xs
xsm
sm
md
lg

ชี้เงินทุนสำรองของไทยล้นทะลัก "ณรงค์ชัย"แนะตั้งกองทุนความมั่งคั่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กูรู ชี้ เงินทุนสำรองประเทศไทยสูง กว่า 2 แสนล้านเหรียญ ขณะที่การออมสูงถึง 30% แนะ แบ่งมา 2 ใน 3 เพื่อตั้งเป็น "กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ" เพื่อประโยชน์ในอนาคต

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันสภาพคล่องกำลังล้นโลก ประเทศไหนที่มีความสามารถก็สามารถที่จะนำเงินที่มีอยู่ไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับตัวเองได้ เช่น เกาหลีใต้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นต้น สำหรับประเทศไทยเอง ปัจจุบันสภาพคล่องก็ล้นระบบ เห็นได้จากการเกิดดุลการค้าเป็นจำนวนมากและอัตราดอกเบี้ยในระบบสถาบันการเงินสำหรับดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไปที่ยังคงต่ำติดดินในปัจจุบัน แต่ประเทศไทยกลับไม่มีปัญญาที่จะนำเงินที่มีอยู่นี้ไปลงทุนให้เกิดประโยชน์กับประเทศได้จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการลงทุนเฉลี่ยไม่ถึง 22% ในช่วง 4 - 5 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่มีสัดส่วนของเงินออมมากกว่า 30% ในปี2553 ที่ผ่านมา บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นมีกำไรประมาณ 600,000 ล้านบาท บริษัทต่างชาติที่มาทำธุรกิจในประเทศไทยส่งเงินกลับไปต่างประเทศของตัวเองประมาณ 400,000 - 500,000 ล้านบาท จะเห์นว่ามีเงินอยู่ในระบบเป็นจำนวนมาก

"สิ่งที่ประเทศไทยต้องทำในตอนนี้คือการลงทุนเพื่ออนาคตของตัวเอง ต้องลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ โดยเฉพาะระบบขนส่งสาธารณธของไทยถือว่ายังแย่มาก ต้นทุนค่าเดินทางของประชาชนทั่วไปสูงมาก เหล่านี้คือสิ่งที่ประเทศไทยต้องเร่งลงทุน ประเทศไทยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศรวมทั้งที่ซื้อล่วงหน้าไว้มากกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่มีหนี้ไม่ถึง 50% และมีหนี้ระยะสั้นน้อยมาก ดังนั้นประเทศไทยในภาพรวมมีเงินอยู่มากเกินและควรที่จะต้องนำมาลงทุนให้เกิดประโยชน์กับประเทศ"นายณรค์ชัยกล่าว

เขายังกล่าวอีกว่า เงินสำรองของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีอยู่มากกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ควรจะแบ่งมาประมาณ 2 ใน 3 เพื่อตั้งเป็น "กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ" เพื่อนำเงินที่มีอยู่นี้ออกไปลงทุน เพราะไม่เช่นนั้นเงินสำรองที่มีอยู่เป็นจำนวนมากเกินไปก็จะทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่ขะแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาควรจะเร่งสานต่อกฎหมายความร่วมมือภาครัฐและเอกชน (PPP) เพื่อให้สามารถจัดตั้งกองทุนสาธารณูปโภคต่อไปได้ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่เร่งด่วนที่สุด

"ปัจจุบันบลจ.เอ็มเอฟซีก็พยายามจัดตั้งกองทุนในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำเงินออมที่มีอยู่ไปลงทุนให้เกิดประโยชน์กับประเทศ เช่น การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภคที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ" นายณรค์ชัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น