xs
xsm
sm
md
lg

ยูโอบีขาย2กองบอนด์ต่อเนื่อง ระบุปัญหา"กรีซ"ยังกดดันยุโรป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - บลจ. ยูโอบี เปิดขาย 2 กองทุน ตราสารหนี้ระยะสั้น เอฟไอเอฟพลัส 6/8 และ กองทุนเปิด ยูโอบี 6 เดือน คุ้มครองเงินต้น IPO 21 - 28 มิ.ย 2554 ชี้ ยูโรโซนยังวุ่น จากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือกรีซรอบ 2

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บลจ. ยูโอบี จำกัด เปิดขายกองทุนตราสารหนี้ 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิด ยูโอบี เอฟไอเอฟพลัส 6/8 (UOBFIPP 6/8) และ กองทุนเปิด ยูโอบี 6 เดือน คุ้มครองเงินต้น โดยเปิดขายครั้งแรก (IPO) และครั้งเดียว ตั้งแต่วันที่ 21 - 28 มิถุนายน 2554 กองทุนมีอายุโครงการประมาณ 6 เดือนมูลค่าโครงการ 1000 ล้านบาท กองทุนมีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (Investment Grade) ตัวอย่างเช่น พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วแลกเงินของธนาคารพาณิชย์ เงินฝากในธนาคารพาณิชย์ และตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทเอกชนทั่วไป ประมาณการผลตอบแทนที่จะได้รับหลังหักค่าใช้จ่ายของกองทุนอยู่ที่ประมาณ 3.15%

ขณะที่ กองทุนเปิด ยูโอบี 6 เดือน คุ้มครองเงินต้น ลงทุนในตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยและเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ อายุโครงการประมาณ 6 เดือน มูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท ประมาณการผลตอบแทนที่จะได้รับหลังหักค่าใช้จ่ายของกองทุนอยู่ที่ประมาณ 2.90 %

ทั้งนี้ บลจ.ยูโอบี รายงานภาวะเศรษฐกิจของยุโรปว่า จากปัญหาวิกฤตหนี้สินของกรีซ ทางฟิทช์ เรตติ้ง เชื่อว่าธนาคารเยอรมนีและธนาคารฝรั่งเศสสามารถจัดการความเสี่ยงจากหนี้ของกรีซได้ ซึ่งในปัจจุบันนี้สัดส่วนหนี้สินของกรีซที่มีอยู่ในงบดุลบัญชีของธนาคารข้ามชาติรายใหญ่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งฟิทช์เองก็ไม่วิตกในขณะนี้ ถึงแม้ว่ากรีซจะผิดนัดชำระหนี้ หรือหากมีการปรับโครงสร้างหนี้ ธนาคารเยอรมันและธนาคารฝรั่งเศสรายใหญ่ก็จะไม่เผชิญปัญหาที่รุนแรง นอกจากนี้ ฟิทช์ยังไม่วิตกเกี่ยวกับความเสี่ยงของธนาคารยุโรปรายใหญ่จากหนี้สินของไอร์แลนด์หรือโปรตุเกส ซึ่งเป็นอีก 2 ประเทศที่เกิดภาวะตึงเครียดมากที่สุดในกลุ่มประเทศยูโรโซนรายย่อย อย่างไรก็ตาม ฟิทช์ได้กล่าวว่า หากเจ้าหน้าที่ยุโรปไม่สามารถมีข้อสรุปเกี่ยวกับแผนความช่วยเหลือกรีซครั้งใหม่ได้ ตลาดทุนจะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก

ขณะที่Moody's ได้มีการทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือ โดยมีแนวโน้มที่จะปรับลดเครดิตธนาคารชั้นนำ 3 แห่งของฝรั่งเศส ได้แก่ บีเอ็นพี พาริบาส์, โซซิเอเต้ เจเนอราล (SocGen) และเครดิตอะกริโคล (CASA) โดยการดำเนินการในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความวิตกของมูดี้ส์เกี่ยวกับสัดส่วนการลงทุนของธนาคารทั้ง 3 แห่งในกรีซ ทั้งผ่านการถือครองพันธบัตรรัฐบาลโดยตรง การปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคเอกชน หรือผ่านสาขาของธนาคารในกรีซ

นอกจากนี้ หลังรัฐมนตรียูโรโซนไม่สามารถบรรลุข้อตกลงมาตรการช่วยเหลือกรีซได้นั้น ก่อให้เกิดความขัดแย้งภายในกลุ่มประเทศยูโร และทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของกรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส พุ่งขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่มีการใช้เงินสกุลยูโรในปี 1999 ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือกรีซรอบ 2 และเงินสมทบที่รัฐบาลต่างๆ อาจต้องการจากภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม อียูต้องประนีประนอมกันให้ได้ก่อนการประชุมสุดยอดอียูที่จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 23-24 มิ.ย.นี้

ด้านเศรษฐกิจสหรัฐฯ นาย เบน เบอร์นันเก้ และประธานาธิบดี บารัค โอบามา ได้กล่าวเตือนสหรัฐฯ ต้องรีบปรับเพิ่มเพดานหนี้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเสียหายต่อความเชื่อมั่นในสหรัฐฯ โดยความล้มเหลวในการปรับเพิ่มเพดานหนี้จากระดับ 14.3 ล้านล้านดอลล่าร์ในปัจจุบันของรัฐบาลสหรัฐฯ นั้น จะสร้างความเสียหายเป็นอย่างมากต่อความเชื่อมั่นในสหรัฐฯ และอาจทำให้สหรัฐฯ สูญเสียอันดับความน่าเชื่อถือระดับ AAA รวมถึงสถานะพิเศษของดอลล่าร์ในการเป็นเงินสกุลเงินสำรองไป โดยก่อนหน้านี้สภาคองเกรสได้มีการเจรจาต่อรองถึง 6 ครั้งในการพยายามบรรลุข้อตกลงงบประมาณใช้จ่ายเพื่อให้มีการปรับเพดานหนี้ ซึ่งจะครบกำหนดชำระในวันที่ 2 ส.ค. นี้ ซึ่งถือว่าสหรัฐฯ มีโอกาสที่จะเริ่มต้นผิดชำระหนี้ได้

โดยล่าสุดทั้งสองพรรคกำลังหาข้อตกลงในการปรับลดยอดขาดดุลงบประมาณรายปี ซึ่งพรรครีพับลิกันต้องการตรึงงบใช้จ่ายไว้ต่ำกว่าระดับที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา วางไว้กว่า 1 ล้านล้านดอลล่าร์ในเวลา 10 ปี ซึ่งหากทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุการปรับลดยอดขาดดุลงบประมาณได้สำเร็จก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้สภาคองเกรสสามารถปรับเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ ขึ้นได้ก่อนวันที่ 2 ส.ค.

ขณะที่กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือน พ.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือน เม.ย. และเกินตัวเลขคาดการณ์ที่ 0.2% โดยเพิ่มมากขึ้นที่สุดในรอบเกือบ 3 ปี โดยองค์ประกอบสำคัญของการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในเดือน พ.ค. มาจากการพุ่งขึ้นของราคารถยนต์และเครื่องแต่งกาย ประกอบกับตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่บ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ทั้งจากตัวเลขของปริมาณผู้ว่างงานที่เพิ่มขึ้น และตัวเลขยอดค้าปลีกและภาคการผลิตที่ชะลอตัวลง ถึงแม้ว่านักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะไม่กลับเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอเหล่านี้ได้เพิ่มความกังวลให้แก่นักลงทุนต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น