xs
xsm
sm
md
lg

จับตาปัญหาหนี้สเปน-อิตาลี อาจเผชิญการถดถอยซ้ำซ้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - บลจ.ยูโอบี ระบุ สหรัฐฯ เตรียมเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ อดีตประธานเฟด ชี้ สหรัฐฯ จะไม่ถดถอยซ้ำซ้อน แต่ขึ้นอยู่กับ ยุโรปโดยเฉพาะหนี้สินของ อิตาลี ขณะที่ ตลาดเงินจีนอาจผันผวนหลัง สหรัฐฯ โดนหั่นเครดิต

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี จำกัด รายงานภาวะเศรษฐกิจว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ ฯ (FED) ประกาศจะคงอัตราดอกเบี้ยใกล้ 0% ต่อไปอีก 2 ปี และจะพิจารณามาตรการเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการดังกล่าวเป็นการบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ และโลกจะเข้าสู่ภาวะเติบโตอย่างเชื่องช้า (slow growth) ทั้งจากจำนวนผู้ว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูง และการชะลอตัวของทั้งภาคส่งออกและการผลิต อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังไม่ได้มีการกล่าวถึงมาตรผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบ 3 (QE3) ซึ่งผิดคาดจากที่หลายฝ่ายได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้

โดย สหรัฐฯ เผยตัวเลขความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ร่วงลงสู่ระดับ 46.9 ในกลางเดือน ส.ค. จากระดับ 55.4 ในเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 1 ปี

ด้านนายอลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เชื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะไม่ถดถอยซ้ำซ้อน (Double Dip Recession) และสหรัฐฯ มีสถานะที่ดีกว่าเศรษฐกิจยุโรป นายกรีนสแปนมองว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยซ้ำซ้อนนั้นขึ้นอยู่กับยุโรป ไม่ใช่สหรัฐฯ โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้นปรับตัวค่อนข้างดี ถึงแม้ว่าจะเชื่องช้า แต่ก็ก้าวไปข้างหน้า โดยนายกรีนสแปนได้แสดงความกังวลถึงวิกฤตหนี้สินในอิตาลี ซึ่งถือว่ามีผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจทั้งในยุโรป และสหรัฐฯ โดยนายกรีนสแปนยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่พันธบัตรสหรัฐฯ ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือนั้นไม่ใช่ปัญหา เพราะสหรัฐฯสามารถจ่ายหนี้ใดๆ ก็ตามได้โดยใช้วิธีพิมพ์เงินใหม่เพื่อนำมาชำระหนี้ ดังนั้น ความเป็นไปได้ในการผิดชำระหนี้จึงอยู่ที่ 0%

ทั้งนี้ธนาคารกลางของยุโรป (ECB) ได้ทำการเข้าซื้อพันธบัตรอิตาลีและสเปนในตลาดรองเป็นจำนวนมาก และประธาน ECB ก็ได้ประกาศว่าจะมีการเข้าซื้อต่อไปการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลของอีซีบีได้ทำให้ตลาดคลายความกังวลลง หลังจากผลตอบแทนของทั้งสองประเทศทดสอบระดับที่ไม่ยั่งยืน ท่ามกลางสภาวะตลาดที่ผันผวนมากที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตสินเชื่อในปี 2008
ล่าสุดผลสำรวจความเห็นของผู้จัดการกองทุนของรอยเตอร์โพลล์พบว่า อีซีบีจะต้องซื้อพันธบัตรรัฐบาลของสเปนและอิตาลีเป็นมูลค่าอย่างน้อย 100,000 ล้านยูโร เพื่อพยุงเศรษฐกิจยูโรโซน และถึงครึ่งหนึ่งของโพลล์ไม่เชื่อว่า ผู้กำหนดนโยบายจะสามารถป้องกันตลาดจากความเสียหายได้ 2.S&P ประกาศคงอันดับความน่าเชื่อถือของฝรั่งเศสที่ระดับ AAA และแนวโน้ม "มีเสถียรภาพ"

อย่างไรก็ตาม มีการวิเคราะห์ว่า มีความเสี่ยงที่ฝรั่งเศสจะสามารถคงอันดับความน่าเชื่อ
ถือที่ระดับ AAA เนื่องมาจากสัญญาสว็อปความเสี่ยงผิดชำระหนี้ (Credit Default Swap or CDS) ของรัฐบาลฝรั่งเศสพุ่งขึ้น 0.155% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในประวัติการณ์

ขณะที่ผลสำรวจชี้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนในยูโรโซนลดลงสู่ระดับ -13.5 ในเดือน ส.ค. จาก 5.3 ในเดือน ก.ค. ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ -1.0 ประเด็นสำคัญที่ทำให้นักลงทุนในยุโรปมีความกังวล คือ ปัญหาหนี้สินสาธารณะ การไร้อำนาจและประสิทธิภาพของผู้กำหนดนโยบาย และความขัดแย้งในสหรัฐฯ รวมถึงการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ และความปั่นป่วนในตลาดการเงิน ซึ่งเพิ่มความกังวลถึงสภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ด้านประเทศจีน บริษัทเรตติ้งของจีนชี้ตลาดการเงินอาจเผชิญผันผวนในระยะยาว หลังจาก S&P ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ลง ประเทศจีนถือเป็นประเทศที่ถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มากที่สุดเป็นอันดับ 1 โดยถือรวมเป็นมูลค่าราว 1.16 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันจีนกำลังเผชิญกับปัญหาความเสี่ยงที่พันธบัตรอาจจะมีมูลค่าลดลงจากการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บริษัท ต้ากง โกลบอล เครดิต เรตติ้ง ได้มีการประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ลงสู่ระดับ A โดยมีแนวโน้มเชิงลบในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะเดียวกัน จีนเผยการส่งออกของจีนเพิ่มขึ้น 20.4% ในเดือน ก.ค. และเพิ่มขึ้น 17.9% ในเดือน มิ.ย. ส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้น 22.9% ในเดือน ก.ค. จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งส่งผลให้จีนมียอดเกินดุลการค้า 3.15 หมื่นล้านดอลล่าร์
กำลังโหลดความคิดเห็น