เอเอฟพี - พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯยังเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยที่สุด สำหรับนักลงทุนผู้ไม่นิยมเสี่ยงกับความผันผวนของตลาด แม้สหรัฐฯเพิ่งถูกบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (เอสแอนด์พี) ลดเรตติ้งลงก็ตาม นักวิเคราะห์ชี้
การลดเรตติ้งสหรัฐฯจากระดับสูงสุด AAA เหลือเพียง AA+ เมื่อกว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบน้อยมากต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อตราสารหนี้รัฐบาลอเมริกัน ซึ่งยังเป็นสินทรัพย์ที่น่าเชื่อถือที่สุดพอๆ กับทองคำ, เงินฟรังก์สวิส และ เงินเยนญี่ปุ่น
แม้อาจจะฟังดูขัดแย้ง แต่ด้วยกระแสความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะซบเซา ทำให้นักลงทุนหันไปทุ่มซื้อพันธบัตรสหรัฐฯที่ยังมีแรงดึงดูดสูง เนื่องจากสถานะอันมั่นคงของดอลลาร์ที่ยังเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ
วันจันทร์ (8) ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันแรกของการซื้อขายหลังสหรัฐฯถูกลดเรตติ้ง ราคาพันธบัตรออกใหม่ของสหรัฐฯพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ด้วยแรงทุ่มซื้อจากนักลงทุน ขณะที่ผลตอบแทนลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนที่สหรัฐฯจะถูกลดเครดิต
อัตราผลตอบแทนสำหรับพันธบัตรสหรัฐฯอายุ 10 ปี ที่ซื้อขายกันในตลาดรอง (secondary market) ลดเหลือ 2.09 เปอร์เซ็นต์ เมื่อวันพุธ (10) ซึ่งเป็นเรตต่ำที่สุดตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2008 และน้อยกว่า 2.56 เปอร์เซ็นต์เมื่อวันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม ก่อนที่ เอสแอนด์พี จะประกาศลดระดับความน่าเชื่อถือในวันเดียวกัน
“การลดเรตติ้งจะยังไม่มีผลต่อความน่าเชื่อถือของพันธบัตรสหรัฐฯในขณะนี้” นักวิเคราะห์ตลาดจากศูนย์วิจัย บรีฟิง รีเสิร์ช ระบุ
“พันธบัตรสหรัฐฯยังคงความน่าเชื่อถือสูงสุดไม่ต่างจากทองคำ ดังนั้น แม้วิกฤตหนี้สินของสหรัฐฯจะรุนแรงจนเกือบผิดนัดชำระหนี้ แต่นักลงทุนก็ยังเลือกถือครองพันธบัตรสหรัฐฯเพื่อเลี่ยงความเสี่ยง” ทีมนักวิเคราะห์ เผย
ความผันผวนของตลาดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ยิ่งทำให้พันธบัตรสหรัฐฯมีแรงดึงดูดเพิ่มขึ้น
“ตลาดพันธบัตรสหรัฐฯยังเป็นตลาดที่ใหญ่และมีสภาพคล่องสูงสุดในโลกอย่างไม่มีใครเทียบได้ และเป็นช่องทางการลงทุนที่ปลอดภัยที่สุดเมื่อเศรษฐกิจโลกมีปัญหา ดังที่เห็นกันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว” ไนเจล โกลต์ จากศูนย์พยากรณ์การตลาด ไอเอชเอส โกลบอล อินไซต์ ระบุ
ปัจจุบันมีสินทรัพย์อื่นๆเพียงไม่กี่ประเภทที่มีสถานะมั่นคงพอๆ กับดอลลาร์ เช่น ทองคำ ซึ่งราคาพุ่งทำสถิติ 1,800 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ในสัปดาห์นี้ ขณะที่สกุลเงินหลักอย่าง ฟรังก์สวิส และเยนญี่ปุ่น ก็ปรับตัวแข็งค่าขึ้นตามๆ กัน
นักวิเคราะห์ชี้ด้วยว่า จีนซึ่งเป็นเจ้าหนี้เบอร์หนึ่งของสหรัฐฯก็คงไม่มีตัวเลือกอื่นที่ดีกว่า เนื่องจากปริมาณทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูงกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จึงยากที่กรุงปักกิ่งจะหาสินทรัพย์ประเภทอื่นมารองรับเม็ดเงินมหาศาลนี้ได้
นอกจากนี้ การที่จีนถือพันธบัตรอเมริกาไว้ราว 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ไม่สามารถเทขายโดยไม่ให้กระทบต่อมูลค่าของพันธบัตรที่คงเหลืออยู่
“เป็นเรื่องยากที่จะลดการถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ เพราะด้วยทุนสำรองมหาศาลขนาดนั้น ถ้าคุณไม่ลงทุนกับตราสารหนี้สหรัฐฯ ก็ยากจะที่ไปลงทุนกับสินทรัพย์ประเภทอื่นได้” หลิว ฮองเก นักเศรษฐศาสตร์จาก ซีซีบี อินเตอร์เนชันแนล ซิเคียวริตีส์ กล่าว
“แม้จะถูกลดเรตติ้ง แต่ฐานะทางการคลังของสหรัฐฯก็ยังปลอดภัยกว่ายุโรป” หลิว เสริม
ด้าน นิโคลัส โคลัส จาก คอนเวิร์จเอ็กซ์ ก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่า “นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่มีทางเลือกอื่นที่เสี่ยงน้อยกว่า และมีสภาพคล่องสูงเท่าพันธบัตรสหรัฐฯ”
“หากคุณจำเป็นต้องฝากเงินก้อนโตไว้ที่ใดสักแห่ง พันธบัตรรัฐบาลอเมริกันยังเป็นโกดังแห่งเดียวที่ใหญ่พอจะรับฝากเงินสดมหาศาลของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน หรือประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ๆ ได้”