้ อีเอชวาย กู้ยืมอยู่ และกองทุนรวมยังต้องยอมรับสภาพหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยของวงเงินเที่ป่าเกาะหรือบุคคลอื่นใด ให้ อีเอชวาย กู้ยืมเพิ่มเติม เพื่อให้อีเอชวายดำเนินธุรกิจได้ นอกจากนี้ ผลกำไรสุทธิทั้งหมดของโรงแรมในการประกอบการในปีที่ 4 และ ปีที่ 5 เป็นส่วนหนึ่งของการผ่อนชำระ และหากมีเงินเหลือให้คืนแก่ป่าเกาะ นอกจากนั้น หากกองทุนรวมได้รับอนุมัติจาก กลต. ให้ชำระคืนเงินกู้ได้ กองทุนจะดำเนินการกู้ยืมเงินเพื่อชดใช้หนี้ค้างชำระที่ อีเอชวาย มีต่อป่าเกาะ โดยป่าเกาะจะนำเงินดังกล่าวมาชำระคืนให้กับกองทุนรวมเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการปฎิบัติตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้

ประเด็นที่ 4 โครงสร้างสัญญาเดิม ป่าเกาะจะเป็นผู้รับผิดชอบในค่าใช้จ่ายกองทุนรวม รวมถึง Management Fee ที่บริษัทจัดการเรียกเก็บจากกองทุนรวม ซึ่งผลจากการชดเชยดังกล่าวของป่าเกาะจะทำให้กองทุนรวมมีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายของกองทุนเพียงพอที่จะจ่ายเงินปันผลได้ตามกำหนดการที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน ในประเด็นนี้ ป่าเกาะขอให้บริษัทจัดการงดค่า Management Fee ของกองทุนรวมในปีที่ 4 และ ปีที่ 5 ทั้งจำนวน

ประเด็นสุดท้าย โครงสร้างสัญญาเดิม ป่าเกาะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่นใดของกองทุนรวมเพื่อให้กองทุนรวมสามารถจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหน่วยได้ในอัตราที่เงินปันผลขั้นต่ำที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน ในขณะที่ป่าเกาะเสนอจะจ่ายค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายที่ปรึกษาทางการเงิน (ถ้ามี) คนละครึ่งกับ บริษัทจัดการ

ทั้งนี้ จากข้อเสนอของป่าเกาะในเบื้องต้น บริษัทจัดการจะดำเนินการขอเอกสารประกอบเพิ่มเติมจากป่าเกาะเพื่อจัดเตรียมเอกสารประกอบการประชุมผู้ถือหน่วย เพื่อจะดำเนินการจัดประชุมเพื่อขอมติจากผู้ถือหน่วยต่อไป อย่างไรก็ตาม บริษัทจัดการมีข้อสังเกตว่า ข้อเสนอของป่าเกาะที่บริษัทจัดการได้สรุปข้างต้นนั้นแตกต่างจากข้อตกลงเดิมและไม่เป็นไปตามหนังสือชี้ชวน รวมถึงเป็นการกระทบต่อสิทธิและประโยชน์ของผู้ถือหน่วยอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งบริษัทจัดการจะให้ความเห็นประกอบการพิจารณาในเอกสารประกอบการประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนที่บริษัทจัดการจะจัดส่งให้ผู้ถือหน่วยลงทุนต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น