xs
xsm
sm
md
lg

ThaiBMAหนุนตราสาร"ศุคุก"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยหนุนก.ล.ต. ออก ตราสาร "ศุคุก" เพิ่มช่องทางลงทุน ทั้งนักลงทุนทั่วไปและนักลงทุนชาวมุสลิม

นายกษิดิศ ทองปลิว ฝ่ายบริการราคาตราสารหนี้และพัฒนาผลิตภัณฑ์ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย หรือ Thai BMA เปิดเผยว่า ในปีนี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ได้เห็นชอบให้มีการออกตราสารประเภทใหม่ ซึ่งเป็นตราสารอิสลาม หรือตราสารศุกูก โดยมีลักษณะคล้ายกับตราสารหนี้ แต่ถูกพัฒนาขึ้นมาตามหลักชะรีอะฮ์ หรือหลักกฎหมาย และจริยธรรมอิสลามที่เป็นพื้นฐานของระบบการเงินอิสลาม

โดยข้อแตกต่างที่สำคัญข้อหนึ่งของระบบการเงินอิสลามเมื่อเปรียบเทียบกับระบบการเงินทั่วไป คือห้ามจ่ายหรือเก็บดอกเบี้ยด้วยเหตุนี้ทำให้ลักษณะของสัญญาและธุรกรรมทุกชนิดจะต้องไม่มีส่วนเกิน ดังนั้นในการทำสัญญาและธุรกรรมใด ๆ คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องไม่มีรายได้ ผลตอบแทน หรือผลประโยชน์อื่นใดที่เพิ่มขึ้นเพียงเพราะเวลาผ่านไประยะหนึ่งเท่านั้น ผู้ที่ให้กู้หรือเจ้าหน้าที่ต้องการทำธุรกรรมกับชาวมุสลิมจะไม่สามารถรับผลตอบแทนซึ่งอยู่ในรูปของดอกเบี้ยเงินกู้ได้ แต่จะต้องกำหนดโดยใช้เงื่อนไขอื่นๆ แทน เช่น กำหนดอัตราผลตอบแทนในรูปส่วนแบ่งผลกำไร ซึ่งจากกิจการของลูกหนี้ที่นำกู้เงินไปลงทุน หรือ ในกรณีที่ลูกหนี้ตั้งใจกู้เงินเพื่อนำไปซื้อทรัพย์สิน เจ้าหนี้ก็อาจใช้วิธีซื้อทรัพย์สินนั้นมาไว้ก่อนแล้วนำทรัพย์สินนั้นไปขายต่อหรือคิดค่าเช่ากับลูกหนี้ในราคาที่รวมผลตอบแทนไว้แล้ว

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ในระบบการเงินอิสลามจึงมีลักษณะที่ทั้งสองฝ่ายมีส่วนได้ส่วนเสียหรือมีผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการร่วมกันแบ่งความเสี่ยง หรือการร่วมลงทุน ซึ่งมักจะส่งผลให้ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้มีความคิดเห็นในการนำเงินก้อนดังกล่าวไปลงทุนหรือบริหารจัดการในทิศทางเดียวกันมากกว่าเจ้าหนี้และลูกหนี้ ในระบบการเงินปกติด้วย

โดยโครงสร้างการกู้ยืมเงินแบบที่ทั้งสองฝ่ายมีผลประโยชน์ร่วมกันยังสามารถช่วยลดความเสี่ยงที่เงินกู้จะกลายเป็นหนี้เสียอีกทางหนึ่งด้วย เพราะการจ่ายคืน มีความยืดหยุ่นตามกระแสเงินสดของลูกหนี้มากกว่าเงินกู้ปกติด้วยพื้นฐานของระบบการเงินอิสลาม ทำให้ตราสารศุกูกมีความแตกต่างจากตราสารหนี้ทั่วไปในเรื่องผลตอบแทน ที่ไม่ได้อยู่ในรูปของคูปองหรือดอกเบี้ย แต่จะอยู่ในรูปของส่วนแบ่งผลกำไรของกิจการที่ผู้ออกตราสาร และผู้ลงทุนตราสารมีผลประโยชน์หรือลงทุนร่วมกัน ซึ่งทำให้การระดมทุนผ่านตราสารศุกูกจำเป็นที่จะต้องมีธุรกรรมอ้างอิงหรือรองรับด้วยเช่น สัญญาให้เช่าสินทรัพย์ รวมถึงสัญญาร่วมลงทุน และสัญญาว่าจ้างทำของ เป็นต้น

นายกษิดิศ กล่าวต่อว่า การอนุญาตให้ออกตราสารศุกูกนอกจากจะเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ระดมทุนสามารถระดมทุนได้มากขึ้นแล้ว ยังเป็นการเพิ่มช่องทางในการลงทุนให้กับทั้งนักลงทุนทั่วไปและนักลงทุนชาวมุสลิม ซึ่งมีความพร้อมที่จะลงทุนอยู่แล้ว แต่ไม่สามารถลงทุนในตราสารหนี้ปกติได้
กำลังโหลดความคิดเห็น